ย้อนอดีตสนามม้านางเลิ้ง หลังจากปิดตัวไปได้มีการปรับเปลี่ยนเป็น “อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙” ปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมอบที่ดินบริเวณสนามม้านางเลิ้งเดิมเพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะให้แก่ประชาชนทุกคนได้ใช้อย่างเท่าเทียม
ย้อนอดีตสนามม้านางเลิ้ง
“สนามม้านางเลิ้ง” ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โดย “พระยาประดิพัทธภูบาล” และ “พระยาอรรถการประสิทธิ์” ได้ทำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ก่อตั้ง “สโมสรสนามม้าแข่งเพื่อบำรุงพันธุ์ม้า” โดยถวายที่ดินของ “กรมอัศวราช” เป็นสถานที่แข่งขัน ซึ่งต่อมามีพระบรมราชานุญาตพร้อมพระราชทานนามว่า “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสยาม” และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์”
สนามม้านางเลิ้งเปิดสนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459 หลังจากนั้นสนามม้าแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดแข่งขันม้าทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์ (สลับกันกับสนามราชกรีฑาสโมสร) รวมถึงเป็นสถานที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ เกี่ยวกับม้า และให้บริการด้านอื่น ๆ มาเป็นเวลายาวนาน
สนามม้านางเลิ้งได้ทำการจัดแข่งม้าวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561 เนื่องจากหมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ก่อนที่สนามม้าแห่งนี้จะถูกรื้อถอนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็น “อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ที่เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นอีกหนึ่งสวนสาธารณะอันสวยงามใจกลางกรุงฯ
อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือที่หลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า “อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙” เกิดขึ้นจากจากประปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของทั้ง 2 พระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องป่าและน้ำ ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวนสาธารณะแห่งนี้
นอกจากนี้อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานไว้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของมนุษย์กับธรรมชาติ และเป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม
อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีพื้นที่ 279 ไร่ เป็นที่ดินในพระปรมาภิไธย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน โดยได้เริ่มพัฒนาแบบมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งหากแล้วเสร็จจะกลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพชั้นในรองจากสวนลุมพินี และสวนเบญจกิตติ
สำหรับสวนสาธารณะแห่งนี้ถือเป็นสวนที่ออกแบบตามแนวคิดสวนสมัยใหม่ หรือ Modern Park โดยคำนึงถึงทัศนียภาพและสะท้อนภาพความเป็นเมืองทันสมัยยุคใหม่ของกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ
และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติจึงมีแนวคิดในการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ นำโดย “พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” หรือที่หลายคน ๆ เรียกว่า “พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๙” ซึ่งถือเป็นหัวใจและศูนย์กลางของสวนสาธารณะแห่งนี้
พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๙ มีขนาดความสูง 7.7เมตร หรือขนาด 4 เท่าครึ่ง ของพระองค์จริง ที่ประดิษฐานอยู่กลางอุทยานฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ มาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๙ ไปเมื่อ วันที่ 13 ตุลาคม 2565
ขณะที่ไฮไลต์น่าสนใจอื่น ๆ นั้นก็มี
-“สระน้ำรูปเลข ๙” สระน้ำขนาดใหญ่รูปเลข ๙ ไทย ที่ออกแบบอย่างสวยงาม เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำ หรือ “แก้มลิง” ในยามวิกฤตจากอุทกภัยอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ โดยสามารถผันน้ำเชื่อมโยงกับคลองเปรมประชากรที่อยู่ด้านนอกสวน
-“สะพานหมายเลข ๙” ที่เป็นเส้นทางเดินภายในส่วนนำสู่ พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.๙
-“สะพานหยดน้ำพระทัย” ที่สื่อให้เห็นถึง น้ำพระราชหฤทัยดั่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอด 70 ปี สะพานที่ออกแบบอย่างสวยงาม โดยเฉพาะยามสะท้อนเงาจากแผ่นน้ำ
-“สะพานไม้เจาะบากง” เป็นการจำลองสะพานไม้เจาะบากง จ.นราธิวาส สะพานที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จไปทรงงาน บริเวณสะพานมีท่าน้ำ น้ำตกและลำธารจำลองตามแบบป่าฝนเขตร้อนที่ออกแบบอย่างสวยงาม กลมกลืน
นอกจากนี้ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ ยังสะท้อนแนวคิดหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
มีการจัดสวนตกแต่งในลักษณะของป่าธรรมชาติ ปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ อาทิ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, พืชกรองฝุ่น, ต้นไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงา, ต้นไม้ประจำจังหวัด, ไม้หายาก, พืชบำบัดน้ำ และกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้สวนสาธารณะแห่งนี้จะมีการปลูกต้นใหญ่ให้สวยงามร่มรื่นถึงราว 4,500 ต้น เลยทีเดียว เพื่อให้ผู้มาใช้สวนแห่งนี้ได้รับความรู้ในหลากหลายมิติ แต่ว่าสามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังได้รับความเพลิดเพลินต่าง ๆ จากธรรมชาติภายในสวนแห่งนี้
นับได้ว่า “อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ที่มีการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่จากอดีตสนามม้านางเลิ้ง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นทั้งสวนสวยปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงฯ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นแลนด์มาร์กถ่ายรูป ให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้สำคัญใต้พระบารมี “พ่อของแผ่นดิน” ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้