xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทาง “9 วัดภาคเหนือ” ไหว้หลวงพ่อ-ขอพรเทพทันใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่
ปักหมุดเส้นทาง “9 วัดภาคเหนือ” ไหว้หลวงพ่อ-ขอพรเทพทันใจ สายมูห้ามพลาด อิ่มบุญ อิ่มใจ ตลอดเส้นทาง

เข้าสู่ช่วงหน้าฝน ก็ถือว่าเป็นกรีนซีซั่นของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่วิวทิวทัศน์จะดูเขียวขจีสวยงามเป็นพิเศษ

แต่นอกจากการจะไปชมวิวสวยๆ กับหลากหลายสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ก็ยังมีเส้นทางไหว้พระขอพร 9 วัดภาคเหนือ ที่สายมูไม่ควรพลาด ชวนไปอิ่มบุญอิ่มใจกันได้ตลอดเส้นทาง

หลวงพ่อพูดได้ วัดพระธาตุดอยคำ

หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ
วัดพระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่
“วัดพระธาตุดอยคำ” อยู่ด้านหลังอุทยานหลวงราชพฤกษ์ สร้างในรัชสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญชัย โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 1230 ประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ศาลาการเปรียญกุฏิสงฆ์ และพระพุทธรูปปูนปั้น เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ"

ขึ้นมาถึงด้านบนวัดแล้วจะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง ชื่อว่า “หลวงพ่อพูดได้” จากนั้นเดินเข้าไปด้านในวัด ไปสักการะพระธาตุดอยคำ และพระพุทธรูปสำคัญองค์ต่างๆ โดยเฉพาะ “หลวงพ่อทันใจ” ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพญากือนา กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ปัจจุบันมีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ มีผู้นิยมเดินทางมาขอพรและบนบานสานกล่าว เมื่อได้ผลสำเร็จสมดังที่ตั้งใจ ก็มักจะถวายดอกมะลิเพื่อแก้บน ซึ่งหากใครต้องการซื้อพวงมาลัยดอกมะลิเพื่อแก้บน จะมีขายอยู่หลายร้านบริเวณริมถนนปากทางเข้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์

ไหว้พระทำบุญกันแล้ว อย่าลืมเดินออกมาบริเวณจุดชมวิวด้านนอก ที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบเมืองเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งบริเวณสนามบินเชียงใหม่ และอุทยานหลวงราชพฤกษ์

พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน

พระมหามุนีศรีหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัย
วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
“วัดพระธาตุหริภุญชัย” เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำพูน และเป็นที่ประดิษฐาน “พระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูน และพระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกา (ไก่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ภายในประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุอยู่ในโกศทองคำ ซึ่งในแต่ละวันจะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาไหว้องค์พระธาตุหริภุญชัยกันไม่ได้ขาด

สิ่งน่าสนใจเด่นๆ ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่ไม่ควรพลาด เริ่มจาก “พระเจ้าทองทิพย์” ที่ประดิษฐานอยู่อุโบสถพระทองทิพย์ ที่อยู่ทางขวามือ ด้านหน้าก่อนถึงทางเข้าในเขตกำแพงวัด เดินผ่านซุ้มประตูโขงเข้าเขตกำแพงวัดพระธาตุหริภุญชัย จะพบกับ “วิหารหลวง” ตั้งโดดเด่นอยู่บริเวณด้านหน้าขององค์พระธาตุหริภุญชัย ภายในวิหารหลวงประดิษฐาน “พระมหามุนีศรีหริภุญชัย” เป็นองค์พระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สีทองเหลืองอร่ามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา ขณะที่ข้างองค์พระประธานมีองค์พระบริวาร 2 องค์อยู่ซ้าย-ขวาและพระพุทธรูปองค์เล็กขนาดต่างอีกหลายองค์

นอกจากวิหารหลวงและองค์พระธาตุหริภุญชัย ภายในเขตพุทธาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย ยังมีสิ่งน่าสนใจ ได้แก่ หอธรรม หอระฆัง-กังสดาล ปทุมวดีเจดีย์หรือสุวรรณเจดีย์ เขาพระสุเมรุ วิหารพระเจ้าพันตน รอยพระพุทธบาท 4 รอย หลวงพ่อทันใจ เป็นต้น

วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

พระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
“วัดพระธาตุลำปางหลวง” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณที่มีความสวยงาม แนะนำว่าควรหาโอกาสมาให้ได้สักครั้งในชีวิต เพราะเป็นพระธาตุประจำปีปีฉลู (วัว)

ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ขอพรจากองค์พระธาตุ เจดีย์ เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ทรงล้านนาหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองฉลุลายมีความงดงามเป็นอย่างมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมีพระวิหารหลวง ที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทองอยู่ภายใต้ซุ้มปราสาททอง เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในลำปาง และด้านหลังมีพระเจ้าทันใจให้ได้ไหว้ขอพร ที่เชื่อกันว่าขอแล้วจะสัมฤทธิ์ผลดังใจหมาย

มีวิหารลายคำ ที่งดงามด้วยศิลปะล้านนาฝีมือช่างลำปาง มีลวดลายลงรักปิดทองสวยงามมาก ด้านในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์หลวงเมืองเขลางค์ (หลวงพ่อพระพุทธ) เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์สาม ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่มีลักษณะสวยงามที่สุดองค์หนึ่งของล้านนา และยังมีสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่ควรพลาดชม คือ การเข้าไปชม “พระธาตุหัวกลับ” หรือ “เงาพระธาตุ” ในมณฑปพระพุทธบาท ที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์กล้องรูเข็ม ที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเข้าไปชมได้เท่านั้น

พระเจ้าทันใจ วัดศรีชุม

วิหารพระเจ้าทันใจ

ภายในวิหารพระเจ้าทันใจแกะสลักด้วยไม้สักทอง
วัดศรีชุม จ.พะเยา
“วัดศรีชุม” มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่าง “พระเจ้าทันใจ” พระพุทธรูปทองสำริด ศิลปะเชียงแสน อายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในละแวกนั้น โดยพระเจ้าทันใจ ได้หายออกไปจากวัดแห่งนี้ร่วมร้อยปี ก่อนจะถูกอัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่เดิมเมื่อปี 2554

จากนั้น จึงมีแนวคิดที่จะสร้าง “วิหารพระเจ้าทันใจ” เพื่อประดิษฐานองค์พระเจ้าทันใจ โดยเป็นวิหารปูปั้นสีขาวสะอาดตา ศิลปะล้านนาประยุกต์ ตั้งอยู่บนฐานยกสูงจากพื้นดิน 6 เมตร พื้นที่ด้านล่างวิหารจะทำเป็นถ้ำวิปัสสนา สำหรับผู้ที่ต้องการมาถือศีลทำบุญในบรรยากาศเงียบสงบ

ส่วนด้านในวิหาร ภายในแกะสลักด้วยไม้สักทองทั้งหมด บอกกล่าวเรื่องราวของชาดกพระพุทธเจ้า 10 ชาติ รูปสัตว์ในวรรณคดี ตลอดจนลวดลายลายกนก-ลายไทย ส่วนบริเวณที่ตั้งประประธาน ซึ่งเมื่อวิหารแล้วเสร็จจะอัญเชิญพระเจ้าทันใจมาประดิษฐาน ก็ยังมีรูปเหมือนหลวงปู่ทวดและเกจิดังทั่วประเทศ ที่แกะสลักด้วยไม้สักทอง โดยขณะนี้วิหารพระเจ้าทันใจกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง แต่ก็เปิดให้พุทธศาสนิกเข้าชมด้านในได้

หลวงพ่อพระเจ้าหลวง วัดพระธาตุช้างค้ำ

พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ จ.น่าน

พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร จ.น่าน
“วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” เดิมชื่อ “วัดหลวงกลางเวียง” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1949 โดยพญาภูเข่ง เจ้าผู้ครองนครน่าน ภายในมีวิหารขนาดใหญ่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา เสาภายในพระวิหารมีขนาดใหญ่ขนาด 2 คนโอบ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูป นามว่า “หลวงพ่อพระเจ้าหลวง”

ด้านหลังของพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน โดดเด่นด้วยลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา มีช้างปูนปั้นตั้งอยู่ในลักษณะของฐานรองรับไว้รอบด้าน คาดกันว่าน่าจะรับอิทธิพลมาจากศิลปะของสุโขทัย เช่นเดียวกับที่วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ส่วนด้านข้างพระวิหารเป็น “หอพระไตรปิฎก” ที่มีสถาปัตยกรรมเดียวกันกับวิหารหลวง ปัจจุบัน ภายในหอพระไตรปิฎกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำปางลีลา ศิลปะสุโขทัยอันงดงามนามว่า “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี”

พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

พระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุแช่แห้ง
วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
“วัดพระธาตุแช่แห้ง” เป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน ห่างจากตัวเมืองน่านแค่ราว 3 กิโลเมตร พระธาตุแช่แห้งถือเป็นพระธาตุประจำปีเถาะหรือปีกระต่าย องค์พระธาตุเป็นแบบล้านนาสีทองสุกปลั่ง เล่ากันว่าพญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย

บริเวณด้านข้างองค์พระธาตุยังเป็นที่ตั้งของวิหารหลวงที่ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามให้ได้สักการะเป็นสิริมงคลกัน ส่วนด้านหน้าวิหาร ตรงหัวบันไดทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว ประดับยืนเฝ้าอยู่ ซึ่งรูปพญานาค 8 ตัว ปั้นเป็นพญานาคเกี่ยวกระหวัดกันเป็น 3 ชั้น ถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลปกรรมสุดคลาสสิกของวัดแห่งนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ในวัดพระธาตุแช่แห้งยังมี องค์พระนอน พระเจ้าทันใจ องค์เจดีย์สีขาวที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า รวมไปถึงบันไดนาคตัวยาวตรงปากทางขึ้น ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัดแห่งนี้ เป็นสิ่งน่าสนใจให้ได้สัมผัสทัศนาในความงามกันอย่างจุใจ

พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

หลวงพ่อช่อแฮ

พระเจ้าทันใจ วัดพระธาตุช่อแฮ
วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
“วัดพระธาตุช่อแฮ” เป็นพระอารามหลวงที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ มีสิ่งสำคัญภายในวัดคือ “พระธาตุช่อแฮ” ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม ศิลปะแบบเชียงแสน ภายในบรรจุพระเกศาธาตุ และพระศอกด้านซ้าย การมาสักการะบูชาองค์พระธาตุนั้นมักนิยมนำผ้าแพรเนื้อดีไปถวาย เชื่อว่าจะทำให้มีชีวิตผาสุก มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน และมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้

นอกจากจะมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว ภายในวัดพระธาตุช่อแฮยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพของชาวพุทธอีกด้วย เริ่มต้นจาก “หลวงพ่อช่อแฮ” พระประธานที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ อายุหลายร้อยปี “พระเจ้าทันใจ” พระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้นลงรักปิดทอง เชื่อกันว่าใครที่มาขอพรพระเจ้าทันใจก็จะได้สิ่งนั้นสมประสงค์ แล้วก็ยังมี พระเจ้านอน พระเจ้าไม้สัก ธรรมมาสน์โบราณ กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่ได้มาเป็นประธานบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮ เมื่อปี พ.ศ.2467 ส่วนทางขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุนั้นก็จะต้องเดินผ่านบันไดนาค ซึ่งเป็นบันไดนาคโบราณ มีอยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ อีก 1 ด้าน และแต่ละด้านนั้นจะมีความสูงและจำนวนของขั้นบันไดไม่เท่ากัน

พระบรมธาตุ จ.ตาก

หลวงพ่อทันใจ วัดพระบรมธาตุ
วัดพระบรมธาตุ จ.ตาก
“วัดพระบรมธาตุ” เป็นศูนย์กลางของตัวเมืองตากในอดีต ซึ่งปัจจุบันก็คือ อำเภอบ้านตาก

วัดพระบรมธาตุ โดดเด่นไปด้วยพระบรมธาตุเจดีย์สีทองอร่ามที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระมหาเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นพระธาตุประจำตัวคนเกิดปีมะเมีย (ม้า) ตามคติความเชื่อของล้านนาโบราณวัดแห่งนี้จึงเป็นหนึ่งในวัดประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมียในบ้านเรา เป็นดังตัวแทนของพระมหาเจดีย์ชเวดากอง

เมื่อกราบสักการะองค์พระธาตุแล้ว สิ่งที่หลายคนไม่พลาดก็คือการไปขอพรจาก “หลวงพ่อทันใจ” ซึ่งหลวงพ่อทันใจแห่งวัดพระบรมธาตุนี้เป็นที่ร่ำลือในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ มีคนเดินทางมาขอพรท่านกันไม่ขาดสาย ด้วยเชื่อว่าเมื่ออธิษฐานขออะไรก็จะได้ทันอกทันใจสมชื่อท่าน และมักจะแก้บนด้วยไข่ต้ม ผลไม้ และพวงมาลัยบูชา

วัดไทยสามัคคี จ.ตาก (ภาพ : เพจวัดไทยสามัคคี)

พระเจ้าทันใจรัตนมุงเมือง วัดไทยสามัคคี (ภาพ : ททท.ตาก)
วัดไทยสามัคคี จ.ตาก
“วัดไทยสามัคคี” เป็นวัดสำคัญและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งใน อ.แม่สอด เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของ “พระเจ้าทันใจรัตนมุงเมือง” ที่คนหลั่งไหลมาขอพรไม่ขาดสาย นอกจากนี้ยังมีพระพรมธาตุเจดีย์ศรีเมืองฉอด (พุทธคยาจำลอง) องค์สีทองโดดเด่นเป็นสง่าให้ได้สักการะอีกด้วย

โดย “พระเจ้าทันใจรัตนมุงเมือง” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสร้างด้วยการปั้นเท่านั้นโดยมีกำหนดการตามพิธีการแบบล้านนา-ไทยที่พระอริยะสงฆ์ได้ผูกไว้ เช่น กำหนดเวลาในการปั้นต้องแล้วเสร็จภายในวันเดียว ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ตลอดพิธีปั้นต้องทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตลอดจนเสร็จ เสร็จแล้วต้องทำพิธีเบิกเนตรตลอดทั้งคืนตามพิธีล้านนา มีอวัยวะภายในเช่น หัวใจ ตับ ไต ฯลฯ ครบเหมือนมนุษย์ทุกประการ ทำด้วยเงินแท้อยู่ข้างใน พร้อมทั้งกระดูกที่ทำจากไม้มงคลของล้านนาและมีอุปเท่มากมายในการสร้าง ดังนั้น พระเจ้าทันใจ หรือ หลวงพ่อทันใจจึงเป็นที่เคารพกราบไหว้สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป เมื่อมีโอกาสแล้วมักจะมากราบขอพรให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต และเชื่อว่า จะสำเร็จโดยทันใจ



#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น