พาไปสัมผัสกับอีกมิติหนึ่งของ “โนรา” ผ่านงาน “โนราโรงครู” วัดท่าแค จ.พัทลุง หนึ่งในงานพิธีไหว้ครูอันยิ่งใหญ่สุดเข้มขลังแห่งวงการโนรา มรดกภูมิปัญญาของไทยที่วันนี้ไปไกลในระดับสากลหลังยูเนสโกยกย่องให้เป็นมรดกวัฒนธรรมโลกที่ทรงคุณค่ายิ่ง
โนรา มรดกวัฒนธรรมโลก
“โนรา” (Nora) หรือ มโนรา มโนห์รา มโนราห์ (มีการเขียนหลายแบบ) เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงอันโดดเด่นแห่งดินแดนด้ามขวาน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน
โนราเป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ฉพาะถิ่น มีดนตรีเป็นลูกคู่ เล่นรับ-ส่งตลอดการแสดง
โนรามีองค์ประกอบสำคัญคือเครื่องแต่งกาย (อันสวยงาม) และเครื่องดนตรี โดยผู้รำโนราจะสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก “เทริด” ทรงสูง ต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะ
ขณะที่ผู้เล่นโนรานั้นจะต้องมีความสามารถในศาสตร์และศิลป์แห่งโนรา ทั้ง การร่ายรำ ร้อง เล่น การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง แววตา และมีปฏิภาณไหวพริบในการแสดงการด้นสดที่ส่วนใหญ่จะเป็นมุขตลกเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม ซึ่งจำเป็นต้องฝึกฝนกันตั้งแต่ยังเด็ก
ด้วยความโดดเด่นของโนราที่เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านอันงดงามมีเอกลักษณ์ องค์การยูเนสโกจึงประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” (Nora) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ หรือที่หลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า “มรดกวัฒนธรรมโลก” เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564
โนราโรงครู พิธีไหว้ครูโนราสุดเข้มขลัง
โนรานอกจากจะมีในภาคของศิลปะการแสดงเพื่อความบันเทิงรื่นเริงใจแล้ว ก็ยังมีในภาคของพิธีกรรมโดยเฉพาะ “โนราโรงครู” หรือ “โนราลงครู” ซึ่งเป็น “พิธีไหว้ครูโนรา” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการโนราบ้านเรา
โนราโรงครู เป็นพิธีอัญเชิญครูหรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธี เพื่อรับการเซ่นสังเวยทำพิธีไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูโนราและบรรพบุรุษ
นอกจากนี้โนราโรงครูยังจัดขึ้นเพื่อ ทำพิธี “ครอบเทริด” หรือ “ผูกผ้าใหญ่” แก่โนรารุ่นใหม่ รวมถึงทำพิธีแก้บน หรือ “แก้เหมฺรฺย” สำหรับคนทั่วไปที่ได้บนบานศาลกล่าวไว้กับครูโนรา และทำพิธีอื่น ๆ เช่น เหยียบเสน ตัดจุก สะเดาะเคราะห์ เป็นต้น
โนราโรงครูมี 2 รูปแบบ คือ “โนราโรงครูใหญ่” และ “โนราโรงครูเล็ก”
โนราโรงครูใหญ่ เป็นพิธีโรงครูที่จัดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบเป็นเวลา 3 วัน ในวันพุธ-ศุกร์ แต่ถ้าปีไหนวันพิธีส่งครูตรงกับวันพระจะต้องเลื่อนพิธีส่งครูไปอีกหนึ่งวัน
ส่วนโนราโรงครูเล็ก เป็นพิธีโรงครูที่จัดในแบบฉบับย่อ เนื่องจากพิธีโนราโรงครูใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลาเตรียมการนาน จึงย่อมาทำพิธีโนราโรงครูเล็กแทน ใช้เวลา 1 วัน 1 คืน ตั้งแต่ตอนเย็นวันพุธไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี
อย่างไรก็ดีปัจจุบันคนในวงการโนรานิยมไหว้ครูกันในงานโนราโรงครูใหญ่ เนื่องจากสามารถทำพิธีรวมกันได้ จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ มากกว่าโนราโรงครูเล็ก
วัดท่าแค ตักศิลาแห่งโนรา
หนึ่งในสถานที่จัดงานโนราโรงครูที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตักศิลา” แห่งวงการโนราในบ้านเราก็คือ “โนราโรงครูวัดท่าแค” ที่จัดขึ้นที่ วัดท่าแค ต.ท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
คนในวงการโนราจำนวนมากเชื่อกันว่า วัดท่าแคเป็นต้นกำเนิดของพิธีโนราโรงครู เนื่องจากมีบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของ “ขุนศรีศรัทธา”ปรมาจารย์โนราเมืองไทย ว่าท่านได้เดินทางมาขึ้นแพที่ท่าแพหน้าวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็น “ท่าแค”
ด้วยเหตุนี้ภายในวัดท่าแคปัจจุบันจึงมีสิ่งสำคัญเกี่ยวกับพ่อขุนศรีศรัทธาอยู่ 3 สิ่งด้วยกัน คือ “หลักพ่อขุนศรีศรัทธา” ที่มีภาพท่าร่ายรำ 12 ท่าพื้นฐานของโนรา “ศาลพ่อขุนศรีศรัทธา” ที่ภายในมีรูปเคารพของ “พ่อขุนศรีศรัทธา ปฐมโนรา” อันสุดขรึมขลังให้สักการะบูชา และ “ต้นโพธิ์ใหญ่” อายุนับร้อยปี ที่เชื่อกันว่าอัฐิของพ่อขุนศรีศรัทธาถูกฝังไว้ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ต้นนี้
นอกจากนี้วันนี้ที่วัดท่าแคยังมีการก่อสร้าง “มณฑปพ่อขุนศรีศรัทธา” (กำลังดำเนินการก่อสร้าง) สถาปัตยกรรมรูปทรงเทริด (โนรา) ที่มีไม่กี่แห่งในเมืองไทยให้เป็นสถานที่ตั้งแห่งใหม่ของรูปเคารพพ่อขุนศรีศรัทธาซึ่งเดิมอยู่ในศาลที่คับแคบ รวมถึงเป็นสถานที่จัดแสดงกึ่งพิพิธภัณฑ์ ซึ่งหากสร้างแล้วเสร็จนี่จะเป็นอีกหนึ่งสถานที่เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของโนรามรดกวัฒนธรรมโลกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย
วัดท่าแค ศูนย์กลางโนราโรงครู
โนราโรงครูวัดท่าแค ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางงานโนราโรงครูของภาคใต้ เป็นดังศูนย์รวมศรัทธาของคนโนราจากทั่วทุกสารทิศ
โนราโรงครูวัดท่าแค ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จากข้อมูลที่เริ่มจัดเป็นประเพณีใหญ่อย่างชัดเจน ระบุว่า เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งในปีนั้น “พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัทพร” ได้สร้างรูปเคารพ “ขุนศรีศรัทธา” และ “พรานบุญ” ขึ้น (ตั้งอยู่หน้าศาลขุนศรีศรัทธา) เพื่อเป็นที่เคารพบูชาของคนโนราและชาวบ้านผู้นับถือ ด้วยเชื่อว่าขุนศรีศรัทธาท่านเป็นครูโนราคนแรก จึงจัดให้มีโนราโรงครูขึ้นที่วัดท่าแค
ในปี พ.ศ.2514 ที่มีการจัดโนราโรงครูวัดท่าแค มีบันทึกว่าปีนั้น “โนราแปลก ท่าแค” (แปลก ชนะบาล) ครูโนราชื่อดังแห่งบ้านท่าแค ทำหน้าที่เป็น “นายโรงโนรา” (หรือ“ครูหมอโนรา”) ก่อนส่งต่อให้ “โนราสมพงษ์ ชนะบาล” เป็นนายโรงโนราต่อในรุ่นที่สอง และ “โนราเกรียงเดช นวลระหงส์” (โนรารางวัลพระราชทานปี 2556) ทำหน้าที่เป็นนายโรงโนราในปัจจุบัน (รุ่นที่สาม)
เกรียงเดช นวลระหงส์ เจ้าของคณะอันโด่งดังแห่งภาคใต้ เล่าถึงงานโนราโรงครู ว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อบูชาครู เพื่อแก้บน ตัดจุก ผูกผ้าคนที่จะเป็นโนราใหญ่ โรงครูที่นี่เกิดด้วยจุดประสงค์เหล่านี้ และยังเป็นการเล่นบูชาพ่อขุนศรีศรัทธา ผู้ให้กำเนิดโนรา การแก้บนในโรงครู เสมือนการไปขอครูหมอตายายโนรา การมาแก้บนจึงเป็นการลบล้างมลทินกายมลทินใจ สิ่งที่ได้ให้สัญญาไว้จะได้ไม่เป็นเภทภัย
“การไม่มาแก้บน ถ้าไม่ได้ติดเหมฺรฺย (สินบนที่สัญญาไว้) ถือว่าไม่ได้เป็นพันธะสัญญาที่จะทำให้เกิดเภทภัย แต่ที่สุดแล้วการที่เดินทางมาพิธี ก็เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์และครูหมอตายาย เพราะความกตัญญูย่อมส่งผลดีๆกลับคืนสู่ตนเอง” เกรียงเดช กล่าว
นายโรงโนรา เกรียงเดช ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หัวใจของการเล่นโรงครู ต้องมีการร่าย 12 คำพรัด หรือ กลอน 12 ข้อ ที่แฝงไปด้วยคำสอนของศาสนา การรำ 12 เพลง โดยหนึ่งใน 12 เพลง เป็นเพลงครู ซึ่งถือเป็นท่ารำสูงสุดของโนรา และมีการเล่น 12 เรื่อง เป็นวรรณคดีไทย มีตั้งแต่พระสุธน-มโนราห์ พระรถเมรี ไปจนถึงไกรทอง เป็นต้น
ศรัทธาแรงกล้า โนราโรงครูวัดท่าแค
โนราโรงครูวัดท่าแค เป็นโนราโรงครูใหญ่ มีกำหนดจัดขึ้นทุกปี ในช่วงเดือน 6 (เดือนไทย) เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันพุธถึงศุกร์ หรือ ถ้าติดวันพระก็จะเลื่อนเป็น 4 วัน คือ พุธถึงเสาร์ (ปีนี้โนราโรงครูวันท่าแค จัดขึ้นในวันที่ 15-18 พ.ค. 67)
สำหรับพิธีกรรมวันแรก เริ่มจากต้นด้วยพิธีไหว้ภูมิโรงครู (ไหว้พระภูมิ)ด้วยเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ตามด้วยการตั้งบ้านตั้งเมืองหรือตั้งศาลพระภูมิ แล้วต่อด้วยพิธี “โนราเข้าโรง” ในช่วงย่ำค่ำ หรือที่ชาวปักษ์ใต้เรียกว่า “เวลานกชุมรัง” เพื่อทำพิธี “เบิกโรง” เชิญครูหมอโนราให้มาชุมนุมในพิธี
วันที่สอง เป็นวันสำคัญเพราะเป็นวันครู งานเริ่มกันแต่เช้า ภายในงานมีพิธีสำคัญคือ การเชิญครูหมอโนราและตายายโนรามาเข้าทรงในร่างทรง พิธีบวงสรวงครู และพิธี “ห่มโพธิ์” หรือพิธีแห่ผ้าผูกต้นโพธิ์ อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของที่นี่ ด้วยเชื่อว่าอัฐิ (กระดูก) ของพ่อขุนศรีศรัทธาฝังอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ที่วัดท่าแคแห่งนี้
เสร็จจากนั้นก็เป็น พิธีรำถวายศาล พิธีรำแก้บน เหยียบเสน และออกพรานรำ 12 คำพรัด ซึ่งในพิธีรำแก้บนนี้มีทั้งโนราและชาวบ้านที่บนบานศาลกล่าวไว้มาแก้บน ทั้งนำสิ่งของมาแก้บน รวมไปถึงรำแก้บนถวาย
มาถึงวันที่สามหรือวันที่สี่ (กรณีตรงกับวันพระ) ซึ่งเป็นวันส่งท้าย จะมีพิธีรำแก้บน เหยียบเสน แก้บนออกพราน
ส่วนในช่วงบ่ายหรือเย็นหรือคำ มี “พิธีรำคล้องหงส์” จับบทสิบสอง และ“พิธีแทงเข้” ที่เป็นอีกหนึ่งพิธีสำคัญในงานโนราโรงครูวัดท่าแค อีกทั้งเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของโนราโรงครูในพัทลุง
พิธีแทงเข้ มีความเชื่อว่า “ตัวเข้”หรือ “จระเข้” (จำลอง) ที่คือ “ชาละวัน”นั้นเป็นดังตัวแทนของสิ่งไม่ดี นำสิ่งไม่ดีมาไว้ จึงมีการสร้างตัวจระเข้จำลองทำจากต้นกล้วยพังลาหรือกล้วยตานี คลุมด้วยเสื่อกระจูด นำมาตั้งเด่นไว้หน้าลานโนราใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ (ตั้งแต่วันแรก) พร้อมให้ผู้คนทำบุญนำเงิน ข้าวของ มาใส่ไว้ในปากจระเข้ ด้วยเชื่อว่าเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ เพราะเมื่อจระเข้ถูกแทงตายจะนำไปลอยน้ำ ทุก โศก โชคร้าย ก็จะให้ลอยไปพร้อม ๆ กับจระเข้
เมื่อจบพิธีแทงเข้เสร็จแล้ว ก็เป็นพิธีบูชาครูหมอตายายโนรา หรือ “ชาครูหมอ”
หรือ “ชาตายาย” โดยมีการนำเงินมาบูชาครูหมอตายายตามกำลังศรัทธา
สำหรับพิธีโนราโรงครูที่อื่นๆ หลังจบพิธีบูชาครูหมอตายายโนราแล้ว จะเป็นพิธี “ส่งครู” หรือ “ตัดเหมฺรฺย” (ตัดทานบท) ซึ่งเป็นพิธีตัดเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นไหว้ก็จะเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
แต่สำหรับพิธีกรรมหลักของงานโนราโรงครูวัดท่าแคจะแตกต่างไปจากที่อื่น ๆ เพราะไม่มีพิธีส่งครู ด้วยเชื่อว่าวัดท่าแคเป็นที่อยู่ของครูโนรา หากทำพิธีตัดเหฺมฺรย เท่ากับทำพิธีตัดขาดจากครู
ศิลป์ศรัทธา โนราโรงครู
ในปีนี้ (2567) โนราโรงครูวัดท่าแคมีความพิเศษตรงที่ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” สำนักงานนครศรีธรรมราช (รับผิดชอบพื้นที่ นครศรีธรรมราช พัทลุง) ได้ไปร่วมจัดกิจกรรม “ศิลป์ศรัทธา โนราโรงครู” ตลอดทั้งการจัดงาน เพื่อนำเสนออีกมุมหนึ่งของโนราผ่านงานศิลปะ หัตถกรรมท้องถิ่น และกิจกรรม D.I.Y. ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Workshop ร้อยลูกปัดโนรา พวงกุญแจหน้ากากตาพรานจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ การทำสร้อย การทำเทริด และชุดโนรา เป็นต้น
พร้อมกันนี้ยังมีการ จัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่อง “โนรา มรดกโลก” การจำลองโรงหนังกลางแปลง ฉายเรื่อง “เทริด” และ “มโนราห์” เพื่อนำเสนอศิลปะแขนงหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราว สร้างความรู้ และความประทับใจในเรื่องราวของโนรา
รวมถึงมีการออกบูธจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นคัดสรรของพัทลุงมาจัดจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ ซึ่งถือเป็นการสร้างอีกหนึ่งสีสันให้กับงานโนราโรงครูวัดท่าแค จ.พัทลุง ที่เป็นอีกหนึ่งประเพณีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งภาคใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วิถีของชาวใต้ในวันนี้ยังคงผูกพันกับวิถีแห่งโนราอย่างแนบแน่น
จนโนราได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมโลกที่ทรงคุณค่ายิ่งของเมืองไทย