แสงสุดท้ายของวันฉาบฉายผืนฟ้าครามแปรเปลี่ยนเป็นสีทองอยู่ด้านหลังองค์พญานาค 7 เศียร สถาปัตยกรรมวิจิตรเด่นเป็นสง่าบนลานกว้างที่เรียกว่า “ลานวัฒนธรรมเบิ่งเวียง" ขณะที่ผู้คนใน “ศรีเชียงใหม่” จับจ่ายเวลายามเย็นไปกับการออกกำลังกาย เดินทอดน่องชมทัศนียภาพของสายน้ำ บ้างออกมาซื้อหาอาหารการกินบริเวณแผงค้าที่ลานริมแม่น้ำ เป็นเสน่ห์กลมกล่อมของเมืองริมแม่น้ำโขงที่ขับเคลื่อนไปโดยไม่มีวันหยุด
เมืองประวัติศาสตร์สำคัญของหนองคาย
“ศรีเชียงใหม่” ชื่ออำเภอในจังหวัดหนองคาย มีประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเวียงจันทน์ เดิมชื่อเมือง “พานพร้าว” สร้างเมืองมาพร้อมๆ กับการตั้งเมืองเวียงจันทน์ในสมัยทวารวดีตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16 และยังเป็นชื่อเมืองโบราณที่ปรากฏอยู่ในในพงศาวดารลาว (มหาสีลา วีระวงศ์) อีกด้วย
ในอดีตบริเวณนี้เป็นเมืองโบราณ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีสายน้ำโขงกั้นกลางแบ่งเป็นสองฝั่งลักษณะเป็นเมืองอกแตก อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณสองฟากแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งเวียงจันทน์และเมืองพานพร้าวในยุคแรก จึงล้วนมีวัฒนธรรมประเพณีแบบเดียวกัน
ในสมัย “พระเจ้าโพธิสาลราช” ผู้ครองนครเชียงทองล้านช้าง (พ.ศ.2053-2093) ทรงมีนโยบายพัฒนาเวียงจันทน์เป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครอง เพื่อทดแทนนครเชียงทองซึ่งตั้งอยู่ในยุทธภูมิทุรกันดาร และใกล้กับข้าศึกอย่างเมียนมา ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับราชอาณาจักรล้านนา และกลายมาเป็นตำนานของเมืองศรีเชียงใหม่
ต่อมา “พระไชยเชษฐาธิราช” เสด็จจากล้านนา มาครองราชย์ ณ เมืองเวียงจันทน์ จึงมีไพร่พลราษฎรติดตามมาจากเชียงใหม่ด้วย พระองค์พระราชทานที่ดินฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ให้ตั้งเมือง ไพร่พลส่วนมากที่มาตั้งถิ่นฐาน ก็เป็นคนที่เดินทางมาจากเชียงใหม่นั่นเอง
ศรีเชียงใหม่ในวันนี้
ข้อมูลจาก อบต.พานพร้าว ระบุว่า เมืองพานพร้าวในสมัยปฏิรูปการปกครอง เป็นหัวเมืองในมณฑลลาวพวน ใน พ.ศ.2436 ภายหลังขึ้นกับเมืองหนองคาย ต่อมาแบ่งเขตการปกครองป็นอำเภอ และจังหวัด เมืองพานพร้าวเป็นที่ตั้งของอำเภอท่าบ่อ
ต่อมาอำเภอท่าบ่อย้ายมาตั้งอยู่ที่บ้านท่าบ่อ (อำเภอท่าบ่อในปัจจุบัน) จึงตั้งตำบลพานพร้าว เป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ สถานที่ราชการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่บ้านศรีเชียงใหม่จึงได้ชื่อว่า “อำเภอศรีเชียงใหม่” ในปี พ.ศ. 2500 และถือว่าเป็นอำเภอที่ใกล้ชิดกับเมืองเวียงจันทน์มากที่สุดนับตั้งแต่อดีตจนมาถึงวันนี้
วันเดย์ทริป รถรางเที่ยวศรีเชียงใหม่
การท่องเที่ยวเมืองศรีเชียงใหม่ ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่มีรถส่วนตัว เพราะเมืองริมแม่น้ำโขง มีผังเมืองไม่ซับซ้อน แหล่งเที่ยวไฮไลต์ส่วนมากอยู่ในพื้นที่เส้นทางเดียวกัน จะแวะพักค้างคืนสัมผัสวิถีริมโขง ก็มีที่พักชาวท้องถิ่นราคาย่อมเยาให้บริการ หรือเลือกเที่ยวแบบเดย์ทริปก็ครอบคลุมสถานที่สำคัญได้ครบ
หนึ่งในทางเลือกการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเดินทางไปเป็นหมู่คณะ แนะนำ “รถรางท่องเที่ยวเทศบาลตำบลศรีเชียงใหม่” ซึ่งติดต่อได้ล่วงหน้า จะนำผู้มาเยือนไปสัมผัสเมืองประวัติศาสตร์สำคัญของหนองคายได้ครบทุกจุดที่สำคัญ ได้แก่
ลานพญานาค (ลานวัฒนธรรมเบิ่งเวียง)
แลนด์มาร์กสุดวิจิตรริมแม่น้ำโขงที่อำเภอศรีเชียงใหม่ คือ องค์พญานาค 7 เศียรสีทองอร่ามเรืองหันหน้าเข้าหาแม่น้ำโขง มีชื่อว่า “พญาศรีสุวรรณหงส์สัตตนาคราช” ตั้งอยู่ที่ “ลานวัฒนธรรมเบิ่งเวียง” ลานกว้างริมน้ำซึ่งเป็นจุดที่ชมทิวทัศน์ของเมืองเวียงจันทน์ได้ในยามค่ำคืน และเป็นลานในการทำกิจกรรมรำบวงสรวงพญานาคของทุกปี ตลอดจนกิจกรรมที่สำคัญเช่นงานเบิ่งเวียงเคียงโขงสืบสานตำนานเมืองพานพร้าว งานเดินวิ่ง ก็จะใช้เป็นจุดสตาร์ท และใช้ในกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวท้องถิ่น
วัดพระแก้ว (เดิม)
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่หน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขงกองทัพเรือ เขตหนองคาย (นรข.) ซึ่งมีประวัติความเป็นมาครั้งเมื่อพระเจ้าพระไชยเชษฐาธิราช ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ ๑) เป็นจอมทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระแก้วแห่งนี้ ก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐานยังกรุงธนบุรี และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วในปัจจุบัน
วัดพระแก้วเดิม มีเพียงศาลาขนาดเล็กที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ประธานปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิ เป็นศิลปะสุโขทัยวัดตะกวน แสดงถึงศิลปะทางเหนือ อายุไม่น้อยกว่า 200 ปี บริเวณใกล้เคียงกันห่างไปราว 50 เมตร มีฐานพระสถูป เป็นที่ประดิษฐานชั่วคราวของพระแก้วมรกต
บ้านร้อยปี
บ้านเก่าริมแม่น้ำโขง อาคารที่บ่งบอกถึงการค้าขายระหว่างไทย-ลาว ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน ในยุคที่เมืองเวียงจันทน์เจริญรุ่งเรือง ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีของเก่าสะสมจัดแสดง และอาคารโครงสร้างเดิมของบ้านเก่ายุคก่อนให้ศึกษา
วัดในตัวเมือง
นอกจากนี้ รถรางยังนำเที่ยวชมวัดสำคัญในตัวเมืองศรีเชียงใหม่ เช่น “วัดกลางเจ้าแม่สองนาง” เจดีย์ที่มีอัตลักษณ์ล้านนาที่บ่งบอกถึง คนล้านนา ได้เคลื่อนอพยพและได้นำเอาขนบธรรมเนียมประเพณี ล้านนา ผสมผสานกับล้านช้าง และมีจุดกำเนิด ของอารยธรรมต่างๆในเขตภาคอีสาน และ “วัดช้างเผือก” ที่เล่าถึงการย้ายเมืองหลวงจากเมืองเชียงทองหรือหลวงพระบาง มาสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ เพื่อให้ไกลจากอิทธิพลของเมียนมา โดยการนำเอาพระพุทธรูปสำคัญ ได้แก่พระแก้วมรกต พระบาง พระแทรกคำ ตลอดจนแก้วแหวนเงินทองช้างเผือกและธิดาของกษัตริย์ ล้านนา มาร่วมกันก่อสร้าง เมืองหลวงแห่งใหม่ คือ กำแพงนครหลวงเวียงจันทน์ ในอดีตเมื่อ 500 ปีที่แล้ว
สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติม เทศบาลตำบลศรีเชียงใหม่ โทร. 042-451055 ต่อ 23
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline