ลบภาพจำของห้างสรรพสินค้าแบบเดิมๆออกไปได้เลย เพราะ “ห้างสรรพสินค้าฮายาชิ” แห่งเมืองไถหนานในไต้หวัน เป็นห้างที่มีจุดขาย ในรูปแบบเชิงวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ ผสมกับบรรยากาศวินเทจย้อนเวลากลับไปในวันวานที่น่าหลงใหล
จุดเริ่มต้นวัฒนธรรมไต้หวันยุคใหม่
ห้างสรรพสินค้าในเมืองไถหนาน ตอนใต้ของไต้หวันแห่งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งแฟชั่นในช่วงทศวรรษที่ 1930 เปิดบริการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1932 (พ.ศ. 2475) ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมไต้หวันยุคใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น
โดยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ทศวรรษปี 1930 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมสมัยใหม่ในไต้หวัน มีสินค้าแปลกใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟไฟฟ้า โทรศัพท์ ท่อประปา และยานยนต์
ส่วนคาเฟ่ต่างๆก็กำลังกลายเป็นความนิยมในยุคนั้น เช่นเดียวกับวัฒนธรรมป๊อป ภาพยนตร์ เครื่องบันทึกเสียง และดนตรีแจ๊ส แม้แต่ช่วงสงครามแปซิฟิกปะทุขึ้น ก็มีการเล่นเพลงวอลทซ์ครั้งสุดท้ายในยุคที่ผู้คนยังนิยมเต้นรำ ซึ่งห้างสรรพสินค้าฮายาชิ ก็เป็นสถานที่ปิดท้ายการพบปะกันของคนไถหนานในช่วงสั้นๆ
ก่อตั้งโดยชาวญี่ปุ่น
สำหรับ “ห้างสรรพสินค้าฮายาชิ” เป็นที่รู้จักของชาวไถหนานในชื่อ “บ้านห้าชั้น” เหตุที่มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น เพราะก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น “ฮายาชิ โฮอิจิ” ผู้เดินทางเสี่ยงโชคจากบ้านเกิดมาตั้งแต่วัยหนุ่ม มาหาธุรกิจทำที่ไถหนาน ซึ่งโชคดีที่เขาพบที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจร้านเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม ซึ่งให้ฮายาชิเริ่มต้นทำงานเป็นคนทำบัญชี ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตลาด และด้วยวิสัยทัศน์และความสามารถของเขา จึงเปิดร้านค้าเล็กๆ ก่อนจะมีร้านค้าอีกสองร้านตามมาไม่นาน
ฮายาชิ เริ่มการลงทุนในบริษัทอื่นอีก 4 แห่ง จนกระทั่งในที่สุดก็มีเงินทุนเพียงพอที่จะขยับขยายไปถึงขั้นสร้างห้างสรรพสินค้าของตนเอง โดยห้างสรรพสินค้าเปิดอย่างเป็นทางการปลายปี ค.ศ.1932 เพียงไม่กี่วันหลังจากห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในไต้หวันเพิ่งเปิดตัวไป (ห้างสรรพสินค้าคิคุโมโตะ หรือที่รู้จักกันในชื่อสวรรค์ที่ 7 ซึ่งเปิดในกรุงไทเป)
ด้วยเหตุนี้ห้างสรรพสินค้าฮายาชิจึงกลายเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อันดับสองในไต้หวัน และเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของไต้หวันในยุคนั้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นับว่าน่าเสียดายที่ ฮายาชิ นั้นมีอาการป่วยมานาน ทำให้เขาเสียชีวิตหลังจากเปิดห้างไปเพียงไม่กี่วัน แต่ห้างสรรพสินค้าสุดทันสมัยแห่งยุค ก็ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วยดี
ความเปลี่ยนแปลงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ห้างสรรพสินค้าฮายาชิซึ่งได้รับความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศในช่วงสงคราม ได้กลายมาเป็นสำนักงานโดยโรงงานเกลือไต้หวัน ชั้นบนสุดใช้สำหรับเป็นจุดต่อต้านอากาศยาน
ก่อนแปรสภาพเป็นกองตำรวจพิเศษที่ 3 และอาคารส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยบริษัทเกลือไต้หวัน ซึ่งในที่สุดก็ได้ย้ายสำนักงานไป จนกระทั่งถึงปี 1998 ห้างสรรพสินค้าฮายาชิจึงถูกจัดให้เป็นมรดกของเทศบาล และกรรมสิทธิ์ก็ถูกโอนไปยังรัฐบาลเมืองไถหนาน การบูรณะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556)
หลังจากการบูรณะเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2013 สำนักงานกิจการวัฒนธรรมของรัฐบาลเมืองไถหนานได้เปิดการประมูลเพื่อจ้างสิทธิ์การจัดการ และหลังจากการคัดเลือกการประมูลแบบเปิด บริษัท Focus (Koche Development Company) ก็เป็นผู้ชนะการประมูล ก้าวสู่ยุคใหม่ในฐานะห้างสรรพสินค้าสร้างสรรค์วัฒนธรรมไถหนาน กลายเป็นหน้าต่างเชื่อมระหว่างสองยุคสมัยจากอดีตสู่ปัจจุบันของเมืองไถหนาน
“ห้างสรรพสินค้าเชิงวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์”
ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าสไตล์อาร์ตเดโคแห่งนี้ ได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม คุ้มค่าที่จะเข้าไปใช้เวลาชม ชอป ข้างใน ตั้งแต่ชั้นล่างที่ขายสินค้าท้องถิ่นเกรดพรีเมียม จุดจัดแสดงนิทรรศการ สินค้าประเภทงานคราฟต์ของท้องถิ่น ไปจนถึงด้านบนที่มีคาเฟ่ย้อนยุคน่ารัก และพลาดไม่ได้กับดาดฟ้าชมวิวชั้นบนสุดซึ่งจะได้พบกับศาลเจ้าชินโต และมีร่องรอยหลักฐานความเสียหายที่ได้รับในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีทิวทัศน์สุดคลาสสิกของฝั่งตรงข้าม คือ ธนาคาร Nippon Kangyo ซึ่งเป็นธนาคารสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอคลาสสิก
ห้างฮายาชิ วางจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น แต่มีดีไซน์แปลกใหม่ มีแพคเกจน่ารักๆสวยงามน่าซื้อ และมีการผสมผสานระหว่างเสน่ห์ของสินค้าท้องถิ่นกับความร่วมสมัยได้อย่างลงตัว โดยสินค้าหลายอย่างก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะหาซื้อได้ที่ห้างแห่งนี้เท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติม
ห้างสรรพสินค้าฮายาชิ เปิดบริการทุกวัน 11.00-21.00 น.
การเดินทาง จากสถานีรถไฟ Tainan
นั่งรถบัสสาย 14 ไปลงที่สถานี Mingquan Rd. (Beiji Temple)
สำนักงานท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ
https://www.taiwantourism.org/th/ หรือ Facebook : @itstimefortaiwanth
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline