กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมออนไลน์ได้ถกเถียงกัน สำหรับหนังสั้นของแบรนด์ดังอย่าง Apple หลังจากปล่อยหนังสั้นชุด The Underdogs: Out Of Office ซึ่งถ่ายทำในเมืองไทย และสื่อภาพกรุงเทพฯ (ในฐานะประเทศไทย) ออกไปสู่สายตาชาวโลกเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ช่วงแรกของการปล่อยภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ ก็ดูเหมือนไม่มีอะไร เรื่องราวของทีมงานบริษัทแห่งหนึ่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากสหรัฐอเมริกามายังกรุงเทพฯ เพื่อปฏิบัติภารกิจงานให้ลุล่วง โดยแฝงเนื้อหาการขายเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ Apple สำหรับการทำงาน ชูจุดขายเรื่องสามารถนำไปใช้งานที่ไหนก็ได้ มีความหลากหลายครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น Macbook, iPhone, iPad หรือ Apple Vison Pro
เสียงตอบรับในช่วงแรกสาวก Apple หรือผู้ชมทั่วไปจำนวนไม่น้อย รู้สึกว่าการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เลือกเมืองไทยเป็นโลเคชั่นถ่ายทำโฆษณา ก็นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยโปรโมทประเทศไทยไปในตัว บ้างก็บอกว่าดูแล้วสนุกดี มีอารมณ์ผจญภัยคล้ายๆหนังดังอย่าง The Hangover II เมื่อหลายปีก่อน
แต่ประเด็นร้อนก็เกิดขึ้นหลังจากนั้น เมื่อเริ่มมีคนตั้งข้อสังเกตว่า การนำเสนอภาพกรุงเทพฯ ในโฆษณาหนังสั้นของบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple นั้น ช่างเต็มไปด้วยบรรยากาศความล้าหลัง ย้อนยุคกลับไปหลายสิบปี ขัดแย้งกับการโชว์เทคโนโลยีล้ำสมัยของผลิตภัณฑ์ โดยมีหลายซีน หรือหลายสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่า ในสายตาของทีมงานมองเมืองหลวงของไทยว่ายังเป็นเมืองด้อยพัฒนา ล้าหลัง แตกต่างจากภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน
ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ถ้าคนไม่เคยมาเมืองไทยดูโฆษณาชุดนี้แล้ว คุณยังรู้สึกอยากมาเที่ยวเมืองไทยจริงๆหรือ ?
เนื้อหาของ The Underdogs: Out Of Office
ทีมงานบริษัททำกล่องพัสดุจากสหรัฐอเมริกา 3 คน ต้องเดินทางมาติดต่องานนอกออฟฟิศเป็นครั้งแรก โดยเลือกประเทศที่สามารถทำกล่องพัสดุจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทาง Apple ได้เลือกประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางในการเดินทางของตัวละครหลักในครั้งนี้
ตลอดเส้นทางการเดินทางของทีมงานที่ได้เดินทางมายังประเทศไทย ต้องประสบกับปัญหามากมาย เช่น ด้านการสื่อสารทางด้านภาษา กระเป๋าเดินทางหาย การคมนาคมที่ดูมีความลำบาก ฯลฯ แต่ทีมงานก็ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ในการทำธุรกิจให้ราบรื่น และแก้ไขปัญหาได้ โดยเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยของ Apple นั้น สามารถนำไปใช้ชีวิตและการทำงานในประเทศอื่นๆได้ ไม่ว่าที่ใดในโลก
รัฐบาลมองช่วยส่งเสริม Soft Power ไทย
สำหรับมุมมองจากรัฐบาล มีความเห็นต่อโฆษณาชิ้นนี้เป็นเชิงบวก โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลพร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ ร่วมกับการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผ่าน Soft Power ของไทยที่เป็นเอกลักษณ์ ตามแนวนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ยินดีที่บริษัทด้านเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Apple ได้ถ่ายทำวิดีโอโฆษณาผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย โดยเนื้อหาภายในวิดีโอมีการสอดแทรก Soft Power ของไทยผ่านความสนุกสนานของการเดินทางท่องเที่ยวในไทย ไว้ในหลากหลายช่วงของโฆษณา ซึ่งเป็นโอกาสในการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม และอาหารไทยสู่ตลาดต่างประเทศ
แต่ละฉากของวิดีโอฯ ได้สอดแทรก Soft Power ของไทยไว้ เช่น อาหารไทย การแต่งกายโดยเสื้อและกางเกงลายช้าง การนวดแผนไทย การเดินทางด้วยรถตุ๊กตุ๊ก เรือ รถเมล์ รถไฟ ตลอดจนการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ อาทิ สถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช และจังหวัดระยอง สะท้อนความหลากหลายของการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ผู้คนเป็นมิตร เข้าถึงได้ง่าย พร้อมให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ เนื้อหาภายในวิดีโอฯ ยังสะท้อนถึงรูปแบบการทำงานของตัวละครที่สามารถทำจากที่ใดก็ได้ (Work from Anywhere) โดยไทยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การทำงานได้ในทุกแห่ง เนื่องจากมีระบบอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียร และความเร็วสูง สอดคล้องกับมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
ดราม่าฉ่ำโซเชียล! สะท้อน Apple มองประเทศไทยล้าหลัง
แม้รัฐบาลมองไปในเชิงบวก และมีผู้ชมคลิปแล้วรู้สึกสนุกสนานไปกับหนังสั้นชุดนี้ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ในทางกลับกันก็มีกระแสจากผู้ชมจำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นแตกต่างไป โดยมีมุมมมองว่า สิ่งที่ปรากฏในหนังสั้นของ Apple กำลังสื่อให้เห็นว่า บริษัทดังมองประเทศไทย หรือกรุงเทพฯ ว่ายังเป็นเมืองล้าหลัง แฝงความเหยียดตามทัศนคติของคนชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศอื่น
กระแสลบดังกล่าวที่มีต่อโฆษณาชิ้นนี้ ผู้ชมหลายคนอธิบายให้เห็นว่า เริ่มตั้งแต่การเลือกเกรดสีของฉากในบริษัทที่สหรัฐอเมริกาเป็นโทนสีสว่างสวยงาม แต่เมื่อตัดภาพมาเป็นฉากในเมืองไทย สังเกตได้ชัดเจนว่าการเกรดสี ถูกย้อมเป็นโทนเหลือง-ส้ม ที่ในเชิงการทำภาพยนตร์นั้น ทราบกันดีว่าเป็นสื่อสารถึงความล้าสมัย โลเคชั่นที่ห่างไกลความเจริญยังไม่พัฒนา ความเป็นประเทศโลกที่สาม หรือโทนสีของดินแดนที่มีความอันตราย ไม่น่าไว้ใจ
ชาวโซเชียลที่ไม่ชอบงานชิ้นนี้ ยังแสดงความเห็นถึงหลายฉากที่ปรากฏในภาพยนตร์โฆษณาว่า ถ่ายทอดกรุงเทพฯออกมาเป็นบรรยากาศของเมืองสุดล้าหลัง ไม่ว่าจะเป็นเลือกใช้สนามบินเล็กๆที่มีผู้คนแออัด มาถึงแล้วกระเป๋าเดินทางหาย รถแท็กซี่ที่มีความแปลกไปจากความจริง (เช่น การมีพวงมาลัยดอกไม้ห้อยไว้ที่สื่อสารคล้ายกับประเทศแถบเอเชียใต้) โรงแรมที่พักซึ่งเก่าโทรม ร้อนเพราะไม่มีเครื่องปรับอากาศ และมียุง แม้แต่โรงแรมใหม่ที่ตัวละครไปเข้าพักอีกแห่ง ก็ยังดูเป็นโรงแรมธรรมดาๆ ไม่ได้หรูหราอะไร การคมนาคมด้วยยานพาหนะกลิ่นอายย้อนยุค เป็นต้น
ทั้งนี้แก่นสำคัญของกลุ่มผู้ชมที่ไม่ชอบโฆษณาชิ้นนี้ เพราะมองว่า Apple พยายามสร้างภาพให้กรุงเทพฯ หรือเมืองไทย ยังไม่พัฒนา ถอยกลับไปเหมือนเมื่อราว 30-40 ปีก่อน แล้วสอดแทรกนัยเหยียดไว้ว่า แม้แต่การเดินทางไปประเทศที่มีความลำบากลำบน ล้าหลัง ยังไม่ค่อยเจริญ คุณก็สามารถใช้เทคโนโลยี Apple ในการทำงานได้
ทั้งนี้ ล่าสุด “ซี ศิวัฒน์” นักแสดง-พิธีกร ก็เป็นหนึ่งคนดังที่ออกมาโพสต์ถึงโฆษณาดังกล่าวผ่าน Instagram ส่วนตัวโดยระบุว่า “กูไม่ขำ! บอกเลยโคตรเฮีย ถ้าไม่เสียดายตังค์นะ แม่งเขวี้ยงทิ้งจริง”
คนต่างชาติรักเมืองไทย ออกมาตอบโต้ Apple
อีกหนึ่งกระแสในโซเชียลที่โดดมาร่วมวงดราม่าโฆษณาชิ้นนี้ พบว่า มีชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในเมืองไทย หรือรู้จักเมืองไทยดี เป็นจำนวนไม่น้อย ที่ออกมาปกป้อง และตำหนิ Apple ว่าโฆษณาชิ้นนี้ สื่อสารด้วยการดูถูกประเทศไทย เช่น เดวิด วิลเลียม (David William) ครูสอนภาษาอังกฤษชาวอเมริกัน อินฟลูฯคนดัง ที่ออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด ด้วยภาษาไทยแบบรัวๆ พร้อมทั้งประกาศสนับสนุนแบรนด์คู่แข่งอย่าง Samsung ทันที หลังจากเห็นโฆษณา Apple ชิ้นนี้
นอกจากนี้ ยังมีชาวต่างชาติที่อยู่เมืองไทยอีกหลายคน ที่ออกมาอัดคลิปว่าไม่เห็นด้วย ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง เพราะมองว่ากรุงเทพฯ ถูกนำเสนอผิดไปจากความจริง ทำให้ออกมาดูล้าสมัยย้อนยุคกลับไปหลายปีก่อน ทั้งๆที่ในโฆษณานั้น ขายภาพความทันสมัยของ iPhone 15 ที่เป็นยุคปัจจุบัน
ความต่างของสไตล์การท่องเที่ยวและภาพจำของวัย
ในอีกด้านหนึ่ง มีความเห็นจากสังคมออนไลน์เว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่แสดงความเห็นไว้ได้น่าสนใจเช่นกัน กล่าวโดยสรุป คือ สมาชิกพันทิปส่วนหนึ่งวิเคราะห์ว่า การถ่ายทอดภาพล้าสมัย หรือย้อนยุคของกรุงเทพฯ อาจเป็นภาพจำของชาวอเมริกันยุคก่อน ที่เคยมาเที่ยวกรุงเทพฯในยุค 80-90
การถ่ายทอดสิ่งต่างๆ จึงอาจเป็นแนวคิดของนักท่องเที่ยวสไตล์แบคแพ็คเกอร์ ที่เป็นความทรงจำต่อเมืองท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาในยุคนั้น จึงทำโฆษณาเพื่อต้องการสื่อถึงการถวิลหาอดีต รำลึกความหลัง มีกลิ่นอายแบบประสบการณ์ที่ตนเองเคยมาเมืองไทย
จึงมองว่าเป็นการโปรโมทประเทศไทย ถึงความสนุกสนาน คนไทยมีน้ำใจ ไม่ได้คิดว่าเป็นการดูถูกอะไร เพราะชิ้นงานโฆษณาก็ไม่ได้สื่อถึงด้านลบอื่นๆที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ สุดยอดเมืองท่องเที่ยวระดับโลก
เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ ก็มีสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ ความไร้ระเบียบ ความสกปรก ฯลฯ ไม่ต่างจากมหานครใหญ่หลายแห่งในโลก
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกรุงเทพฯ กับงานโฆษณา Apple ชิ้นนี้ ก็นับว่ามุมมองของคนที่ไม่ชอบ ก็มีเหตุผลที่พอเข้าใจได้เช่นกัน เพราะการนำเสนอภาพกรุงเทพฯ ให้ดูเป็นบรรยากาศย้อนยุคล้าหลังกลับไปหลายปี ก็ดูขัดแย้งกับสิ่งที่กรุงเทพมหานครเป็นอยู่จริงในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถิติและรางวัลด้านการท่องเที่ยวต่างๆที่กรุงเทพฯ ติดอยู่ในอันดับแนวหน้าของโลก กล่าวได้ว่า คนทั่วโลกที่เคยมาเยือนเมืองหลวงของไทย ย่อมรู้ดีว่า บรรยากาศของมหานครแห่งนี้มีความทันสมัยและครบเครื่องเรื่องท่องเที่ยวมากเพียงใด
รางวัลด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา เช่น อันดับ 1 ประเภทเมืองที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Best Cities in Asia-Pacific) โดย นิตยสาร Travel + Leisure Southeast Asia, Hong Kong and Macau นิตยสารท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ระดับแนวหน้าของเอเชีย
อันดับ 1 เมืองที่ดีที่สุด ในประเภทเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว (Destination) ในเอเชียแปซิฟิก โดยนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดัง DestinAsian
อันดับ 24 ในการจัดอันดับ 50 เมืองที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2024 โดยไทม์ เอาต์ (Time Out) สื่อดังของอังกฤษ
อันดับ 17 เมืองยอดนิยมในกลุ่มบุคลากรมากความสามารถประจำปี 2024 โดยบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป (BCG) ร่วมกับเดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) และเดอะ สเต็ปสโตน กรุ๊ป (The Stepstone Group)
อันดับ 1 เมืองที่มีนักเดินทางมาเยือนที่สุดในโลก เมื่อปีที่แล้ว โดย Travelness ซึ่งจัดอันดับโดยพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าพักค้างคืน และใช้จ่าย
ติดอันดับ โรงแรมที่ดีที่สุดในโลก 2023 อันดับ 5 โรงแรม Capella Bangkok, อันดับ 6 โรงแรม Mandarin Oriental Bangkok โดย “ลา ลิสเต้” (La Liste) ผู้จัดอันดับร้านอาหารและโรงแรมจากฝรั่งเศส
โรงแรมในกรุงเทพ 4 แห่ง ติดอันดับโรงแรมที่ดีที่สุดในโลก เมื่อปี 2023 โดย The World's 50 Best Hotels ได้แก่
อันดับ 3 Four Seasons Hotel Bangkok at Chao Phraya River, อันดับ 10 Mandarin Oriental Bangkok, อันดับ 11 Capella Bangkok และอันดับ 42 The Siam
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline