ส่งเสียงเฮดังๆ อีกครั้ง กับมรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย โดยในวันที่ 28 ก.ค. - 12 ส.ค. นี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ร่วมเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
อีกหนึ่งข่าวดีของเมืองไทยเมื่อ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย
“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทาง 67 กิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นานๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลกๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมา ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 54 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนใน วัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของ มนุษย์ได้เป็นอย่างดี
สำหรับ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) โดยเป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย และทำให้อุดรธานีมีแหล่งมรดกโลกถึง 2 แห่งเป็นจังหวัดแรกในเมืองไทย คือ มรดกโลกบ้านเชียง และมรดกโลกภูพระบาท
ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 - 16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
และเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า) ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน
โดยปัจจุบัน ประเทศไทย มีมรดกโลก 8 แหล่ง ได้แก่
มรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่ง คือ
-เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (ปี 2534)
-นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (ปี 2534)
-แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (ปี 2535)
-เมืองโบราณศรีเทพ (ปี 2566)
-อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (ล่าสุด ปี 2567)
มรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่งคือ
-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง (ปี 2534)
-กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ปี 2548)
-กลุ่มป่าแก่งกระจาน (ปี 2564)
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน ภูพระบาทเป็นมรดกโลกในครั้งนี้
*ภาพจาก กรมศิลปากร
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline