หน้าฝนปีนี้ (2567) ภาคเหนือต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น เชียงราย พะเยา แพร่ และ จังหวัด “น่าน” ที่คนในพื้นที่ส่วนหนึ่งออกมาบอกว่า ปีนี้น่านเจอน้ำท่วมหนักมากที่สุดในรอบ 100 ปี สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อฮูปแต้ม “วัดภูมินทร์” และ “วัดหนองบัว” 2 แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองน่านที่ขึ้นชื่อในเรื่องภาพจิตรกรรมฝาผนังสุดคลาสสิก
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือ “ฮูปแต้ม” ของทั้ง 2 วัด มีข้อมูลระบุว่าวาดและสร้างสรรค์โดยคน ๆ เดียวกันคือ “หนานบัวผัน” (ทิดบัวผัน) ซึ่งถือเป็นศิลปินโบราณนามอุโฆษของจังหวัดน่านที่ได้รับการยกย่องมาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้นเราจึงขอพาไปรู้จักกับไฮไลต์ของภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือหนานบัวผันทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์กัน
วัดหนองบัว
วัดหนองบัว (ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา) เป็นวัดไทลื้อเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2405 ในสมัยรัชกาลที่ ๔ วัดแห่งนี้โดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรมไทลื้อสุดคลาสสิก คือวิหารไทลื้อแบบ “เตี้ยแจ้” ที่ดูเรียบง่ายแต่งดงามทรงเสน่ห์
ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือหนานบัวผันอันงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว วาดเป็นภาพพุทธประวัติและชาดก นำโดยภาพพุทธประวัติ ตอนพระอินทร์ดีดพิณสามสายถวายพระพุทธเจ้า ที่อยู่บริเวณด้านบนของผนังด้านตะวันออกเหนือประตูทางเข้า
ภาพนี้สื่อว่าสายที่ตึงเกินไปย่อมขาด หย่อนเกินไปย่อมไร้เสียง สายที่ขึงตึงพอดีเท่านั้นจึงบรรเลงเพลงได้ไพเราะ พระพุทธองค์สดับดังนั้นจึงเกิดพระโพธิญาณ ตระหนักถึงทางสายกลาง ยุติการบำเพ็ญทุกรกิริยา และตรัสรู้ในกาลต่อมา
ส่วนภาพชาดกหนานบัวผันได้เขียนเรื่อง “จันทคาธ” เป็นชาดกในหนังสือ ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค คนเหนือเรียกว่า “ค่าวธรรมจันทคาธปูจี่” เป็นเรื่องยาวที่สอนทั้งความกตัญญูกตเวที ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต จนถึงการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกภาพของเรือกลไฟ ทหารชาวฝรั่งเศส และดาบปลายปืน ซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ เป็นการบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี
หลังจากเขียนภาพที่วัดหนองบัวเสร็จแล้ว หนานบัวผันได้ไปเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ในตัวเมืองน่านต่อ โดยได้ตกผลึกทั้งในเรื่องลายเส้น การใช้สีจนกลายเป็นหนึ่งในสุดยอดงานจิตรกรรมฝาผนังอันทรงคุณค่าแห่งหนึ่งของเมืองไทย
วัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์ (ต.ในเวียง อ.เมือง) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2139 โดย “เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์” (สร้างขึ้นหลังจากพระองค์ขึ้นครองนครน่านได้ 6 ปี) เดิมเรียก “วัดพรหมมินทร์” ก่อนที่จะเพี้ยนเป็น “วัดภูมินทร์” ดังในปัจจุบัน
วัดภูมินทร์โดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนาทรงจตุรมุขที่เป็นทั้ง “โบสถ์และวิหาร” ในอาคารเดียวกัน โดยมีประติมากรรมพญานาค (นาคสะดุ้ง) เทินอยู่ดูคล้ายเลื้อยทะลุออกมา
ภายในโบสถ์-วิหาร จตุรมุข มี “พระพุทธมหาพรหมอุดมศักยมุนี” หรือ “พระประธานจตุรพักตร์” เป็นองค์พระประธาน (ปัจจุบันอย่างระหว่างการบูรณะ)
ส่วนผนังทั้ง 4 ด้าน งดงามชวนชมด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือหนานบัวผัน ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า น่าจะวาดขึ้นในช่วง ปี พ.ศ. 2443 หรือ 2446 หลังเสร็จจากการวาดภาพที่วัดหนองบัว
ฮูปแต้มวัดภูมินทร์มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยลักษณะการออกแบบภาพที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ
ส่วนใหญ่วาดเป็นเรื่องราวของคันทนกุมารชาดกและเนมิราชชาดก โดยศิลปินได้วาดภาพสอดแทรกบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตชาวเมืองน่านเข้าไปในฮูปแต้ม ได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็น การสักลายของหนุ่ม ๆ ชาวล้านนาในยุคนั้น การแต่งกายของหญิงสาวที่นิยมนุ่งผ้าซิ่นตีนจก “ลายน้ำไหล” ซึ่งเป็นผ้าทอเอกลักษณ์ของเมืองน่าน
หรือกิจกรรมในวิถีชีวิตประจำวันเช่นการทอผ้าด้วยหูก การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว การมาพบปะกันของหนุ่มสาวที่ชานบ้าน และสภาพบ้านเรือนความเป็นอยู่ของชาวล้านนาสมัยก่อน รวมไปถึงชาวพื้นเมืองและฝรั่งต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายในเมืองน่านสมัยนั้น เป็นต้น
นอกจากนี้หนานบัวผันยังเลือกใช้เส้นโค้งได้อย่างสัมพันธ์กันดีกับแนวเนินดินเนินเขาที่เป็นเส้นลูกคลื่นเลื่อนไหลไปมา สอดคล้องกับการเขียนภาพคนที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวอย่างอิสระ
สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ต้องยกให้กับภาพ “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” เป็นภาพขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับขนาดคนจริงของชายหนุ่มและหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่าหรือแบบไทยใหญ่ ในอิริยาบถยืนเคียงกัน ฝ่ายชายจับบ่าหญิงสาวและใช้มือป้องปากเหมือนกำลังกระซิบกระซาบถ้อยคำบางอย่าง ทำให้ภาพนี้ภายหลัง (ในยุคปัจจุบัน) คนนิยมเรียกกันว่าภาพ “กระซิบรักบันลือโลก”
ส่วนอีกหนึ่งภาพภาพบุคคลอันโดดเด่นในโบสถ์-วิหาร วัดภูมินทร์ก็คือ ภาพวาดสาวงามเมืองน่าน ที่อยู่ในอิริยาบถกำลังเกล้าผมขึ้นเหนือศีรษะและตกแต่งมวยผมด้วยดอกไม้สีสวย ที่ใบหูใส่ม้วนทอง เปลือยอกไม่ใส่เสื้อ มีเพียงผ้าคล้องคอไพล่ชายไปด้านหลัง ซึ่งภายหลัง (ในยุคปัจจุบัน) ภาพนี้ถูกเรียกขานว่า ภาพ “โมนาลิซ่าเมืองน่าน”
สำหรับภาพบุคคลฝีมือหนานบัวผัน ในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์นั้น ต่างก็เป็นภาพสะท้อนชีวิตของชาวน่านในยุคนั้น โดยศิลปินได้วาดบุคคลคนในภาพให้มีใบหน้ากลมแป้น คิ้วรูปวงพระจันทร์ นัยน์ตาที่แฝงความรู้สึกเจ้าชู้กรุ้มกริ่ม ริมฝีปากเล็กรูปกระจับ และนิยมแสดงอาการดีใจด้วยการเขียนมุมปากเชิดขึ้นทั้งสองข้าง และเขียนมุมปากหุบตกลงถ้าต้องการแสดงความเศร้าเสียใจ พร้อมทั้งสอดแทรกรูปแบบการแต่งกาย การใช้ชีวิตของคนในยุคนั้นได้อย่างสวยงามกลมกลืน
ฮูปแต้มที่วัดภูมินทร์ ถือว่าแตกต่างกับการเขียนภาพตามสมัยนิยมของกรุงเทพฯ ในยุคสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง โดยภาพจิตรกรรมตามสมัยนิยมในเมืองหลวง ต่างนิยมบอกผ่านความรู้สึกด้วยท่าทางอากัปกิริยาแบบนาฏลักษณ์ แต่จะไม่แสดงอารมณ์ผ่านทางใบหน้า
ด้วยเหตุนี้จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างสูง เป็นเสน่ห์อันประทับใจผู้ที่มีโอกาสได้ชม
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของหนานบัวผันที่ฝากผลงานอมตะไว้ทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์ ซึ่งหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมน่านเริ่มคลี่คลาย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ได้เข้าสำรวจสภาพ หลังน้ำท่วมทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์ เพื่อประเมินผลกระทบและหาแนวทางในการป้องกันและอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถานต่อไป พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำและแนวทางในการฟื้นฟูและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดจากความชื้นต่อโบราณวัตถุและโบราณสถานในเบื้องต้นให้กับทางวัด
ทั้งนี้หลังจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องตามติดว่าฮูปแต้มที่วัดทั้ง 2 จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไว้ก่อนที่จะสาย (กันไว้ดีกว่าแก้) เพราะภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์นั้น นอกจากจะเป็นหนึ่งในภาพจิตรกรรมฝาผนังสุดคลาสสิกของเมืองไทยแล้ว ยังเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญคู่เมืองน่านที่ผู้สนใจในงานศิลปะไม่ควรพลาดการไปเที่ยวชมด้วยประการทั้งปวง