xs
xsm
sm
md
lg

“พระผุด” พระพุทธรูปโผล่จากพื้นดินครึ่งองค์ อันซีนภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระพุทธรูปขนาดใหญ่สีทองอร่ามที่มีงานประติมากรรมไม่แน่ชัดว่ามาจากยุคสมัยใด โผล่พ้นจากพื้นดินมาเพียงครึ่งองค์ ผู้คนเรียกขานกันว่า “พระผุด” ซึ่งนับเป็นหนึ่งในอันซีนภูเก็ตที่น่าเดินทางมาชม ณ “วัดพระทอง”



“วัดพระทอง” หรือ “วัดพระผุด" อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงอีกแห่ง โดยสิ่งสำคัญที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต้องมาเยือน คือ องค์พระพุทธรูปที่ชาวท้องถิ่นเรียกกันว่า “พระผุด” ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อวัดไปด้วย

“พระผุด” เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่โผล่ปรากฏให้เห็นจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ โดยมีเรื่องราวเล่าขานกันไปในหลายรูปแบบ ทั้งนิทานจากชาวบ้าน เรื่องเล่าตามความเชื่อ และเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์


สำหรับนิทานแนวตำนานนั้น เล่าต่อกันมาว่า มีเด็กผู้ชายจูงควายไปกลางทุ่งนา แล้วไปเจอกับหลักอยู่หลักหนึ่ง โดยหารู้ไม่ว่าเป็นหลักอะไร ก็นำควายมาผูกไว้กับหลักนั้น ก่อนจะไปวิ่งเล่นตามประสาเด็ก เมื่อตกเย็นกลับถึงบ้าน เด็กก็ล้มป่วยตายไป ส่วนควายก็ตายตามไปโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน

พ่อของเด็กฝันถึงสาเหตุที่ลูกชายและควายตาย ว่าเด็กเอาเชือกล่ามควายไว้กับหลักดังกล่าว ซึ่งแท้จริงแล้วคือพระเกตุมาลาของพระพุทธรูป รุ่งขึ้นจึงไปดู ก็พบว่าตรงตามความฝัน จากนั้นชาวบ้านจึงได้ไปเรียนให้ท่านเจ้าเมืองได้ทราบ เจ้าเมืองถลางสั่งให้ขุด แต่เกิดความมหัศจรรย์ มีตัวต่อแตนออกมาอาละวาด เจ้าเมืองจึงสั่งให้จัดเป็นสถานที่กราบไหว้ มุงหลังคาเพื่อกันแดดและฝน ชาวบ้านจึงเรียกว่า " พระผุด" ต่อมาได้มีชีปะขาวรูปหนึ่งมาพักที่เมืองถลาง และรู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำผุดอยู่กลางทุ่งนา ท่านกลัวโจรผู้ร้ายจะขโมยไปขาย จึงชักชวนชาวบ้านแถบนั้นไปเก็บเปลือกหอยมาเผาไฟทำเป็นปูนขาวผสมกับทรายโบกปิดทับเอาไว้

สำหรับนิทานเรื่องนี้มีการวิเคราะห์ในเชิงข้อเท็จจริงด้วยว่า บริเวณทุ่งกว้างอยู่ใกล้ลำคลอง เมื่อฝนตกน้ำหลาก ก็อาจพัดพาดินทรายมาทับถมพระพุทธรูปจนเหลือเพียงพระเกตุมาลา


ยังมีเรื่องเล่าเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ว่า ครั้งเมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองถลาง สมัยพระเจ้าปะดุง ได้พยายามขุดเอาพระผุด กลับไป แต่ก็เจอฝูงแตนไล่ต่อยและขุดไม่ได้

นอกจากนี้ มีเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ที่ดูสอดคล้องกับประติมากรรมพระพุทธรูป กล่าวคือ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปมาจากเมืองจีนเรียกว่า ภูปุ๊ค (พู่ฮุก) ซึ่งทิเบตไปชนะสงครามจีนในเมืองเซี่ยงไฮ้ จึงอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำชื่อ กิ้มมิ่นจ้อ นำลงเรือมาก่อนจะเจอมรสุมจนเรืออับปางบริเวณชายฝั่งพังงา จนกระทั่งวันเวลาผ่านไปก็มีผู้คนมาพบเห็น ดังนั้น เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน คนจีนในภูเก็ต พังงา และจังหวัดใกล้เคียง ก็มักจะเดินทางมานมัสการพระผุด เป็นประจำจนถึงทุกวันนี้


ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จประภาสจังหวัดภูเก็ต และเสด็จทอดพระเนตรพระผุด จึงทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า "การก่อสร้างพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูน มีแต่พระเศียรกับพระองค์เพียงครึ่งทรวง เพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือการทำก็กระนั้นแหล่ะ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่กล้าทำพระเล่นแค่ครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างยิ่ง" และพระองค์ทรงพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า "วัดพระทอง"

วัดพระทอง ตั้งอยู่ในตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ก่อตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2328 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2523


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น