“ทุเรียน GI” ทุเรียนขึ้นชื่อประจำแต่ละท้องถิ่น ที่ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว 17 รายชื่อ ซึ่งทุเรียนในแต่ละแหล่งก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และรสชาติดีอร่อยถูกใจ
ถึงฤดูกาลที่หลายๆ คนรอคอย นั่นก็คือฤดูกาลของ “ทุเรียน” ผลไม้ที่คนรักก็รักมาก แต่บางคนก็ทนกลิ่นไม่ไหว แต่สำหรับทุเรียนเลิฟเวอร์แล้วนั้น แน่นอนว่าจะต้องเสาะหาทุเรียนอร่อยๆ กินกันในช่วงฤดูผลไม้นี้
ซึ่งในเมืองไทยก็สามารถปลูกทุเรียนได้เกือบทั่วประเทศ และมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือก โดยในแต่ละพื้นที่ ทุเรียนก็จะมีรสชาติและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน และด้วยเหตุที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันนี้ จึงทำให้ทุเรียนที่ปลูกในแต่ละท้องถิ่นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
สำหรับ “สินค้า GI” หรือ Geographical Indication เครื่องหมายที่ได้รับจากการขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีทั้งสินค้าแปรรูป ข้าว ผัก ผลไม้ ผ้า หัตถกรรม ไวน์และสุรา โดยจะต้องมาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง
จากข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 17 รายชื่อ (ข้อมูลวันที่ 10 เม.ย.67) ได้แก่
“ทุเรียนนนท์” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมือง ที่มีรสชาติดี หวาน มัน หอม เนื้อละเอียด สีเหลือง ปลูกในเขตพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บางกรวย อ.ปากเกร็ด อ.บางใหญ่ อ.บางบัวทอง และ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี
“ทุเรียนป่าละอู” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ชะนี มีลักษณะเนื้อหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียนละเอียด กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เม็ดลีบเล็ก มีผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ปลูกในเขตพื้นที่ป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
“ทุเรียนปราจีน” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ที่มีเนื้อแห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี อ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ์ และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี
“ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล มีผลทรงกลม หรือกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์
“ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล มีผลทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเหนียวแห้ง รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เนื้อมาก เส้นใยน้อย เก็บไว้ได้นานโดยไม่แฉะ มีเมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์
“ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” หมายถึง เรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะ ที่มีรสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมปานกลาง เนื้อละเอียด เนียนนุ่ม แห้ง สีเนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล ปลูกในพื้นที่ อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษณ์ และ อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ
“ทุเรียนสาลิกาพังงา” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของ จ.พังงา มีลักษณะผลทรงกลม เปลือกบาง หนามสั้นและถี่ เนื้อหนาละเอียด สีเหลืองเข้ม กลิ่นหอมแต่ไม่ฉุนมาก แกนกลางเปลือกทุเรียนจะมีสีสนิมแดง เมล็ดลีบ รสชาติหวาน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.กะปง จ.พังงา
“ทุเรียนในวงระนอง” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ผลทรงกลมรี มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามถี่สีเขียว เนื้อหนาเนียนละเอียดสีเหลืองทอง เมล็ดลีบ รสชาติหวานหอม มัน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน ปลูกในพื้นที่ ต.ในวงเหนือ และ ต.ในวงใต้ อ.ละอุ่น จ.ระนอง
“ทุเรียนชะนีเกาะช้าง” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์ชะนี ที่มีลักษณะผลค่อนข้างรี ยาว หนาวใหญ่ และห่าง เปลือกบาง สีผิวออกสีน้ำตาลปนแดง เนื้อทุเรียนหนา ผิวสัมผัสละเอียด แห้ง เหนียว มีสีเหลืองเข้มไปจนถึงสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานมัน และมีกลิ่นหอม ปลูกเฉพาะในพื้นที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด
“ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวาน มัน ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
“ทุเรียนจันท์” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์พวงมณี พันธุ์นกหยิบ พันธุ์ทองลินจง พันธุ์นวลทองจันทร์ พันธุ์กบสุวรรณ และพันธุ์ทางการค้า ได้แก่ พันธุ์จันทบุรี 1 ถึงพันธุ์จันทบุรี 10 ที่มีเนื้อละเอียด สีเหลือง หรือเหลืองเข้ม หรือเหลืองอมส้ม เนื้อหนาละเอียด มีเส้นใยน้อย หรือไม่มีเส้นใย รสชาติหวานมัน หรือหวานแหลม ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่ จ.จันทบุรี
“ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซันคิง และ พันธุ์หนามดำหรือโอฉี่ มีลักษณะเนื้อแห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย เนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ มีกลิ่นเฉพาะตัวตามสายพันธุ์ รสชาติหวานมัน ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ในเขตพื้นที่ จ.ยะลา
“ทุเรียนทรายขาว” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีรูปร่างทรงกลมรี เปลือกค่อนข้างบาง มีสีน้ำตาลอ่อนๆ หนาวเล้กและยาว เนื้อสีเหลือง แห้ง ไม่เละ เนื้อละเอียดเหมือนเนื้อครีม ไม่เป็นเส้น รสชาติหวานมัน กลมกล่อม กลิ่นหอมไม่ฉุน เมล็ดลีบ ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่ ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
“ทุเรียนทะเลหอย” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี ที่มีรสชาติหวานมัน เข้มข้น เนื้อหนา ละเอียดเนียน ผิวสัมผัสแห้ง ไส้แห้งแม้จะเก็บเกี่ยวในช่วงฝนตกชุก กลิ่นหอมอ่อน ปลูกและผลิตในพื้นที่ ต.ปลายพระยา และ ต.เขาเขน อ.ปลายพระยา จ.กระบี่
“ทุเรียนทองผาภูมิ” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีเรื้อหนาเป็นครีม สีเหลือง ผิวมันวาว เส้นใยน้อย กลิ่นไม่ฉุน รสชาติหวานมัน ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่ 4 อำเภอ ของ จ.กาญจนบุรี ได้แก่ อ.ทองผาภูมิ อ.ไทรโยค อ.สังขละบุรี และ อ.ศรีสวัสดิ์
“ทุเรียนหมอนทองระยอง” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มีลักษณะเปลือกบาง แยกเป็นพูชัดเจน เนื้อหนาละเอียด สีเหลืองนวล แห้ง เหนียว เส้นใยน้อย กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวานมัน ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่ จ.ระยอง
“ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เปลือกผิวสีเขียวปนน้ำตาล ปลายหนามแข็งและแหลมคม เนื้อทุเรียนสีเหลืองอ่อน หนา รสชาติหวาน มัน ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่ 5 อำเภอของ จ.ตราด ได้แก่ อ.เมืองตราด อ.คลองใหญ่ อ.บ่อไร่ อ.แหลมงอบ และ อ.เขาสมิง
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline