ใครผ่านไปที่ถนนสันติสุข ถนนสายหลักกลางเมืองตราด ต้องสะดุดตากับอาคารไม้น้ำตาลเข้ม เสาปูน ยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยาที่มีความงามแบบย้อนยุค ประดับไปด้วยธงสีแดงที่มีรูปช้างอยู่ตรงกลางโบกสะบัดไหวอยู่ด้านหน้า
อาคารแห่งนี้ คือ ”พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด” สถานที่เก็บรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตคนเมืองตราด ถือเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำเมือง
เดิมเคยเป็นศาลากลางจังหวัดสร้างไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนกระทั่งเมื่อศูนย์ราชการได้ย้ายไปที่ทำการใหม่ อาคารหลังนี้ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นเวลานานจนสภาพอาคารเสื่อมโทรมทั้งหลัง ก่อนจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติจากกรมศิลปากร
แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่น่าเสียดาย เมื่อในปี พ.ศ. 2547 เกิดเหตุไฟไหม้เสียหายเกือบทั้งหมดจากคนสติฟั่นเฟือน ที่อาศัยหลับนอนอยู่บริเวณนั้น ประชาชนชาวตราดจึงร่วมกันพิจารณาเห็นว่า น่าจะบูรณะอาคารขึ้นมาใหม่ ให้คงรูปแบบเดิม เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ โดยขอให้กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ กรมศิลปากรจึงบูรณะอาคารเดิม ปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ให้สวยงาม แล้วเปลี่ยนมาเป็น “พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด” ซึ่งมีสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในที่สุด
กรมศิลปากรทำการส่งมอบให้เทศบาลเมืองตราด เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2556 โดยให้เทศบาลเมืองตราดเป็นผู้บริหารจัดการดูแล อาคารจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นำเสนอเรื่องราวในทุกมิติของจังหวัดตราด ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงความร่วมสมัยของปัจจุบัน เหมาะสำหรับผู้มาเยือนซึ่งอยากทำความรู้จักเมืองสุดแดนตะวันออกให้มากขึ้น
ภายในอาคาร จัดแสดงนิทรรศการที่มีความผสมผสานในรูปแบบสื่อผสมทันสมัย แบ่งเป็น 6 หมวด ภายในห้องต่างๆที่ต้องเดินชมจากฝั่งซ้ายไปขวา ได้แก่
1.มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมเมืองตราด จัดแสดงเรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของจังหวัดตราด
2.ผู้คนเมืองตราด จัดแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดตราด อาทิ ไทย จีน เขมร ญวน ชอง แสดงประวัติศาสตร์จากหลักฐานที่ค้นพบกลองมโหระทึก อายุราว 1,900-2,700 ปี รวมทั้งเครื่องมือโลหะ และเครื่องปั้นดินเผา
3.ลำดับทางโบราณคดีและประวัติเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดตราดตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต้นสมัยประวัติศาสตร์ สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์(สมัยรัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๔)
4.เหตุการณ์สำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในยุคที่มีการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก โดยจัดแสดงเรื่องการส่งมอบเมืองตราดคืนจากฝรั่งเศส การพระราชทานพระแสงราชศาสตราประจำเมือง และการเสด็จประพาสเมืองตราด 12 ครั้ง
5.เหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง จัดแสดงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ยุทธนาวี โดยจำลองห้องจัดแสดงเป็นเรือรบ มีการบรรยายที่เล่าเรื่องราวของทหารผู้กล้าที่ปกป้องผืนแผ่นดินไทย และแสดงโมเดลเรือรบประเภทต่างๆในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น
6.ตลาดเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวการค้าในตลาดเก่า และสภาพปัจจุบันของตลาดเมืองตราด ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน รวมถึงอาหารท้องถิ่น ซึ่งทำให้รู้จักอาหารเฉพาะถิ่นของพื้นที่จังหวัดตราด จนอยากออกไปตระเวนหาลิ้มรสของจริง
อาคาร “พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด” นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ที่ไม่ควรพลาด เพราะภาพจำของเมืองตราดของนักท่องเที่ยว มักเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เกาะแก่ง ท้องทะเลสวยๆ แต่หากได้มาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็จะได้รู้จักเมืองตราดอย่างเจาะลึกในฐานะอีกเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์เปิด 9.30 - 16.30 น.
วันอังคาร - ศุกร์ 9.00 - 16.00 น., วันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท, ต่างชาติ 30 บาท
แหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยง: จวนเรซิดังกัมปอร์ต
ห่างจากพิพิธภัณฑ์ไปราว 450 เมตร ไปตามถนนหลักเมือง เป็นที่ตั้งของ “จวนเรซิดังกัมปอร์ต” อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สีขาวสะอาดตา สร้างไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นโบราณสถานอีกแห่งในเมืองตราด
พระปราณีจีนประชา ปลัดฝ่ายจีนเมืองตราด สร้างไว้เพื่อใช้เป็นเรือนหอให้กับบุตรสาว ต่อมาเปลี่ยนสถานะเป็นที่พักของเจ้าเมืองในช่วงระยะเวลาสั้นๆก่อนที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองเมืองตราด แล้วใช้เป็นที่พำนักของ “เรสิดังต์ เดอเฟอริงสิมง” ข้าหลวงฝรั่งเศส
หลังจากฝรั่งเศสคืนดินแดนตราดให้แก่สยาม เรือนไม้ครึ่งตึกถูกใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดระหว่างปี พ.ศ.2450-2471 และเปลี่ยนกลายเป็นสำนักงานคุมประพฤติหน่วยงานที่ขึ้นกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร
อาคารแห่งนี้ไม่ได้งดงามโดดเด่นในเชิงสถาปัตยกรรม แต่ทว่าก็เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เตือนใจให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าครั้งหนึ่งเคยโดนชาติอาณานิคมเข้ามายึดครอง โดยปัจจุบัน ปิดไว้ไม่ได้ใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานใดๆ แต่นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพ ชมได้ภายนอก และบริเวณรอบๆได้
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline