“สงขลา” ได้ชื่อว่าเป็นเมือง 2 ทะเล เนื่องจากมีแนวชายฝั่งด้านตะวันออกติดกับ “ทะเลอ่าวไทย” และมี “ทะเลสาบสงขลา” เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลาและพัทลุง
ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบแบบ “ลากูน” (Lagoon) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่ริมชายฝั่งมีสายน้ำไหลเชื่อมต่อทะเลอ่าวไทยกับภายในลากูน เกิดเป็นทะเลสาบ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม
สงขลาเดินหน้าสู่มรดกโลก
ทะเลสาบสงขลานอกจากจะมีระบบนิเวศที่หลากหลายซับซ้อน และเป็นแหล่งทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์แล้ว ลากูนแห่งนี้ยังเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งดินแดนด้ามขวาน เป็นบ่อเกิดแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นทะเลสาบแบบลากูนเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่มีการตั้งถิ่นฐาน ตั้งชุมชนขนาดใหญ่อยู่โดยรอบพื้นที่ ทั้งยังเป็นแหล่งอายธรรมที่สำคัญของภูมิภาค
ด้วยความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของทะเลสาบสงขลาและพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าบริเวณทะเลสาบ ประเทศไทยจึงเสนอ “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” (Songkhla and its Associated Lagoon Settlements) ที่ประกอบด้วย 4 พื้นที่ ได้แก่ 1) เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง 2) เมืองโบราณสทิงพระ 3) เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า ณ เขาแดง และแหลมสน และ 4) เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง ให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของเมืองไทย
ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ได้มีมติเห็นชอบให้พื้นที่ “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ถูกบรรจุเข้าสู่ “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลกแล้ว ถือเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการก้าวสู่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทยต่อไป (ในอนาคต)
เมืองเก่าสงขลา 3 ยุค
สำหรับประวัติความเป็นมาของแหล่งอารยธรรมริมทะเลสาบสงขลานั้นมีมานับพันปี โดยปรากฏหลักฐานสำคัญคือ “โบราณสถานภูเขาน้อย” (ต.หัวเขา อ.สิงหนคร) เป็นซาก (ฐาน) เจดีย์เขาน้อย ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคศรีวิชัยราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 นอกจากนี้ยังมีการค้นพบโบราณวัตถุ อย่างเช่น “กุฑุ” หรือ “จันทรศาลา” ที่มีลักษณะร่วมยุคทวารวดี กับโบราณวัตถุที่ขุดพบที่พระปฐมเจดีย์ และเมืองโบราณอู่ทอง
ขณะที่ประวัติศาสตร์ของสงขลาที่มีหลักฐานและบันทึกทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจนนั้นเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อราว 400 กว่าปีที่แล้ว แบ่งเป็น 3 ยุค จนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองเก่าสงขลา 3 ยุค” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักฐานมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญในการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
เมืองซิงกอร่า
เมื่อราวปี พ.ศ. 2145 ฮอลันดายกทัพมาล่าอาณานิคมที่เกาะชวา ทำให้ “ดาโต๊ะโมกอล” จากเมืองสาเลย์ เกาะชวา พาครอบครัวอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ริมทะเลสาบสงขลาบริเวณ “หัวเขาแดง” (ปัจจุบันอยู่ใน อ.สิงหนคร)
จากนั้นดาโต๊ะโมกอลได้ตั้ง “เมืองซิงกอร่า” (ซิงโกร่า) หรือ “เมืองเก่าหัวเขาแดง” ที่มีชัยภูมิดีเยี่ยมขึ้น ถือเป็นเมืองเก่าสงขลายุคแรกเริ่มหรือยุคที่ 1 ซึ่งขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาในยุค “สุลต่านสุไลมาน ชาห์” ได้จับมือกับฮอลันดาพัฒนาซิงกอราให้เป็นเมืองท่าการค้านานาชาติอันมั่งคั่ง พร้อมกันนี้ยังมีสร้างกำแพง ป้อม ค่าย คู ประตู และหอรบ ขึ้นบริเวณหัวเขาแดงบนภูเขาริมทะเลสาบ ทำให้ซิงกอรากลายเป็นเมืองป้อมปราการอันโดดเด่น
ความเจริญรุ่งเรืองทำให้เมืองซิงกอร่าแข็งข้อต่อกรุงศรีอยุธยา ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่งทัพมาปราบจนล่มสลายในปี พ.ศ.2223
ปัจจุบันรอยอดีตอันรุ่งโรจน์ของเมืองเก่าสงขลายุคซิงกอรา หลงเหลือหลักฐานของซากป้อมปราการในอดีตอยู่ 14 ป้อม นำโดย “ป้อมปืนหมายเลข 9” หรือ “ป้อมพระยาแขก” ที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด
ป้อมแห่งนี้ตั้งอยู่เชิงเขาน้อย (ห่างจากเจดีย์เขาน้อยประมาณ 300 เมตร) มีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 14 เมตร เป็นป้อมรูปทรงสี่เหลี่ยมมีครีบค้ำยัน 5 จุด เพื่อเสริมความแข็งแรง ตัวป้อมก่อด้วยหินสอปูน ผู้สนใจสามารถมาเที่ยวชมความสวยงามคลาสสิกของป้อมปืนหมายเลข 9 ได้ อย่างไม่ยากเย็น เนื่องจากตั้งอยู่ริมถนนเข้าถึงง่าย
เมืองสงขลาแหลมสน
หลังยุคเมืองซิงกอราล่มสลาย ทำให้พื้นที่บริเวณทะเลสาบสงขลาลดความสำคัญลงไปมาก ผู้คนและชุมชนกระจายตัวไปตั้งอยู่ในถิ่นฐานอื่น ๆ กระทั่งในสมัยกรุงธนบุรี ราวพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพมาขึ้นที่แหลมสน ริมทะเลสาบสงขลา (ปัจจุบันคือพื้นที่หมู่ที่ 2 ต.หัวเขา อ.สิงหนคร)
จากนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนคือ “นายเหยี่ยง แซ่เฮ่า” เป็นเจ้าเมือง ดำรงตำแหน่งเป็นหลวงอินทรคีรีสมบัติ ก่อนที่จะได้รับการ แต่งตั้งเป็น “หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ” เจ้าเมืองสงขลา ในปี พ.ศ.2318 ส่งผลให้เมืองสงขลากลายเป็นหัวเมืองสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
“เมืองสงขลาแหลมสน” หรือ “เมืองเก่าแหลมสน” เป็นเมืองเก่าสงขลายุคที่ 2 ซึ่งเป็นยุคที่ชาวจีนและวัฒนธรรมจีนลงหลักปักฐานอย่างเด่นชัดในแผ่นดินเมืองสงขลา ส่งผลให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองท่าปากน้ำที่สำคัญของภาคใต้ มีการทำการค้าริมชายฝั่งที่มั่งคั่งรุ่งเรือง เศรษฐกิจเติบโต จนมีพัฒนาเมือง และขยายเมืองไปยังอีกฝั่งแม่น้ำของทะเลสาบสงขลา
สำหรับสิ่งก่อสร้างสำคัญในยุคสงขลาแหลมสนก็คือ “จตุอาราม” ซึ่งประกอบด้วย วัด 4 แห่งที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาเชื่อมโยงกัน ได้แก่ วัดสุวรรณคีรี วัดบ่อทรัพย์ วัดศิริวรรณาวาส และวัดภูผาเบิก ซึ่งแต่ละวัดต่างก็มีสิ่งก่อสร้างและงานพุทธศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ ให้ผู้สนใจได้ไปเที่ยวชม ซึมซับกับ “อันซีนสงขลา” อันสวยงามคลาสสิก ที่ยังไม่ (ค่อย) เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่
เมืองสงขลาบ่อยาง
เมืองเก่าสงขลาแหลมสนแม้จะเติบโตเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก แต่ด้วยข้อจำกัดทางธรรมชาติคืออยู่ติดภูเขาและแหล่งน้ำจืดมีน้อย จึงทำให้ต้องขยายเมืองไปยังอีกฝั่งแม่น้ำของทะเลสาบสงขลาคือฝั่งบ่อยาง เกิดเป็น “เมืองสงขลาบ่อยาง” หรือ “เมืองเก่าบ่อยาง” ขึ้น
โดยในปี พ.ศ.2379 รัชกาลที่ ๓ รับสั่งให้ “พระยาวิเชียรคีรี (เถียนเส้ง)” ย้ายเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน มาตั้งในฝั่งบ่อยาง เมื่อเมืองใหม่สร้างแล้วเสร็จ รัชกาลที่ ๓ ได้พระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักชัยต้นหนึ่งกับเทียนชัยหนึ่งเล่ม ฝังไว้เป็นหลักเมืองสงขลาบ่อยาง เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2385 ซึ่งปัจจุบันคือ “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” (เสี่ยงฮ๋องเหล่าเอี๋ย) ที่เป็นหนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของคนในพื้นที่
จากนั้นเมืองสงขลาบ่อยางได้พัฒนาเป็นเมืองค้าการพาณิชย์ริมชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา ซึ่งนอกจากจะความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับแล้ว ยังโดดเด่นไปด้วย “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่เกิดการผสมผสานวิถีชีวิตของผู้คน 3 วัฒนธรรม คือ ไทย จีน และมุสลิม เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ดังคำกล่าว “สามหลักผสมกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวในบ่อยาง”
อย่างไรก็ดีเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง ได้เข้าสู่ยุคซบเซาหลังการเกิดขึ้นของ “เมืองหาดใหญ่” ที่มีทั้งชุมทางรถไฟ สนามบิน และการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทำให้ศูนย์กลางเศรษฐกิจและคมนาคมของภาคใต้ตอนล่างถูกย้ายไปอยู่ที่หาดใหญ่แทนเมืองสงขลาตั้งแต่เมื่อช่วง 40-50 ปี ที่ผ่านมา
จากนั้นเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง ก็ได้ลดระดับความสำคัญลงจนซบเซาเงียบเหงา ผู้คนย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่จำนวนมาก
กระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2552 ได้มีความพยายามจากหลายภาคส่วน ในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าสงขลาบ่อยาง จากที่เคยเงียบเหงาซบเซาให้พลิกฟื้นคืนกลับกลายเป็น “เมืองเก่ามีชีวิต” (อีกครั้ง) ควบคู่ไปกับการยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์เทรนด์การท่องเที่ยวร่วมสมัย โดยไม่ทิ้งรากเหง้าดั้งเดิมของชุมชน
ส่งผลให้วันนี้เมืองเก่าสงขลาบ่อยางกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของจังหวัดสงขลา ที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวชมกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับมนต์เสน่ห์ของเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง หรือที่ตอนหลังคนมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า “เมืองเก่าสงขลา” ที่ปัจจุบันถือเป็นย่านท่องเที่ยว (เดินเที่ยว) ขึ้นชื่อเบอร์ต้น ๆ ของภาคใต้ตอนล่างนั้นก็นำโดย งานสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวิถีชีวิต ความเชื่อของผู้คน นำโดย 3 ศาสนสถานใน 3 วัฒนธรรม คือ วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร หรือ วัดกลาง (ไทยพุทธ) ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และศาลเจ้าพ่อกวนอูที่อยู่ใกล้ ๆ กัน (ไทยจีน) และ มัสยิดอุสาสนอิสลาม หรือ มัสยิดบ้านบน (ไทยมุสลิม)
นอกจากนี้ก็ยังมีงานสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัย อาคารบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งภาพจำอันโดดเด่นของเมืองเก่าสงขลา ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ยุค ไล่เรียงตามความเก่าแก่ ประกอบด้วย 1.แบบจีนดั้งเดิม 2.แบบจีนพาณิชย์ 3.แบบชิโน-ยูโรเปียน (หรือที่เดิมมักเรียกกันว่าชิโน-โปรตุกีส) และ 4.แบบสมัยใหม่
ปัจจุบันงานสถาปัตยกรรมทั้ง 4 ยุค ที่ตั้งอยู่ร่วมกัน อาคารหลายหลังได้ถูกดัดแปลงปรับฟังก์ชั่นภายในให้เป็นที่พัก ร้านขายของที่ระลึก แกลลอรี่ พิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร และคาเฟ่ สวยเก๋ เพื่อตอบโจทย์วิถีการท่องเที่ยวยุคใหม่ ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของเมืองเก่าสงขลาที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปพักผ่อน ดื่มกิน และถ่ายรูปกันเพียบ
ขณะที่ตามผนังอาคารด้านนอกหลาย ๆ จุดก็มีการวาดภาพสตรีทอาร์ต บอกเล่าเรื่องราวของชุมชน ส่วนอีกสิ่งที่ผู้มาเยือนเมืองเก่าสงขลาต้องห้ามพลาดก็คือเรื่องของอาหารการกิน ที่มีทั้งอาหารท้องถิ่น ขนม ไอศกรีม เครื่องดื่ม ฯลฯ ที่มีให้บริการนักท่องเที่ยวกระจายอยู่ทั่วไปในเมืองเก่าแห่งนี้ ซึ่งว่ากันว่าใครที่มาเดินเที่ยวเมืองเก่าสงขลาแล้วไม่ได้กินอะไรที่นี่นั้นก็ถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองเก่าสงขลาโดยสมบูรณ์
สงขลา เดินหน้าสู่มรดกโลก
ด้วยความโดดเด่นของเมืองเก่าสงขลา 3 ยุค คือ ยุคซิงกอร่า ยุคแหลมสน และยุคบ่อยาง ถือเป็นตัวจุดประกายในการนำเสนอสงขลาเป็นแหล่งมรดกโลก ก่อนที่จะมีการศึกษา ต่อยอด ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติม จนนำไปสู่การขอ “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ซึ่งวันนี้ได้ถูกบรรจุเข้าสู่ “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” ของศูนย์มรดกโลกตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
สำหรับการขอ “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” เป็นมรดกโลกนั้น มีข้อมูลน่าสนใจจากสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ผ่านมายังไม่มีแหล่งมรดกโลกใดที่เป็นทะเลสาบแบบลากูน และมีการตั้งถิ่นฐานที่แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญกับอารยธรรมอื่น และเป็นตัวอย่างของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
นับได้ว่า (ถ้า) “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ นี่จะถือเป็นมรดกโลกประเภทลากูนมีชีวิตแห่งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีมรดกโลกในลักษณะแบบนี้บนโลกใบนี้
###############################
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา ได้ที่ ททท. สำนักงานหาดใหญ่ โทร. 0 7423 1055, 0 7423 8518, 0 7424 3747 หรือที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ TAT Hatyai - ททท. สำนักงานหาดใหญ่