xs
xsm
sm
md
lg

“ป้อมเพชร” โบราณสถานริมน้ำ ป้อมปราการสุดแข็งแกร่งแห่งกรุงศรีอยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป้อมปราการริมแม่น้ำที่โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมยังโดดเด่นเห็นชัด แม้กาลเวลาผ่านมากว่า 400 ปี จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นป้อมปราการสมัยโบราณที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ป้อมแห่งนั้น คือ “ป้อมเพชร"


ป้อมปราการอายุกว่า 400 ปี
ครั้งเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีป้อมปราการมากมายจำนวน 16 ป้อม รายล้อมอยู่รอบพระนคร เพื่อทำหน้าที่ใช้ปกป้องอันตรายจากข้าศึกศัตรู โดยยุคแรกของอาณาจักรพระนครศรีอยุธยา กำแพงเมืองเดิมสมัยพระเจ้าอู่ทอง เป็นเพียงเชิงเทินดิน และมีเสาไม้ระเนียด การสร้างป้อมต่างๆ มักเป็นเพียงป้อมไม้ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงได้มีการสร้างแบบก่ออิฐถือปูน

ป้อมเพชรมองจากด้านข้าง
หนึ่งในป้อมปราการยุทธศาสตร์สำคัญที่เปรียบเสมือนประตูด่านหน้าทางน้ำแห่งอยุธยา คือ “ป้อมเพชร” ป้อมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสองสายมาบรรจบ ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก กับแม่น้ำเจ้าพระยา

สันนิษฐานว่า ป้อมเพชร สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ในปี พ.ศ. 2123 ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง หนา 14 เมตร มีเชิงเทินใบเสมารวม 6.50 เมตร ลักษณะรูปทรงป้อม เป็นแบบ 6 เหลี่ยม ยื่นออกไปจากแนวกำแพงเมือง ก่อเป็นรูปโค้งมน ครึ่งวงกลม ซึ่งเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ จำนวน 8 กระบอก

ป้อมปราการสุดแข็งแกร่งแห่งกรุงศรีอยุธยา
จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า มีการก่อสร้างทับซ้อนกัน 2 ครั้ง ครั้งแรกมีลักษณะเป็นรูปกลมมน ครั้งที่ 2 มีลักษณะเป็นรูป 6 เหลี่ยม สร้างทับลงบนฐานกลมมนเดิม สันนิษฐานว่าป้อมรูปกลมมนเป็นรูปแบบที่ช่างโปรตุเกสเป็นผู้ออกแบบ ดังปรากฎหลักฐานในอาณานิคมหลายๆแห่ง ที่ชาวโปรตุเกสยึดครอง

ต่อมามีการส่วนป้อมรูปหกเหลี่ยม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลัง โดยเป็นการออกแบบของชาวฝรั่งเศส ที่นิยมสร้างในรูปแบบดังกล่าว สังเกตได้จากป้อมเมืองลพบุรีที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เรือที่สัญจรผ่านไปมา มองจากป้อมเพชร
ป้อมเพชรถือเป็นป้อมขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะทำหน้าที่ในการป้องกันข้าศึกที่รุกรานจากทางน้ำ สร้างไว้ตรงมุมพระนครฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา อยู่บริเวณบางกะจะ ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำป่าสัก ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าหันหน้าออกไปสู่แม่น้ำ จะมองเห็นวัดพนัญเชิง วัดใหม่บางกะจะ และวัดสุวรรณดาราราม จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ สำหรับการเดินทางติดต่อระหว่างโลกภายนอกกับกรุงศรีอยุธยา

ป้อมปราการแห่งนี้มีขนาดสูงกว่ากำแพงเมือง ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันถึงความสำคัญในยุคนั้น และที่มาของชื่อ สันนิษฐานว่า มาจากความแข็งแกร่งดุจดั่งเพชรนั่นเอง

ถ่ายภาพเก๋ๆที่ป้อมเพชร
ในอดีตบริเวณรอบๆป้อมเพชร ยังเคยเป็นตลาดค้าขายของชาวจีน รวมทั้งเป็นย่านที่พักอาศัยของพ่อค้าชาวจีน ชาวฮอลันดา และชาวฝรั่งเศส จึงกลายเป็นท่าเรือนานาชาติที่มีเรือสำเภาแล่นมาจอด และเป็นจุดที่เรือล่มบ่อยครั้ง เนื่องจากมีกระแสน้ำวน เป็นที่มาของชื่อ “ตำบลสำเภาล่ม”

ป้อมปราการสุดแข็งแกร่งแห่งกรุงศรีอยุธยา
สำหรับวัฒนธรรมร่วมสมัยที่คนทั่วไปคงพอจะคุ้นหูคุ้นตา “ป้อมเพชร” อยู่บ้าง มาจากการปรากฏเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญในละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” เมื่อปี พ.ศ.2561 กล่าวคือ เป็นฉากที่แม่หญิงการะเกดล่องเรือออกไปชมเมือง แวะซื้อของย่านตลาดน้ำวน บางกะจะ 1 ใน 4 ตลาดน้ำขนาดใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา โดยมีป้อมเพชรตระหง่านงามปรากฏเป็นฉากหลัง ก่อนจะเกิดเหตุน้ำวนทำให้แม่การะเกดตกเรือไปพร้อมพี่เดช

วัชพืชบนแนวกำแพงป้อมเพชร
ปัจจุบัน ป้อมแห่งนี้เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ประสบปัญหาจากน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากบ่อยครั้ง โดยมวลน้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำท่วมเข้ามายังพื้นที่รอบๆจนถึงตัวป้อม แต่กรมศิลปากรก็ยังตรวจสอบดูแลมาโดยตลอด ป้อมจึงยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์งดงาม มีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ต้นไม้ร่มรื่น การสร้างทางเดินริมแม่น้ำเป็นจุดที่มองเห็นการคมนาคมทางน้ำที่คึกคัก จึงเป็นทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวท้องถิ่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และเป็นโบราณสถานทรงคุณค่าแห่งกรุงศรีอยุธยา


ป้อมเพชร ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทอง ตำบลหอรัตนไชย
อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ไม่มีค่าธรรมเนียมการเข้าชม

ช่องกุดของป้อมเพชร

ป้อมปราการสุดแข็งแกร่งแห่งกรุงศรีอยุธยา

จุดชมวิวแม่น้ำสองสาย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น