ย่านเมืองเก่าสงขลา นับเป็นจุดหมายท่องเที่ยวลำดับต้นๆสำหรับผู้มาเยือนจังหวัดสงขลา มีอาคารตึกแถวเก่าแก่หลากหลายรูปแบบเรียงรายไปบนถนนสามสายที่ขนานกัน บางหลังมีอายุนับร้อยปี โดดเด่นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรม ได้แก่ แบบจีนดั้งเดิม อาร์ตเดโค-อาร์ตนูโว โคโลเนียลผสมจีนพื้นบ้าน ไทย-มุสลิม
อาคารเก่าแก่หลายแห่งได้รับการบูรณะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็อนุรักษ์โครงสร้าง และความงามของสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าดั้งเดิมไว้ โดยหนึ่งในอาคารพาณิชย์ย่านเก่าสงขลาที่ได้รับการกล่าวถึงมาก เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา คือ “คาเฟ่อเมซอน เมืองเก่าสงขลา” เพราะเป็นอาคารที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อพูดถึงร้านกาแฟแฟรนไชส์ดังอย่างอเมซอน ภาพจำของลูกค้าหลายคนอาจนึกถึงรูปแบบร้านตามสมัยนิยมที่อยู่ตามสถานีบริการน้ำมัน หรือห้างร้านย่านการค้า แต่สำหรับ “คาเฟ่อเมซอน เมืองเก่าสงขลา” เป็นร้านที่ดัดแปลงจากบ้านจีนยุคโบราณได้อย่างลงตัว
“คาเฟ่อเมซอน เมืองเก่าสงขลา” ตั้งอยู่บน “ถนนหนองจิก” ซอยเล็กๆที่เชื่อมระหว่างถนนย่านเมืองเก่าสายหลัก ได้แก่ ถนนนางงามกับถนนนครใน หน้าร้านขนาดกว้างประมาณ 2 คูหา สะดุดตาแก่ผู้ผ่านไปมาด้วยสถาปัตยกรรมแบบบ้านจีนโบราณ แต่เมื่อได้ก้าวเข้าไปภายในร้าน จะพบว่ายังมีความน่าตื่นตาตื่นใจด้านในอีกหลายจุด โดยเฉพาะใครที่หลงใหลในการอนุรักษ์อาคาร-บ้านเก่า ที่ปรับปรุงมาใช้งานได้จริงโดยยังคงเสน่ห์ของโครงสร้างดั้งเดิม คาเฟ่แห่งนี้จึงเป็นอาคารที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประเภท ข. งานออกแบบใหม่ในบริบทการอนุรักษ์
ข้อมูลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายแนวความคิดการออกแบบโครงการ “คาเฟ่ อเมซอน สาขาย่านเมืองเก่าสงขลา” เอาไว้ว่า
ตั้งอยู่ในย่านชุมชนเก้าห้อง เดิมเป็นตึกแถวให้เช่าของรองอำมาตย์ตรี ขุนโภคาพิพัฒน์ ( ฮวดเหลี่ยง โคนันทน์ ) ต้นตระกูลโคนันทน์ หลังจากนั้นอาคารอยู่ในสภาพทรุดโทรม ต่อมานายบัญชา พานิชพงศ์ และนางสาวจุไรรัตน์ ตันตสุทธิกุล ผู้บริหารร้านคาเฟ่ อเมซอน ในจังหวัดสงขลา ต้องการผลักดันให้ย่านเมืองเก่าสงขลา มีร้านขายเครื่องดื่มในรูปแบบอาคารอนุรักษ์ จนนำไปสู่การปรับปรุงฟื้นฟู อาคารในปี พ.ศ. 2561
โดยโครงการได้ศึกษาเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม มีการจัดทำรูปแบบการออกแบบและได้เข้าหารือกับนายรังสี รัตนปราการ ภาคี คนรักเมืองเก่าสงขลา เพื่อกำหนดความเหมาะสมให้กลมกลืนกับย่านเมืองเก่าสงขลา การปรับปรุงฟื้นฟู อาคารและพื้นที่แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2563
คาเฟ่ อเมซอน สาขาย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นโครงการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ ในเมืองเก่าในแปลงที่ดินที่ ด้านหน้าเป็นตึกแถวเก่าชั้นเดียว 2 คูหา รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน ผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าผนังอาคารเป็นผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ หลังคาเป็นทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยดินเผาแบบจีน สันหลังคาโค้งมนมีส่วนชายคาอยู่
ด้านหน้า ในการซ่อมแซมได้มุงกระเบื้องใหม่ทั้งหมด ช่องลมหลังคาเปลี่ยนจากช่องลมดินเผาเป็น GRC พ่นสีดินเผาเพื่อความคงทน มีการตกแต่งอาคารด้วยการใช้งานศิลปะ และภาพจิตรกรรมที่นำเอาลวดลายมงคลตามความเชื่อ เช่น ลายประแจจีน นกกระเรียน เมฆ ลูกท้อ ดอกบัว ปลา และดอกโบตั๋น ที่หมายถึงความรุ่งเรือง
ภายในอาคารเก่าซึ่งเดิมเคยมีชั้นลอยไม้ เลือกที่จะสื่อความหมายเป็นเพียงสัญลักษณ์ เพื่อให้มี space สูงโล่ง เหมาะกับการเป็นร้านกาแฟ พื้นที่ด้านหลังตึกแถวเป็นพื้นที่สีเขียวลักษณะเป็นลานโล่ง มีสระน้ำเงาสะท้อน มี การนำพื้นกระเบื้องดินเผาเดิมมาออกแบบใหม่บริเวณบ่อน้ำเดิม และมีช่องประตูตรงผนังกำแพงอิฐเดิมที่ สามารถเดินผ่านไปยังอาคารนิทรรศการ และประกอบพาณิชยกรรมข้างเคียงได้
ถัดจากลานโล่งเป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างขึ้นใหม่ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กผสม โครงสร้างไม้ หลังคาทรงจั่ว ผังพื้นเป็นรูปตัวแอล (L) ใช้เป็นห้องประชุม ห้องน้ำ และส่วนบริการโครงการ และทำหน้าที่โอบล้อมบดบังอาคารสูงโดยรอบ และควบคุมมุมมองเพื่อเผยความงามของตึกแถวด้านหน้า
คาเฟ่ อเมซอน สาขาย่านเมืองเก่าสงขลา จึงเป็นตัวอย่างของการปรับปรุงฟื้นฟู และเปลี่ยนประโยชน์ใช้ สอย (Adaptive Reuse) ที่สามารถแสดงคุณค่าของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ได้ และเหมาะสมต่อการใช้งานในปัจจุบัน ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมให้แก่นักเรียน นักศึกษา คนในชุมชนและผู้ที่ สนใจ รวมทั้งทำให้เจ้าของอาคารเก่าหลายหลังในพื้นที่เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์อาคาร แทนการรื้อถอน
“คาเฟ่อเมซอน เมืองเก่าสงขลา”
เลขที่ 14 ถนนหนองจิก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
โทร.06-1023-2891
https://www.facebook.com/cafeamazonsongkhlaoldtown
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline