xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการโพสต์รูป “ปูนปั้น ศิลปินแห่งชาติ” สุดวิจิตร ก่อนโดนทุบเหลือแต่ซาก เอาพื้นที่ทำร้านกาแฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการโพสต์ภาพผลงานสุดวิจิตร “ปูนปั้น ฝีมือศิลปินแห่งชาติ” ที่วัดมหาธาตุฯ เพชรบุรี ที่ตอนนี้เหลือเพียงซาก หลังวัดเอาพื้นที่ไปทำร้านกาแฟ ล่าสุดวัดชี้แจงไม่ได้มีเจตนาที่จะทุบทำลาย แต่คณะกรรมการมีความประสงค์พัฒนาพื้นที่ใช้สอยภายในวัดให้เกิดประโยชน์



ประเด็นร้อนจากเมืองเพชรฯ ในสัปดาห์นี้ ต้องยกให้กรณีที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ทุบทิ้งงานปูนปั้นของศิลปินแห่งชาติ “ครูทองร่วง เอมโอษฐ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น)

โดยมีนายนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักวิชาการนักเขียนชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “พ่อล้อม เพ็งแก้ว ตายไม่ถึง 2 เดือน ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ตายไม่ถึง 1 ปี ได้มีการทุบงานปูนปั้นการเมืองของครูทองร่วงทิ้งไปแล้ว ที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองเพชรบุรี เพราะวัดมหาธาตุจะใช้พื้นที่ทำร้านกาแฟ”

ขณะที่ นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม นักวิชาการอิสระด้านสังคมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในวันนี้ (24ก.ย.67) โดยระบุว่า การทุบปูนปั้นของครูทองร่วง ศิลปินแห่งชาติทำด้วยมือ แต่กลับถูกลบด้วยเท้า



การทุบประติมากรรมปูนปั้นอันงดงามลึกซึ้งของครูทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) หนึ่งในศิลปินแห่งชาติไม่กี่คนของจังหวัดเพชรบุรี ผู้เป็นตำนานของ “ช่างแหกจารีต” ในการบันทึกระบบสังคมการเมืองวัฒนธรรมมาไว้ในงานศิลปกรรม ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำร้านกาแฟ นับเป็นความสิ้นคิด เป็นความมักง่ายของผู้เกี่ยวข้อง เพชรบุรีเป็นเมืองช่างแท้ๆ ทำไมไม่ตระหนัก

ในการทำงาน ปกติช่างใหญ่จะมีลูกมือ แต่ประติมากรรมที่ถูกทุบนี้ครูทองร่วงปั้นเอง โดยท่านพูดว่า “งานชุดนี้เป็นงานสำคัญขอปั้นเอง” การที่เจ้าอาวาสบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลาย นั่นพูดเหมือนจะเป็นนักธุรกิจ ท่านเป็นพระ จะคิดแต่เรื่องเงินไม่ได้ ท่านต้องตระหนักถึงมิติทางสังคม เรามีวัดก็เพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณ ศิลปกรรมส่งเสริมจิตวิญญาณ ท่านจะหาเงินก็หาไป แต่ไม่ควรทำลายศิลปวัฒนธรรม

ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์วัดให้ดีขึ้น เหมาะสมแล้ว เดิมมีห้องน้ำอยู่หน้าวัด ดูไม่ดีเลย และจะไม่มีปัญหาเลยถ้าไม่มีการทุบทำลายศิลปกรรมอันทรงคุณค่าที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ หรือเต็มที่ก็หาทางย้ายไปจัดแสดงในที่เหมาะสม จะแก้ตัวอย่างไรก็แล้วแต่ แต่งานประติมากรรมของครูทองร่วงถูกทุบทำลายไปจากความมักง่ายของทุกคนที่เกี่ยวข้อง และเมื่อถูกทุบทำลายไปแล้ว ได้ยินข่าวว่ามีคนบอกจะปั้นให้ใหม่ จะปั้นใหม่ได้อย่างไร มันคนละเรื่องกัน ศิลปินตายไปแล้ว มือแบบนั้นไม่มีอีกแล้ว

บ่อยครั้งที่เราเห็นศิลปกรรมถูกทำลายด้วยความโง่ แต่เพื่อถนอมน้ำใจกันเลยต้องพูดให้เพราะหน่อยว่า "เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์" ไม่ได้มีเจตนา แล้วอะไรคือเจตนา ความไม่ใส่ใจ ปัดความผิดให้พ้นตัวคือเจตนาใช่หรือไม่ และถ้าจะมาอ้างว่าของอยู่ในวัด เป็นสิทธิ์ของวัดหรือกรรมการอะไรก็อ้างไม่ได้ วัดไม่ใช่ของเจ้าอาวาส วัดไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร วัดเป็นสมบัติสาธารณะ เขาให้มาดูแล ไม่ใช่ให้มาทำลาย การทำลายสมบัติสาธารณะ เจ้าอาวาสในฐานะผู้ดูแลต้องรับผิดชอบ


ประติมากรรม 2 ชิ้นที่ถูกทุบทำลายไป เป็นปูนปั้นประดับเสารั้วพิพิธภัณฑ์วัดมหาธาตุ หรือที่เรียกกันว่า ศาลานางสาวอัมพร บุญประคอง ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2536 ประติมากรรมชิ้นแรกเป็นภาพ "ชั่งหัวมัน" มีหนุมานทูนตาชั่งที่เอียง โดยข้างหนึ่งที่มีหัวมันสองหัว กลับมีน้ำหนักมากกว่าข้างที่มีหัวมันสามหัว เป็นการเสียดสีถากถางล้อระบบสังคมและกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล เมื่อเรียงเวลาพบว่าประติมากรรมนี้สร้างก่อนที่จะมีโครงการชั่งหัวมันของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมาทำที่อำเภอท่ายาง เมื่อปี 2552


ส่วนประติมากรรมอีกชิ้นเป็นรูปอาคาร ข้างบนเป็นห้องนอนเตียงนอน มีม่านซ้ายขวาพริ้วไหวงดงาม ตรงกลางมีธรรมจักร รายล้อมด้วยเครื่องอัฐบริขาร ส่วนใต้เตียงมียักษ์ไปขดตัวนอนอยู่อย่างอึดอัด เป็นปริศนาธรรมสื่อถึงเรื่อง “ธัมมะมัจฉริยะ” คือความตระหนี่ในธรรม มัจฉริยะแปลว่าความตระหนี่ เสียดาย เป็นกิเลสที่ทำให้คนใจแคบเห็นแก่ตัว ขาดความกรุณา การปั้นยักษ์ไปนอนขดอยู่ใต้เตียงที่อึดอัด สื่อถึงความโหดร้ายใจแคบ เป็นยักษ์รูปกายก็ร้ายอยู่แล้ว ใจยังร้าย หวงแหนวิชาความรู้ ไม่อยากให้คนอื่นรู้เท่าตน แทนที่จะนอนบนเตียงให้สบาย ก็ยอมไปขดตัวนอนอยู่ใต้เตียงเพื่ออำพรางความรู้ เดี๋ยวคนอื่นเขาจะรู้ว่าเตียงมีไว้นอนข้างบน เดี๋ยวคนอื่นเขาจะเจอความรู้

ในวัดมหาธาตุมีปูนปั้นอีกมากซึ่งเป็นทั้งปริศนาธรรมและการบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมการเมือง วัดมหาธาตุเป็นวัดสำคัญซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยทวารวดี เนื่องจากมีการขุดพบซากอิฐสมัยทวารวดีจำนวนมาก แม้แต่การขุดวางฐานรากเพื่อก่อสร้างร้านกาแฟครั้งนี้ก็ยังเห็นศิลาแลงซึ่งน่าจะอยู่ในยุคเดียวกับวัดกำแพงแลง (ตั้งอยู่ใน ต.ท่าราบ อ.เมือง เพชรบุรี) และเห็นอิฐซึ่งน่าจะอยู่ในสมัยทวารวดีเหมือนที่เจดีย์ทุ่งเศรษฐี (ชะอำ) ข้อมูลเหล่านี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรตระหนัก ไม่ใช่ทุบทำลาย และขุดทิ้งอย่างไม่เห็นค่า ทำอย่างนี้นอกจากจะทำลายคุณค่าประวัติศาสตร์ศิลปกรรมของประเทศ แล้วยังเสียชื่อจังหวัดเพชรบุรี ไม่ไว้หน้าคนเมืองเพชร หลวงพ่อบุญรวม อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุผู้มีคุณูปการต่อศิลปกรรมเมืองเพชรบุรี ท่านรักและใส่ใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมมาก แต่ทำไมพอมาถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันถึงเป็นเช่นนี้


ล่าสุดวันนี้ (24 ก.ย.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ”อุดมเดช เกตุแก้ว“ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นทุบงานปูนปั้นของช่างทองร่วง โดยได้ชี้แจงในมุมของเจ้าอาวาส โดยได้ระบุข้อความว่า

“กรณีทุบงานปูนปั้นช่างทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ ที่วัดมหาธาตุ วรวิหาร จ.เพชรบุรี ที่เป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้ ขออนุญาตให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ว่าหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ และคณะกรรมการที่ร่วมพิจารณาแบบก่อสร้างอาคารดังกล่าว ไม่ได้มีเจตนาที่จะทุบทำลายงานปูนปั้นของช่างทองร่วงแต่อย่างใด ทางวัด คณะกรรมการมีความประสงค์ที่พัฒนาพื้นที่ใช้สอยภายในวัดให้เกิดประโยชน์แก่ทางวัด และโรงเรียนสุวรรณรังสฤษฏ์ฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนการกุศลทางพระพุทธศาสนาที่ดำเนินการโดยวัดมหาธาตุฯ จึงได้รื้อถอนอาคารห้องน้ำ-ห้องสุขา ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวัดออก แล้วก่อสร้างอาคารร้านจำหน่ายสินค้า เครื่องดื่ม (บนพื้นที่เดิม) โดยใช้เงินของทางวัดดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้ว วัดจะร่วมกับโรงเรียนในการบริหารจัดการ เช่น จัดแสดงและจำหน่ายผลงานของนักเรียน จำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม เป็นจุดบริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น