“ปลาฉิ้งฉ้าง” หรือ “ปลาจิ้งจ้าง” เป็นเมนูอาหารท้องถิ่นของจังหวัดชายฝั่งริมทะเล ที่คุ้นปากคุ้นลิ้นของคนไทยมาช้านาน
ปลาฉิ้งฉ้างเป็นทั้งกับข้าว ของกินเล่น และกับแกล้ม โดยคนนิยมนำไปทอดกรอบโรยเกลือกินกรุบกรอบ ๆ กินกับข้าวต้มร้อน ๆ หรือกินเล่นเป็นกับแกล้ม รวมถึงนำไปทำเป็นยำปลาฉิ้งฉ้างรสแซ่บ นอกจากนี้ยังมีการนำปลาฉิ้งฉ้างไปใส่ในยำต่าง ๆ หรือเป็นส่วนประกอบของอาหารอื่น ๆ ตามความชอบของแต่ละคน
สำหรับแหล่งผลิตปลาฉิ้งฉ้างแหล่งใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแหล่งทำปลาฉิ้งฉ้างที่อร่อยที่สุดในเมืองไทยก็คือ “เกาะยาวใหญ่” อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา
ปลาฉิ้งฉ้างที่นี่ถือเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านบนเกาะ โดยส่งไปขายทั่วทุกภาคของประเทศ รวมถึงในต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน
นายวิทูล บุญสบ กำนันตำบลพรุใน และนายอนุพงษ์ อาษาราษฎร์ รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว ได้แนะนำกระบวนการผลิตปลาฉิ้งฉ้างของเกาะยาวใหญ่
เริ่มตั้งแต่การนำเรือประมงออกไปจับปลาฉิ้งฉ้างหรือปลากะตักในทะเลเกาะยาว โดยปลาฉิ้งฉ้างสดจะถูกต้มให้สุกตั้งแต่อยู่บนเรือ แล้วนำใส่ “ถ้าย” ซึ่งเป็นตะกร้าพลาสติกทรงกลมแบบตื้นและกว้าง วางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ซึ่งเราสามารถกินได้ ปลาจะให้รสชาติเค็ม ๆ มัน ๆ อร่อยดี
จากนั้นจะมีการส่งปลาฉิ้งฉ้างต้มสุกไปทำการอบแห้งในโรงงานบนเกาะยาวใหญ่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ โรงงานปลาฉิ้งฉ้าง “ขวัญฤทัย ปลากะตัก” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลพรุใน
เมื่อปลาฉิ้งฉ้างต้มสุกมาถึงโรงงาน จะมีการนำปลาเข้าไปในเตาอบ เมื่ออบจนแห้งได้ที่ ก็นำออกมาพักใส่ในตะกร้าใบหนึ่ง ก่อนนำไปใส่ในเครื่องแยกขนาดตัวปลา แล้วนำไปคัดคุณภาพเอาปลาชนิดอื่นและเศษปลอมปนอื่น ๆ ออก ก่อนจะตั้งวงคัดใส่ถุงอีกครั้งให้ลูกค้ามารับไปขายต่อไป
นางขวัญฤทัย นาวีว่อง อายุ 60 ปี เปิดเผยว่า ปลาฉิ้งฉ้าง เป็นปลาประเภทเดียวกับปลากะตักของภาคกลาง เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีมากในทะเลเกาะยาว
นางขวัญฤทัย เล่าต่อว่า โรงงานของตนนั้นตั้งมาได้ราว 6 ปี โดยจะนำปลาจากเรือของครอบครัวและของญาติ ๆ ที่ออกไปจับปลาในทะเลกลับนำมาแปรรูป แล้วส่งขายต่อให้กับโรงงานและพ่อค้าแม่ค้าที่ส่งไปขายนอกพื้นที่ทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ ในราคา150-170บาท ต่อกิโลกรัม
สำหรับความอร่อยของปลาฉิ้งฉ้างเกาะยาวที่มีเสียงเล่าลือ “อร่อยที่สุดในประเทศไทย” นั้น นางขวัญฤทัย เล่าว่า เกิดจากพวกเราใช้เรือประมงขนาดใหญ่เมื่อจับปลามาได้แล้วก็จะต้มให้สุกบนเรือทันที ทำให้ได้ตัวปลาที่สมบูรณ์ รสชาติดี มีความมัน เค็มน้อย ซึ่งหากไม่ต้มทันที ปล่อยทิ้งไว้ ปลาสดจะท้องแตก หัวหลุด ทำให้ไม่อร่อย และไม่ได้ราคาทันที
อย่างไรก็ดีในกรณีที่เรือออกหาปลาไม่ไกลจากชายฝั่ง ชาวประมงจะนำปลามาต้มกันที่ชายหาด ลวกปลาให้สุกได้ที่ จนปลาเปลี่ยนสีขาวลอยขึ้น จึงตักใส่ตะกร้าพักให้สะเด็ดน้ำ ผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปเรียงบนตาข่ายจนปลาแห้ง แล้วส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าจากบนฝั่งที่เข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน
ด้าน นายวิทูล บุญสบ กำนันตำบลพรุใน กล่าวถึงวิถีการทำปลาฉิ้งฉ้างที่เกาะยาวว่า ปลาฉิ้งฉ้างได้กลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยการจับและแปรรูปเป็นปลาตากแห้งหรือปลากรอบ ปลาฉิ้งฉ้างไม่เพียงสร้างรายได้ให้กับชาวประมงท้องถิ่น แต่ยังเป็นส่วนประกอบหลักในเมนูอาหารพื้นบ้าน
กำนันตำบลพรุใน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจับปลาฉิ้งฉ้างเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านได้มีการปรับตัวให้การประมงปลาฉิ้งฉ้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แหล่งปลานี้ยังคงอยู่สำหรับอนาคต การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ชุมชนให้ความสำคัญ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง