xs
xsm
sm
md
lg

สักการะ “พระธาตุ-เจดีย์ 4 ภาค” ทำบุญสุขใจช่วงเข้าพรรษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สักการะ “พระธาตุ-เจดีย์ 4 ภาค”
ชวนเข้าวัดทำบุญไหว้พระในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ รวมถึงการไปสักการะพระธาตุ-พระเจดีย์ 4 ภาค เพื่อความเป็นวิริมงคลในชีวิต เริ่มจาก พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่, พระธาตุพนม นครพนม, พระปฐมเจดีย์ นครปฐม และ พระบรมธาตุเมืองนคร นครศรีธรรมราช

มาถึงช่วงเทศกาลเข้าพรรษาแล้ว ในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2567 และยาวไปจนตลอด 3 เดือนในช่วงฤดูฝน ซึ่งในช่วงเข้าพรรษาแบบนี้ หลายคนก็ตั้งใจจะทำบุญ รักษาศีล เพื่อความเป็นสิริมงคลและความสุขทางใจ

และนอกจากจะไปเข้าวัด ฟังธรรม ถวายเทียนพรรษา ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะทำกันในช่วงนี้แล้ว ก็อยากจะชวนไปสักการะพระธาตุ-เจดีย์ 4 ภาค ทั้งทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้

พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
“พระธาตุดอยสุเทพ” ตั้งอยู่ภายใน “วัดพระธาตุดอสุเทพ” สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 โดยพระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระ นำมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งได้ขุดพบจากนิมิตฝันของพระมหาสุมนเอง เมื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสู่เชียงใหม่แล้ว พระธาตุได้แยกเป็นสองส่วน พระเจ้ากือนาทรงเลื่อมใส ได้อัญเชิญบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก

ส่วนองค์ที่สอง ได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างเพื่อเสี่ยงทายว่า ช้างหยุดที่ใด ก็จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่นั่น แล้วปล่อยช้างไป ช้างได้มุ่งหน้าไปสู่ทิศตะวันตก ขึ้นไปยังดอยสุเทวะฤาษี (ดอยสุเทพ) แล้วมาหยุดอยู่ที่ยอดดอย พระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ ณ ที่นั้น มีขนาดสูง 5 วา

พระธาตุดอยสุเทพ

ขึ้นบันไดนาคไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ
ในสมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ของเชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ โดยขยายพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม สูง 11 วา กว้าง 6 วา และให้ช่างนำทองคำมาทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และราชโอรสของพระเมืองเกษเกล้าได้ทรงตีทองคำแผ่นติดไว้ที่องค์พระธาตุ ต่อมา พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูนได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น

ส่วนการสร้างถนนขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพนั้น มาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 โดยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ชักชวนชาวบ้านที่ศรัทธาให้ร่วมมือกันสร้างถนนจากเชิงดอยไปจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ รวมระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างราว 6 เดือน

ปัจจุบัน วัดพระธาตุดอยสุเทพถือว่าเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ หากว่ามาเที่ยวที่เชียงใหม่แล้วก็มักจะหาโอกาสมาเยี่ยมชมสักครั้งหนึ่ง โดยการขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ จากด้านล่างสามารถขับรถขึ้นไปจอดไว้ลานจอดรถด้านบน หากไม่มีรถหรือไม่ชำนาญทาง ก็มีรถแดงเส้นทางขึ้น-ลงดอยสุเทพให้บริการจากเชิงดอย (สอบถามค่าบริการบริเวณจุดขึ้นรถ) มาถึงแล้วก็สามารถเลือกการขึ้นไปบนพระธาตุได้ 2 วิธี คือ เดินขึ้นบันไดนาค จำนวน 300 ขั้น ไปยังด้านบน หรือจะเลือกใช้บริการกระเช้าขึ้น-ลง วัดพระธาตุดอยสุเทพก็ได้

พระธาตุพนม นครพนม
พระธาตุพนม จ.นครพนม
“พระธาตุพนม” ตั้งอยู่ภายใน “วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร” ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม โดยเป็นพระธาตุที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน จนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระธาตุที่เก่าแก่มากที่สุดในแว่นแคว้นอีสาน ซึ่งได้ถูกจารึกไว้ในภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

ประวัติการก่อสร้างพระธาตุพนมนั้น ได้ถูกกล่าวไว้ว่า พระธาตุพนมเป็นที่ประดิษฐาน พระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้ โดยองค์พระธาตุถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณปี พ.ศ. 8 โดยกษัตริย์ห้าองค์คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันทเสน พระยาอินทปัต พระยาคำแดง และพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมไพร่พล ในส่วนลวดลายที่เรือนธาตุนั้นตำนานเล่าว่าตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะสมัยทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ 13-15 นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาคอีสาน

พระธาตุพนม

พระธาตุพนม
หลังจากนั้นพระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์เรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2485 วัดพระธาตุพนมฯ ได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร และต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม ปีพ.ศ. 2518 เกิดฝนตกหนักบวกกับความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพระธาตุพนมจึงได้ทรุดพังทลายลง นำความเศร้าเสียใจมาสู่พุทธศาสนิกชน แต่ด้วยความศรัทธา องค์พระธาตุพนมจึงได้รับการบูรณะใหม่ซึ่งได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522

ปัจจุบัน วัดพระธาตุพนม ยังได้รับการดำเนินการศึกษาและดำเนินงานขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในอนาคตอีกด้วย โดยอยู่ในขั้นตอนการเสนอองค์พระธาตุพนมเข้าสู่บัญชีเบื้องต้น หรือที่เรียกว่า Tentative List

พระปฐมเจดีย์ นครปฐม
พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
“องค์พระปฐมเจดีย์” ถือเป็นพระมหาเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ภายใน “วัดพระปฐมเจดีย์” เดิมมีชื่อเรียกว่า “พระธมเจดีย์” ประวัติความเป็นมาขององค์พระปฐมเจดีย์มีมาอย่างยาวนานย้อนกลับไปถึงยุคสุวรรณภูมิ คาดว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิ องค์พระปฐมเจดีย์นั้นเป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่ รูปทรงระฆังคว่ำ โครงสร้างเดิมเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นใหญ่ ก่อด้วยอิฐ ก่อนจะได้รับการปฏิสังขรณ์ในครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ขณะที่ทรงยังผนวชได้ธุดงค์และพบองค์พระปฐมเจดีย์ที่อยู่ในสภาพเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม

ปัจจุบัน หากเดินทางมาถึงภายในตัวเมืองนครปฐม ก็จะสามารถมองเห็นองค์พระปฐมเจดีย์ได้จากที่ไกลๆ เรียกว่าเป็นหมุดหมายใจกลางเมืองนครปฐมกันเลยทีเดียว

พระปฐมเจดีย์

พระร่วงโรจนฤทธิ์
เมื่อมาถึงองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว ต้องไปสักการะ “พระร่วงโรจนฤทธิ์” เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติศิลปะแบบสุโขทัย ประทับยืนอยู่บนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว และพระบาทไม่เสมอกัน เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดนครปฐมและพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไป ชื่อเต็มของพระร่วงโรจนฤทธิ์ก็คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ แต่ประชาชนทั่วไป จะเรียกว่า “หลวงพ่อพระร่วง” หรือ “พระร่วงโรจนฤทธิ์”

และในบริเวณองค์พระฯ ก็ยังมีสิ่งสำคัญอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น พระบรมสารีริกธาตุ ศาลเจ้าพ่อปราสาททอง ศาลเจ้าพ่อเสือ พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปศิลาขาว เป็นต้น

พระบรมธาตุเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช
“พระบรมธาตุเมืองนคร” ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครศรีธรรมราช และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของพุทธศาสนิกชน ซึ่งผู้มาเยือนเมืองนครศรีไม่ควรพลาดการไปกราบสักการะด้วยประการทั้งปวง

พระบรมธาตุเมืองนคร หรือ “พระมหาธาตุเมืองนคร” หรือ “พระบรมธาตุเจดีย์” ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุทองคำ” เนื่องจากปลียอดหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม แต่ในยามที่แสงแดดตกต้ององค์พระธาตุ เหลื่อมเงากลับทาบทอไม่ถึงพื้นจนดูเหมือนพระธาตุไม่มีเงา จึงได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุไร้เงา” อีกฉายาหนึ่ง

พระบรมธาตุเมืองนคร

บันไดทางขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุ
ตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณ ปี พ.ศ.854 ในปี พ.ศ.1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับสร้างเจดีย์องค์ใหม่ทรงศาญจิครอบพระบรมธาตุองค์เดิม ต่อมาในปี พ.ศ.1770 มีพระภิกษุจากลังกามาบูรณะองค์พระบรมธาตุให้เป็นแบบทรงลังกาหรือทรงโอคว่ำดังที่เห็นในปัจจุบัน

บริเวณบันไดทางขึ้นสู่องค์พระบรมธาตุเป็น “วิหารพระม้า” ด้านซ้าย-ขวาของบันได มีรูปปั้นของเทพผู้พิทักษ์คือ ท้าวจตุคาม-รามเทพ ประดิษฐานอยู่ขนาบข้างประตูทางเข้า-ออก องค์พระธาตุ ท้าวจตุคาม-รามเทพ เป็นเทพที่เชื่อว่าคือท้าวจตุคามรามเทพ อันลือลั่นแห่งเมืองนคร นอกจากเทพทั้งสองแล้วที่นี่ยังมีผู้พิทักษ์อื่นๆ อาทิ ท้าวจตุโลกบาล นาค ครุฑ สิงห์ เป็นต้น

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น