xs
xsm
sm
md
lg

“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย (ภาพ : กรมศิลปากร)
ทำความรู้จักกับ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” มรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย แหล่งสีมาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีร่องรอยการใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ประเทศไทยมีมรดกโลกเพิ่มขึ้นอีกแห่งแล้ว หลังจากที่ยูเนสโก เพิ่งประกาศขึ้นทะเบียนให้ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยเป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย และเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของไทย

และที่พิเศษกว่านั้นคือ ทำให้ จ.อุดรธานี มีแหล่งมรดกโลกถึง 2 แห่งเป็นจังหวัดแรกในเมืองไทย คือ มรดกโลกบ้านเชียง และมรดกโลกภูพระบาท

ชื่อของ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก แต่ในวันนี้ที่ได้เป็นมรดกโลกแล้ว ก็น่าจะมีหลายๆ คนที่อยากทำความรู้จักสถานที่แห่งนี้มากขึ้น โอกาสนี้จึงชวนมาสำรวจมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (ภาพ : กรมศิลปากร)
“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทาง 67 กิโลเมตร

สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะพิเศษ คือ บริเวณนี้ปรากฏโขดหินและเพิงหินทราย กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อครั้งอดีตบริเวณนี้ต้องถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ มีการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นานๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลกๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ราว 2,500 – 3,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคก่อนส่วนหนึ่งพักอาศัยอยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติ มีหลายจุดในภูพระบาทที่พบสถานที่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยอย่างห้องนอนและห้องครัวมาก่อน เพราะพบภาพเขม่าควันเกาะติดตามเพิงหิน ยามเวลาว่างมนุษย์ยุคหินก็ได้ขีดเขียนภาพ เช่น ภาพ คน ภาพสัตว์ คงไว้ประดับผนังบ้าน วัสดุที่ใช้ขีดเขียนก็ได้จากสิ่งใกล้ตัวอย่างสีจากยางไม้ธรรมชาติ เลือดสัตว์บางชนิด

มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตั้งแต่ยุคก่อน (ภาพ : กรมศิลปากร)
จากยุคก่อนประวัติศาสตร์มาถึงสมัย “ทวารวดี” อิทธิพลของทวารวดีได้ครบคลุมพื้นที่ภูพระบาทด้วย จากเพิงพักของมนุษย์ยุคหิน ภูพระบาทถูกดัดแปลงจากโขดหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีคติการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบเอาไว้ ต่อมาก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเขมร ท้ายที่สุดได้รับอิทธิพลโดยตรงจากวัฒนธรรมล้านช้าง พบว่ามีร่อยรอยของงานศิลปกรรมสกุลช่างลาวอยู่มิใช่น้อยบนภูพระบาท

พื้นที่ภูพระบาทนับเป็นแหล่งสีมาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (สีมา หรือ เสมา คือ เขตแดนที่สำหรับภิกษุทำสังฆกรรม) ในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางธรณีวิทยาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ในฐานะของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม

กลุ่มก้อนหิน แท่งหิน รูปทรงประหลาด บนลานหินอันกว้างใหญ่ ที่คนสมัยก่อนได้นำมาผูกแต่งเป็นเรื่องราว “ตำนานรักนางอุษา-ท้าวบารส” ที่ท้าวบารสกับนางอุสาแม้จะรักกันอย่างสุดซึ้ง แต่ด้วยอุปสรรคต่างๆ ทำให้นางอุสาผู้ผิดหวังในความรัก ทั้งจากการที่ท้าวบารสสังหารพระยากงพานบิดาของตน และการที่ท้าวบารสมีมเหสีอยู่ก่อนหน้านั้นถึง 10 นาง สุดท้ายแล้วนางอุสาตรอมใจกลับไปสิ้นชีวิตบนหอหินสูงที่ตัวเองอาศัยอยู่ ทำให้ท้าวบารสเมื่อรู้ข่าวก็ตรอมใจตายตามไปด้วย

หอนางอุษา
ทำให้สถานที่และก้อนหินแปลกๆ บริเวณภูพระบาท มีชื่อเรียกขานเกี่ยวพันกับตำนานรักนางอุสา โดยเฉพาะไฮไลต์อย่าง “หอนางอุษา” มีลักษณะเป็นเพิงหินสูงรูปดอกเห็ด สูงจากพื้นประมาณ 10 เมตร มีการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน ก่อเป็นห้องที่มีประตูและหน้าต่างขนาดเล็กอยู่ที่ผนังทั้งสอง ใช้ประกอบพิธีกรรมหรือบำเพ็ญเพียรได้เป็นอย่างดี มีใบเสมาหินขนาดกลางจนถึงใหญ่ปักล้อมรอบหอนางอุสาเอาไว้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

หอนางอุษา (ภาพ : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท)
นอกจากนี้ ยังมีจุดอื่นๆ ในภูพระบาทที่ก็น่าสนใจไม่น้อย อาทิ “ถ้ำพระ” เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่เกิดจากก้อนหินขนาดใหญ่วางทับซ้อนกันตามธรรมชาติ พบการสกัดหินก้อนล่างออกจนกลายเป็นห้องขนาดใหญ่ รวมไปถึงสลักรูปประติมากรรมทางศาสนาเอาไว้ในห้องอีกด้วย ด้านนอกของถ้ำพระมีร่องรอยการปักใบเสมาไว้ตามทิศต่างๆ มีการสลักเป็นภาพพระพุทธรูปนั่งประทับภายในซุ้มที่มีการสลักลายอย่างงดงาม 2 ซุ้มด้วยกัน ด้านบนเป็นแถวพระพุทธรูปองค์เล็กๆยืนเรียงกันอยู่งดงามมาก ส่วนผนังห้องอีกด้านสลักเป็นภาพพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกขนาดใหญ่ 3 องค์ แต่ชำรุดแตกหักไปมาก พระพุทธรูปยืนองค์ในสุดมีร่องรอยการสลักหินตรงส่วนของผ้านุ่งเป็นแบบผ้าโจงกระเบนสั้นมีลวดลายสวยงามบ่งบอกถึงการผลัดเปลี่ยนยุคสมัยของกลุ่มคนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่

ถ้ำพระ (ภาพ : กรมศิลปากร)
“คอกม้าน้อย” คอกม้าน้อยมีลักษณะเป็นเพิงหินที่มีการสกัดแต่งโดยฝีมือของมนุษย์ยุคหินและมนุษย์ยุคต่อๆ มา พบใบเสมาปักอยู่โดยรอบทิศทั้งหก มีภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ด้วย ใกล้ๆ กันเป็น “คอกม้าท้าวบารส” ซึ่งตามตำนานเชื่อว่าก่อนที่ท้าวบารสจะลอบเข้าไปหานางอุสาได้นำม้ามาผูกไว้ที่นี่

“หีบศพนางอุสาและหีบศพท้าวบารส” ซึ่งตามตำนานกล่าวไว้ว่านางได้ตรอมใจตายหลังจากหนีกลับจากเมืองของท้าวบารส เนื่องจากถูกกลั่นแกล้ง ส่วนท้าวบารสเมือได้ทราบข่าวจึงออกติดตามนางอุสาจากนั้นพระองค์ก็ตรอมใจตายไปในที่สุด ลักษณะของหีบศพนี้ คือ การขุดเจาะหินจนเรียบขนาดใหญ่พอที่คนจะสามารถเข้าไปนอนอยู่ได้

คอกม้าน้อย (ภาพ : กรมศิลปากร)

หีบศพท้าวบารส
“บ่อน้ำนางอุสา” บ่อน้ำที่ตามตำนานนางอุสา-ท้าวบารส กล่าวว่าเป็นที่ซึ่งนางอุสามาเล่นน้ำก่อนพบท้าวบารส เป็นบ่อน้ำที่เจาะสกัดลงไปในพื้นหิน การเจาะๆเป็นรูปทรงกรวยให้ค่อยๆแหลมลึกลงไปในเนื้อหิน บ่อน้ำแห่งนี้สันนิษฐานว่าคงเป็นแหล่งน้ำบริโภคของคนในสมัยโบราณ หรือ อาจใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมบางอย่าง

“วัดพ่อตา” เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่เกิดจากหินสองก้อนวางซ้อนกัน ได้พบร่องรอยของการสกัดดัดแปลงผนังหินให้เป็นศาสนสถานหรือวัด และมีร่องรอยการระบายสีแดงเป็นภาพประภามณฑลของพระพุทธรูป 3 องค์ เรียงต่อกัน ถัดออกไปทางด้านทิศใต้ของวัดพ่อตาประมาณ 5 เมตร มีเพิงหินขนาดเล็ก ที่มีการตกแต่งสกัดแกนหินด้านในกลายเป็นห้องโล่ง เรียกกันว่า โบสถ์วัดพ่อตา หรือ ถ้ำพระวัดพ่อตา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นที่สร้างขึ้นใหม่ 3 องค์ และเก็บรักษาชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินจำนวนหนึ่ง

วัดพ่อตา
สำหรับ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี 2547 และในปี 2559 สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites – ICOMOS) ได้แจ้งให้ทางการไทยทราบเกี่ยวกับการเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของทางการไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมของเสมาหินกับพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่โดดเด่นของอุทยานฯ รวมทั้งหากเป็นไปได้ เสนอให้พิจารณาเกณฑ์และขอบเขตการขึ้นทะเบียนอุทยานฯ ที่ทางการไทยเสนอ

จนกระทั่งในปี 2567 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) 

(ภาพ : กรมศิลปากร)
ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 - 16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ 

และเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า) ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน

(ภาพ : กรมศิลปากร)
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน ภูพระบาทเป็นมรดกโลกในครั้งนี้

(ภาพ : กรมศิลปากร)

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น