xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในโลก “โกลเด้นบอย” จัดแสดงพร้อม “ฝาแฝด” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ครั้งแรกในโลก “โกลเด้นบอย” จัดแสดงพร้อม “ฝาแฝด” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กรมศิลป์ ชวนชมความงามของประติมากรรม “โกลเด้นบอย-สตรีพนมมือ” และประติมากรรมจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ฝาแฝด” ของโกลเด้นบอย ซึ่งเป็นครั้งแรกในโลกที่ทั้งคู่ได้จัดแสดงพร้อมกัน นอกจากนี้ยังมีสุดยอดประติมากรรมไทยอื่น ๆ ร่วมจัดแสดงด้วย งานนี้ผู้สนใจสามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ที่ห้องศิลปะลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 67 เป็นต้นไป

นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับการรับมอบประติมากรรม “โกลเด้นบอย” และ “สตรีพนมมือ” โบราณวัตถุล้ำค่า 2 รายการ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา กลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้ง

ประติมากรรมโกลเด้นบอย
สำหรับ “โกลเด้นบอย” (Golden Boy) ทางกรมศิลปากรได้ระบุข้อมูลว่า เป็นประติมากรรมสัมฤทธิ์ รูปพระศิวะ ศิลปะสมัยลพบุรี หรือศิลปะเขมรในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 1,000 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน สูง (รวมเดือย) 128.9 กว้าง 35.6 ลึก 34.3 ซ.ม. (สูงไม่รวมเดือย 105.4 ซ.ม.)

ประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปบุรุษยืนนี้ เรียกอย่างลำลองว่า “Golden Boy” ซึ่งแม้ว่าพี่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันจะตีความไว้ว่าเป็นประติมากรรมพระศิวะ แต่ท่าทางของพระหัตถ์ทั้งสองที่มีความแตกต่างจากประติมากรรมโดยทั่วไปที่มักจะถือสัญลักษณ์ของพระศิวะ และไม่ปรากฏพระเนตรที่สามบนพระนลาฏ ประติมากรรมนี้จึงอาจหมายถึงรูปบุคคลในสถานะเทพ หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์สองอย่างคือเป็นรูปเคารพบูชาในศาสนสถานประจำราชวงศ์ หรือเป็นรูปเคารพของบูรพกษัตริย์

ประติมากรรมโกลเด้นบอย
ย้อนไปในปีพ.ศ. 2532 ประเทศไทยมีการขุดค้นพบประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปบุรุษจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อพิจารณารูปแบบและเทคนิคการสร้าง พบว่ามีลักษณะตรงกับประติมากรรมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน คือ มีการตกแต่งผิววัตถุด้วยกะไหล่ทอง และใช้เทคนิคการเจาะผิววัตถุเป็นร่องเพื่อฝังโลหะมีค่าหรืออัญมณี ซึ่งวันนี้ประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปบุรุษจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ฝาแฝด” ของประติมากรรมโกลเด้นบอย

ทั้งนี้จากฐานข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันระบุว่าประติมากรรมโกลเด้นบอยชิ้นนี้ได้จาก Collection of Walter H. and Leonore Annenberg ในปีพ.ศ. 2531 สันนิษฐานว่าถูกลักลอบขุดค้นจากโบราณสถานในเขตอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และมีการลักลอบซื้อขายออกไปโดยผิดกฎหมายในปีพ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นการได้มาก่อนการค้นพบประติมากรรมจากสระกำแพงใหญ่ จึงเชื่อว่าไม่ได้มีการสร้างเลียนแบบ แต่เป็นประติมากรรมในกลุ่มฝีมือช่างใกล้เคียงหรือร่วมสมัยเดียวกัน

ประติมากรรมสตรีพนมมือ
ด้านประติมากรรมรูป “สตรีพนมมือ” (The Kneeling Female) ที่เดินทางกลับคืนมาพร้อมกัน ประติมากรรมสัมฤทธิ์ ศิลปะเขมรในประเทศไทย พุทธศตวรรษที่ 16 (ประมาณ 900 ปีมาแล้ว) มีลักษณะเป็นรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน มีร่องรอยกะไหล่ทอง สูง 43.2 ซ.ม. กว้าง 19.7 ซ.ม.

ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือสันนิษฐานว่าเป็นสตรีชั้นสูง นั่งชันเข่าขวาและพับขาซ้าย ยกมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะในท่าอัญชลีมุทรา หรือนมัสการ (พนมมือ) อันเป็นท่าแสดงความเคารพ ลักษณะใบหน้าเหลี่ยม คิ้วโก่ง ตามองตรง คิ้วเซาะเป็นร่อง และนัยน์ตาเซาะเป็นช่องกลม เมื่อพิจารณาจากทรงผมหวีรวบ ไม่สวมกระบังหน้า ประติมากรรมทำเอวคอด รูปทรงสมส่วน ขอบผ้านุ่งด้านหน้าเว้ามาก ขมวดเป็นปม มีชายขมวดหนึ่งชาย ผ้าด้านล่างคลี่ออก เป็นรูปหางปลา เป็นรูปแบบของประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่นิยมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยราว 1,000 ปีมาแล้ว

ประติมากรรมสตรีพนมมือ
ทั้งนี้รูปแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกายของประติมากรรมสตรี รวมถึงเทคนิควิธีการหล่อโลหะมีความสอดคล้องกับประติมากรรมโกลเด้นบอย และประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่พบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งเป็นสัมฤทธิ์ตกแต่งด้วยกะไหล่ทอง มีการเจาะผิววัตถุเป็นร่องเพื่อฝังโลหะมีค่าหรืออัญมณีเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตงานศิลปกรรมสัมฤทธิ์ที่มีคุณภาพในช่วงเวลาดังกล่าว

สำหรับโบราณวัตถุล้ำค่าทั้งสองของไทย คือ โกลเด้นบอย และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ เคยถูกขบวนการโจรกรรมโบราณวัตถุข้ามชาติลักลอบนำออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมายส่งไปยังพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ก่อนที่คนไทยส่วนหนึ่งได้ทำเรื่องขอคืนโบราณวัตถุล้ำค่าทั้ง 2 ชิ้น

ประติมากรรมโกลเด้นบอย-สตรีพนมมือ จัดแสดงที่ ห้องศิลปะลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพ : กรมศิลปากร)
ต่อมา เมื่อเดือนธันวาคม 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้รับการประสานจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ว่ามีความประสงค์ส่งมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการดังกล่าว คืนให้กับประเทศไทย เพื่อแสดงถึงการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ให้ความสำคัญกับที่มาอันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง ซึ่งผลการประสานงานเป็นไปด้วยดี กระทั่งพิพิธภัณฑ์ได้ส่งโบราณวัตถุกลับคืนถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567

หลังจากนั้นกรมศิลปากร ได้ทำพิธีรับมอบโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ก่อนนำมาจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปชม ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

บรรยากาศวันแรก (22 พ.ค. 67) ของการเปิดให้เข้าชมประติมากรรมโกลเด้นบอย-สตรีพนมมือ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ในโอกาสนี้ กรมศิลปากร จึงได้เคลื่อนย้ายประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ที่ขุดพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับประติมากรรมโกลเด้นบอย จนได้ชื่อว่าเป็น “ฝาแฝด”กัน จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มาร่วมจัดแสดงเคียงคู่กันเป็นครั้งแรกในเมืองไทย และครั้งแรกในโลก

ประติมากรรมฝาแฝดโกลเด้นบอย
สำหรับ “ฝาแฝดโกลเด้นบอย” เป็นประติมากรรมสัมฤทธิ์ ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรในประเทศไทย) มีอายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 หรืออายุประมาณ 900-1,000 ปี ลักษณะประติมากรรมสัมฤทธิ์ ฝังเงิน กะไหล่ทอง ขุดพบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2532 เคยมีผู้สันนิษฐานว่ารูประติมากรรมนี้ อาจหมายถึง นันทิเกศวร เทพบริวารของพระอิศวรผู้ทำหน้าที่เป็นทวารบาลประจำศาสนสถาน แต่เนื่องจากรูปแบบและลักษณะที่โดดเด่นจึงน่าจะเป็นประติมากรรมที่มีความสำคัญ

ประติมากรรมชิ้นเยี่ยมอื่น ๆ ที่ร่วมจัดแสดง
นอกจากโกลเด้นบอย-ฝาแฝด และสตรีพนมมือแล้ว ภายในห้องลพบุรียังมีประติมากรรมชิ้นเยี่ยมศิลปะลพบุรีอื่น ๆ จัดแสดงให้ชมกันอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พระพรหม เทวรูป ประติมากรรมบุคคล ทับหลัง เป็นต้น งานนี้ผู้สนใจสามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

บรรยากาศวันแรก (22 พ.ค. 67) ของการเปิดให้เข้าชมประติมากรรมโกลเด้นบอย-สตรีพนมมือ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
###############################

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กทม. เปิดทำการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น.




กำลังโหลดความคิดเห็น