xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ “อ่างกา” สวยแปลกตา ป่าดึกดำบรรพ์ บนยอด “ดอยอินทนนท์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี



พาไปสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของ “อ่างกา” บนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นป่าที่มีลักษณะพิเศษ บางช่วงดูคล้าย “ป่าโบราณ” หรือ “ป่าดึกดำบรรพ์” ที่ดูสวยงามแปลกน่าทึ่งไม่น้อย

ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะเป็นที่ตั้งของจุดที่สูงที่สุด ในเมืองไทย หรือ “จุดสูงสุดแดนสยาม” บนระดับความสูง 2,565.3341 เมตร จากระดับน้ำทะเลแล้ว ขุนเขาแห่งนี้ยังมีสถานที่สวย ๆ งาม ๆ ให้ท่องเที่ยวเช็กอินกันเป็นจำนวนมาก

หนึ่งในนั้นก็คือ “อ่างกา” หรือ “อ่างกาหลวง” ที่ถูกยกให้เป็นผืนป่าอันน่ามหัศจรรย์แห่งหนึ่งของเมืองไทย


อ่างกา เป็นชื่อเดิมของดอยอินทนนท์ ในอดีตมีเรื่องเล่าขานกันว่า บนยอดดอยสูงที่สุดในสยามมี “อ่างกา” เป็นแอ่งน้ำจืดที่ฝูงกาจำนวนมากชอบลงไปเล่นน้ำ จึงเป็นที่มาของ “ดอยอ่างกา” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “ดอยอินทนนท์” ตามพระนามของ “พระเจ้าอินทรวิชยานนท์” ในเวลาต่อมาหลังจากท่านสิ้นพระชนม์


อ่างกา เป็นหย่อมป่าที่มีลักษณะพิเศษมีระบบนิเวศแตกต่างจากผืนป่าทั่วไปในเมืองไทย ปัจจุบันทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้จัดสร้าง “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวเดินสัมผัสมนต์เสน่ห์ของผืนป่าอ่างกากันอย่างใกล้ชิด

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา มีทางเข้าอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้ามกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งช่วงแรกนี้จะมีเส้นทางลาด “อารยสถาปัตย์” ให้ผู้พิการนำรถวีลแชร์ ไปจอดที่ระเบียงชมวิวเพื่อชมทิวทัศน์ของผืนป่าอ่างกาในมุมสูง


ต่อจากนั้นจะเป็นเส้นทางเดินเท้าที่มีความลาดในช่วงแรกสู่ปากทางเข้า-ออก ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ที่เป็นทางเดินวงรอบระยะทาง 320 เมตร บนสะพานไม้ที่สร้างทอดตัวกลมกลืนไปกับผืนป่า ระหว่างทางจะมีฐานป้ายสื่อความหมาย บอกเล่าข้อมูลสิ่งน่าสนใจต่าง ๆ ในผืนป่าอ่างกาแห่งนี้ อาทิ ป่าดึกดำบรรพ์ ข้าวตอกฤาษี กุหลาบพันปี ป่าพรุภูเขา วิถีพืชอิงอาศัย และนกชอบหนาว เป็นต้น


โดยทางเข้าจะอยู่ฝั่งขวา ทางออกจะอยู่ทางซ้าย ซึ่งใช้เวลาเดินประมาณ 20-30 นาที หรืออาจจะเป็นชั่วโมงสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ

เมื่อเดินเข้าไปอ่างกา เราจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของป่าที่ดูสวยงามแปลกตา ให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากป่าทั่ว ๆ ไปในบ้านเรา รวมถึงมีป่าหลากรูปแบบอยู่ผสมกลมกลืนกันไป


นอกจากลักษณะของ “ป่าดิบเขา” บนดอยสูงอายุกว่า 4,300 ปีแล้ว กลางผืนป่าอ่างกายังเป็นแอ่งซับน้ำในลักษณะของ “ป่าพรุภูเขา” บนยอดดอยที่สูงที่สุดในเมืองไทย อันเป็นที่มาของชื่อดอยอ่างกา
 
นอกจากนี้อ่างกายังโดดเด่นไปด้วย ลักษณะของ “ป่าเมฆ” ที่เกิดจากสภาพอากาศหนาวเย็นและมีความชื้นสูงตลอดทั้งปี ทำให้บนนี้เต็มไปด้วยวิถีของ “พืชอิงอาศัย” ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของป่าเมฆ


วิถีพืชอิงอาศัย เกิดจากบรรดาพืชและต้นไม้น้อย-ใหญ่ ที่ต่างปรับตัวมาแอบอิงพึ่งพาอาศัยกันและกัน ทำให้ตามโคน ลำต้น กิ่งก้าน ของต้นไม้ใหญ่-น้อยในป่าเมฆ เต็มไปด้วยพืชอิงอาศัย จำพวก มอส เฟิร์น ฝอยลม กล้วยไม้ ขึ้นปกคลุมหนาแน่น กลายเป็นต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “ต้นไม้ใส่เสื้อผ้า” ซึ่งเมื่อมองโดยรวมจะให้ความรู้สึกคล้ายกับ “ป่าโบราณ” หรือ “ป่าดึกดำบรรพ์” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์อันโดดเด่นของดอยอินทนนท์ อันเกิดจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติที่น่าทึ่งไม่น้อย


ขณะที่ตามพื้นดินใต้ต้นไม้ในบริเวณป่าดึกดำบรรพ์ช่วงหนึ่งจะเต็มไปด้วย “ข้าวตอกฤาษี” หรือ “สแฟกนัมมอส” ซึ่งเป็นพืชไร้ดอกจำพวกมอสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย รวมถึงเป็นมอสเพียงชนิดเดียวที่มีชื่อเรียกในภาษาไทย

ข้าวตอกฤๅษีเป็นมอสมีคุณสมบัติพิเศษ มันชอบขึ้นในที่ชื้นและหนาวเย็น ทั้งยังทนทานต่อการสูญเสียน้ำได้ดี ในช่วงฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำน้อยมันจะจำศีล ส่วนในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำมากมันก็จะกลับมาสวยสดเขียวชอุ่มเต็มตามพื้นดินดูคล้ายกับพรมสีเขียวผืนใหญ่ที่ขึ้นประดับในผืนป่าอ่างกา


และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา บนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งถือเป็นเส้นทางเดินป่าอันสวยงามและน่าทึ่งแห่งหนึ่งของเมืองไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น