xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติ “เยาวราช” ย่านการค้าระดับโลกของไทย ฉากสำคัญที่ปรากฏในซิงเกิล “Rockstar” ของ “ลิซ่า"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากทีเซอร์สั้นๆ ซิงเกิลใหม่ “Rockstar” ของ “ลิซ่า ลลิษา มโนบาล” ซูเปอร์สตาร์ชาวไทย ที่ปรากฏภาพ “เยาวราช” หรือ ไชน่าทาวน์ บางกอก เป็นฉากสำคัญ ก็กลายเป็นกระแสให้คนกล่าวถึงกันไปทั่วประเทศ


จนกระทั่งเช้าวันนี้ (28 มิ.ย.) เวลา 07.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ทุกคนก็ได้ชมเอ็มวีฉบับเต็มกันไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ลิซ่า เป็นเจ้าแม่แห่ง Soft Power ให้ประเทศไทยอย่างแท้จริง เพราะทำให้ทุกคนกล่าวถึงและให้ความสนใจเยาวราชกันอย่างคึกคักที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ไป เยาวราชที่คึกคักอยู่แล้วนั้น จะยิ่งได้รับความนิยม มีแฟนเพลงจากทั่วโลกเดินทางมาตามรอยกันอีกเป็นจำนวนมาก

ชวนคุณมาตามรอย “Rockstar” พร้อมทั้งรู้จักเยาวราชกันให้มากขึ้น



จุดเริ่มต้นของถนนประวัติศาสตร์
เยาวราชถือกำเนิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเยาวราชขึ้นในปี พ.ศ. 2435-2443 ด้วยเห็นว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งค้าขายสำคัญของชาวจีนกับต่างชาติ

ถนนตั้งต้นจากบริเวณคลองโอ่งอ่าง ไปจนถึง วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นระยะทาง 1,523 เมตร จากประกาศกรมโยธาธิการ เมื่อวันที่ 30 มกราคม รัตนโกสินทรศก 110 (พ.ศ. 2435) ลงนามโดย กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์(ยศสมัยนั้น) ได้ระบุไว้ดังนี้

“มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้กรมโยธาธิการสร้างถนนขึ้นใหม่สายหนึ่งแซกลงในระหว่างกลางแห่งถนนเจริญกรุงแลถนนสามเพ็ง ตั้งแต่ต้นป้อมมหาไชยตัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เข้าบรรจบถนนเจริญกรุงตรงตะพานวัดสามจีน โดยยาว 1430 เมเตอร (หรือ 35 เส้น 15 วา) โดยกว้าง 20 เมเตอร (หรือ 10 วา) เป็นทางรถกว้าง 7 วา ทางคนเดินกว้างข้างละ 6 ศอก พระราชทานชื่อว่า “ถนนเยาวราช”

ถนนเยาวราชในอดีต (ภาพถ่ายจาก ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช)
ชื่อนี้มีความหมาย
แรกเริ่มมีการใช้ชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนยุพราช” แต่ต่อมา รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทานชื่อใหม่ ซึ่งคำว่า “เยาวราช” มีความหมายว่า “พระราชาที่ทรงพระเยาว์” หมายถึง รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

มีอีกหนึ่งเกร็ดน่าสนใจ เนื่องด้วย รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชประสงค์มิให้ตัดถนนถูกที่ดินของชาวบ้าน โดยให้ใช้แนวเดิมที่เป็นทางเกวียนหรือแนวทางเดินมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ส่งผลให้ถนนเยาวราช มีความคดเคี้ยวดูแล้วคล้ายมังกร จนได้สมญานามว่า “ถนนมังกร” อีกชื่อหนึ่ง

หลังจากนั้นถนนสายนี้ก้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไชน่าทาวน์” ของเมืองไทย แต่ชื่อเรียก ถนนเยาวราช ก็ยังเป็นที่นิยมที่สุดสืบต่อมาจนปัจจุบัน

ถนนเยาวราชในอดีต (ภาพถ่ายจาก ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช)
ความเจริญรุ่งเรืองของถนนสายเศรษฐกิจ
เยาวราช กลายเป็นเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญ และยังเป็นแหล่งบันเทิงที่โด่งดังของเมืองกรุงอีกด้วย สมัยก่อนเยาวราชมีตึก 7 ชั้น ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในเมืองไทย และต่อมาก็เป็นตึก 9 ชั้น คือ “โรงแรมนิวเก้าชั้น”


ในยุคสมัยรุ่นคุณปู่คุณย่ายังหนุ่มสาวตำนานของตึก 7 ชั้นและตึก 9 ชั้น ถือว่าเป็นแหล่งท่องราตรีของนักเที่ยวทั้งหลายที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น ไนท์คลับ ร้านอาหาร โรงแรม โรงน้ำชา ซ่องโสเภณีหรือบ่อนการพนัน แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วตามกาลเวลา

โดยทุกวันนี้ เยาวราช มีชื่อเสียงมากที่สุดในฐานะของการเป็นแหล่งสตรีทฟูดระดับโลก และยังเป็นย่านท่องเที่ยวที่คึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร


รู้จักเยาวราชผ่านนิทรรศการ
ใครอยากรู้จักเยาวราชตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แนะนำว่าให้เดินทางไปยัง “ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช” ที่ตั้งอยู่ ณ วัดไตรมิตรฯ ที่นี่เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ถ่ายทอดเรื่องราว ให้ได้รู้ว่าชุมชนแห่งนี้มีที่มาอย่างไร ก่อนจะมาเป็นย่านเศรษฐกิจท่องเที่ยวระดับโลกในปัจจุบัน

ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช
นิทรรศการผสมผสานเรื่องราวเชื่อมโยงถึงกันซึ่งเกิดขึ้นในชุมชนอันคึกคัก ได้แก่ ปูชนียวัตถุสำคัญพุทธศาสนา และประวัติความเป็นมาของชุมชนเยาวราช ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชนเก่าแก่ของไทยโดยตรง

ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช
จัดแสดงด้วยรูปแบบนิทรรศการ สื่อมัลติมีเดียทันสมัย เช่น ถ่ายทอดเรื่องราวยุคเริ่มต้นของชาวจีนอพยพ ซึ่งเป็นที่มาของวลีเสื่อผืนหมอนใบ, “กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เล่าการกำเนิดชุมชนสำเพ็ง และย้อนไปสัมผัสช่วงเวลาที่ชาวจีนอพยพมาด้วยท้องเรือสำเภาหัวแดง จำลองบรรยากาศการเดินทาง ท่ามกลางพายุฝนก่อนจะมาถึงท่าเทียบเรือแผ่นดินไทย “เส้นทางสู่ยุคทอง” ช่วงเวลาแห่งความเจริญเติบโต ของธุรกิจค้าข้าว และธุรกิจทันสมัยประเภทอื่น ปลุกความคึกคักเฟื่องฟูของย่านการค้า และเคยเป็นแหล่งที่มีตึกสูงที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นต้น

ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ตั้งอยู่ชั้น 2 พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติฯ วัดไตรมิตรวิทยาราม


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น