xs
xsm
sm
md
lg

รูปปั้น “Golden Boy-สตรีพนมมือ” กลับคืนสู่ไทย จัดแสดงให้ชมที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 22 พ.ค. เป็นต้นไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
สิ้นสุดการรอคอย "Golden Boy" และ "สตรีพนมมือ" ถึงประเทศไทยแล้วเมื่อเช้านี้ ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดพิธีรับมอบในวันที่ 21 พ.ค. ก่อนนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 67 เป็นต้นไป

ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (20 พ.ค. 67) มีรายงานว่าโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ "Golden Boy" และ "สตรีพนมมือ" ได้มีการนำกลับถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว หลังพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The MET) ในสหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุประติมากรรมสำริด 2 รายการ ซึ่งมีหลักฐานว่าถูกนำออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย

ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
โดยทางกระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากร จะมีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการตามพิธีสากล ในช่วงบ่ายวันที่ 21 พ.ค. 67 ที่พระที่นั่งอิสราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ก่อนจะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ 22 พ.ค. 67 เป็นต้นไป

ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
"Golden Boy” ประติมากรรมสำริด รูปพระศิวะ ศิลปะสมัยลพบุรี หรือศิลปะเขมรในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 1,000 ปีที่ผ่านมา สันนิษฐานว่าถูกลักลอบขุดค้นจากโบราณสถานปราสาทบ้านยางหรือปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และมีการลักลอบซื้อขายออกไปโดยผิดกฎหมายในปี พ.ศ. 2518

รูปแบบประติมากรรมเป็นบุคคลสวมเครื่องทรงแบบชนชั้นสูง มีขนาดความสูง 129 เซนติเมตร ใช้เทคนิคการสร้างแบบพิเศษด้วยการหล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง มีความงดงามจนได้รับการขนานนามว่า “Golden Boy”

"Golden Boy" เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญของแผ่นดินไทยในอดีต ผ่านความงดงามของฝีมือช่าง และเทคโนโลยีชั้นสูงในการหล่อโลหะของคนโบราณ เป็นของหายาก และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่มคุณค่าในระดับโลก

ภาพ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
ส่วนรูปปั้น สตรีนั่งชันเข่าพนมมือ สันนิษฐานว่าเป็นสตรีชั้นสูงในราชสำนัก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปีมาแล้ว มีความสูง 43 ซม. หล่อด้วยสำริด เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตงานศิลปกรรมสำริดที่มีคุณภาพในช่วงเวลาดังกล่าว

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น