xs
xsm
sm
md
lg

อันซีน “มรดกโลกศรีเทพ” ทับหลังอุมามเหศวร กับ “หน้ากาลจับนาค” หนึ่งเดียวในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ทับหลังอุมามเหศวร กับ “หน้ากาลจับนาค” หนึ่งเดียวในไทย แห่งเมืองโบราณศรีเทพ
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งอันซีนไทยแลนด์ ที่หลาย ๆ คนไม่รู้ สำหรับทับหลัง รูป “อุมามเหศวร” ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งมรดกโลก “เมืองโบราณศรีเทพ” ที่นอกจากจะเป็นงานศิลปะยุคบาปวน-นครวัด อันสุดคลาสสิกแล้ว ยังมีงานแกะสลักหินรูป “หน้ากาลจับนาค” ที่พบเจอหนึ่งเดียวในเมืองไทย ณ ปัจจุบัน ซึ่งหลาย ๆ คนนิยมมาเดินลอดทับหลังของประตูช่องนี้ ด้วยเชื่อว่าตัวหน้ากาลจะช่วยกลืนกินสิ่งชั่วร้ายออกไปจากตัวเรา

รู้จักหน้ากาล


“หน้ากาล” (Kala face) หรือ “เกียรติมุข” หรือ “สิงหมุข” มาจากความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะเป็นรูปหน้ายักษ์ผสมสิงห์ที่มีแต่ใบหน้าไม่มีลำตัว มีหน้าตาดุร้าย นัยน์ตาถลนโปน คิ้วขมวด จมูกใหญ่ ปากกว้างมีฟันบนโผล่ออกมา มีแขนออกมาจากด้านข้างของศีรษะที่สวมเครื่องประดับ

หน้ากาลจับนาคบนทับหลังรูปอุมามเหศวร แห่งเมืองโบราณศรีเทพ
หน้ากาล คือ ผู้ที่กลืนกินทุกสรรพสิ่งแม้แต่ตัวเอง เปรียบดังกาลเวลาที่กลืนกินทุกอย่าง นอกจากนี้ กาล (กาละ) ยังเป็นชื่อหนึ่งของ “พระยม” ผู้พิพากษาคนตายในอาถรรพเวทของศาสนาฮินดูอีกด้วย

ความเชื่อเรื่องหน้ากาลปรากฏในหลายประเทศของเอเชียไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมไปถึงในประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยมีหลักฐานว่าพบงานศิลปกรรมหน้ากาลมาตั้งแต่สมัยทวารวดี

ภาพจำของหน้ากาลที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย คือภาพลวดลายหน้ากาลที่สลักบนทับหลังของปราสาทหินต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่หน้ากาลจะเป็นตัวรองอยู่ด้านล่าง ส่วนเหนือหน้ากาลขึ้นไปจะเป็นบรรดาทวยเทพต่าง ๆ ตามความเชื่อ อย่างเช่น พระศิวะ พระยม พระอินทร์ เป็นต้น

หน้ากาลจับนาค หนึ่งเดียวในไทย


ปรางค์สองพี่น้อง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
สำหรับที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” แห่ง “เมืองโบราณศรีเทพ” อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ มรดกโลกลำดับล่าสุดของไทย มีอันซีนไทยแลนด์รูปหน้ากาลที่แปลกแตกต่างไม่เหมือนใครอยู่บนทับหลังที่ “ปรางค์สองพี่น้อง” ซึ่งเป็นหนึ่งในโบราณสถานสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพ

ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า ปรางค์สองพี่น้องเป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ ประกอบด้วยปรางค์ 2 องค์ใหญ่-เล็ก ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

ทับหลังรูปอุมามเหศวรที่ปรางค์องค์เล็ก
ปรางค์องค์ใหญ่สูงราว 7 เมตร ส่วนปรางค์องค์เล็กที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลัง มีไฮไลต์สำคัญคือทับหลังรูป “อุมามเหศวร” ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งเป็นทับหลังที่มีสภาพและลวดลายแกะสลักหินสมบูรณ์ที่สุดหลงเหลืออยู่หนึ่งเดียวแห่งมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ

ทับหลังรูปอุมามเหศวรเป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด แกะสลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ที่ยืนอยู่บนตัวหน้ากาลอีกที ท่ามกลางลวดลายพรรณพฤกษาศิลปะแบบบาปวน

ปรางค์สองพี่น้องมีทับหลังที่มีลวดลายสมบูรณ์ที่สุดแห่งเมืองโบราณศรีเทพ
หน้ากาลตัวนี้มีลักษณะแปลกแตกต่างจากหน้ากาลบนทับหลังอื่น ๆ ในบ้านเรา เพราะเป็นหน้ากาลที่ไม่กลืนกินหรือคายอะไรออกมา แถมยังโผล่ออกมาไม่เต็มหน้า

ที่สำคัญคือหน้ากาลตัวนี้ มือซ้าย-ขวากำลังจับยึดนาคสามเศียรมีรัศมี ที่เลื้อยออกมาจากเถาพวงมาลัยซึ่งเป็นศิลปะแบบนครวัด มีลักษณะคล้ายนาคบนสะพานนาคที่ปราสาทหินพิมายที่เป็นศิลปะในยุคเดียวกัน ซึ่งนี่น่าจะเป็นทับหลังที่มีตัวหน้ากาลจับยึดนาคหนึ่งเดียวในเมืองไทยที่พบเจอ ณ ปัจจุบัน

หลายคนนิยมมาลอดทับหลังปรางค์องค์เล็กด้วยเชื่อว่าหน้ากาลจะช่วยกลืนกินสิ่งชั่วร้ายจากตัวเรา
ตามความเชื่อเรื่องหน้ากาลเป็นผู้ปกป้องสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในศาสนาสถาน ปัจจุบันจึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมไปเดินลอดประตูใต้ทับหลังรูปอุมามเหศวร โดยเชื่อว่าหน้ากาลแห่งมรดกโลกตัวนี้จะช่วยกลืนกินสิ่งชั่วร้ายสิ่งไม่ดีออกไปจากตัวเรา

นี่แม้จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์สีสันของเมืองมรกดโลกศรีเทพที่น่าสนใจยิ่ง

ไฮไลต์ อุทยานฯ ศรีเทพ


ปรางค์ศรีเทพแห่งเมืองโบราณศรีเทพ
สำหรับเมืองโบราณศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกลำดับที่ 7 ของไทย และเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยจากองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ 2566

ศรีเทพเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จากหลักฐานทางโบราณคดี และงานศิลปกรรมที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการรับอารยรรมจากภายนอก ทั้งจากอินเดีย เขมร และวัฒนธรรมทวารวดีแหล่งอื่น ๆ จนเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นอกจากปรางค์สองพี่น้องที่มีหน้ากาลจับนาคเป็นอันซีนไทยแลนด์แล้ว ภายใน “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลากหลายให้เที่ยวชมกัน ดังนี้

รูปเคารพเจ้าพ่อศรีเทพ
“เจ้าพ่อศรีเทพ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองศรีเทพ ประดิษฐานอยู่ภายในเรือนไทย ซึ่งทั้งชาวบ้านในพื้นที่และนักท่องเที่ยวนิยมมากราบไหว้ขอพร เสริมสิริมงคล

“ปรางค์ศรีเทพ” เป็นศิลปะเขมร สมัยนครวัด ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เดิมเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู สมัยทราวดี ต่อมาในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีการปรับเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนามหายาน

โบราณสถานเขาคลังใน
“โบราณสถานเขาคลังใน” เป็นตัวอย่างของศาสนาสถานในพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ในวัฒนธรรมทวารวดี ที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า และเป็นบันไดทางขึ้นไปที่ชั้นบน

พลแบกแห่งเขาคลังใน
“คนแคระหรือยักษ์” เป็นประติมากรรมพลแบกรอบฐานเขาคลังใน ซึ่งไม่ได้มีเพียงรูปคนแคระหรือยักษ์เท่านั้น แต่ยังมี รูปสัตว์อื่น ๆ เช่น สิงห์ ช้าง ลิง และควาย เป็นต้น

โครงกระดูก มนุษย์-ช้าง-สุนัข ที่หลุมขุดค้น
“หลุมขุดค้นทางโบราณคดี” พบโครงกระดูกช้างและมนุษย์สมัยก่อนทราวดีพร้อมกับสุนัข อายุกว่า 1,700 ปี

“โบราณสถานเขาคลังนอก” อยู่บริเวณนอกเมืองโบราณสถานศรีเทพด้านทิศเหนือ ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบกับโบราณสถานเขาคลังนอก สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่และมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี

ไอศกรีมศรีเทพ อีกหนึ่งไฮไลต์ไม่ควรพลาด
“ไอศกรีมศรีเทพ” เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ไม่ควรพลาดของผู้มาเยือนมรดกโลกศรีเทพ ปัจจุบันมี 4 ลาย ได้แก่ ลายคนแคระหรือยักษ์ ลายพลแบกหน้าสิงห์ ลายกนกผักกูด และลายดอกไม้ มีหลากหลายรสชาติให้ได้เลือก อาทิ รสนมเย็น ชาไทย สตอเบอร์รี่ มะม่วง มะพร้าว เป็นต้น

มหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ


หลังเมืองโบราณศรีเทพได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ทำให้เกิดกระแสเที่ยวศรีเทพขึ้น จนมีผู้เข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเพิ่มมากขึ้นกว่า 10 เท่า ซึ่งวันนี้มีนักท่องเที่ยวทะลุ 1 ล้านคนแล้ว กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงมีกำหนดจัดงาน “มหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ Si Thep World Heritage Illumination 2024” ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว ในวันที่ 3 – 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 18.00 – 21.00 น. ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

เขาคลังนอก
ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ นำโดย การแสดง Light & Sound “มหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ Si Thep World Heritage Illumination 2024” ด้วยเทคนิคการฉาย Projection Mapping บนโบราณสถานเขาคลังนอก ชมการ ต่อยอดมหาสถูปเขาคลังนอกเป็นครั้งแรกผ่านการฉายแสงเลเซอร์ และอุโมงค์แสง

ภาพจำลอง การแสดง Light & Sound มหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ (ภาพ : กรมศิลปากร)
การแสดง “โขนมรดกโลกสัญจร” โดยสำนักการสังคีต เรื่องรามเกียรติ์ ตอนลักนางสีดา ยกรบ ในวันที่ 3 พ.ค. 57 เวลา 20.00 – 21.30 น.

โขนมรดกโลกสัญจร งานมหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ (ภาพ : ททท.)
นอกจากนี้ก็ยังมี นิทรรศการ 120 ปี แห่งการค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ชมการสาธิตการทอผ้า การจักสาน และผลิตภัณฑ์จากชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ ที่ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ การถ่ายภาพลงตราไปรษณียากร “Personalized Stamp” และการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน โดยนักเรียนและชาวบ้านในชุมชนโดยรอบเมืองโบราณศรีเทพ ทั้งนี้ผู้สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.sithep.org




กำลังโหลดความคิดเห็น