xs
xsm
sm
md
lg

งดงามเปี่ยมศรัทธา “พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล” อนุสรณ์สถานหลวงตามหาบัว ณ วัดป่าบ้านตาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล
ชวนชมความงดงามเปี่ยมศรัทธาของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล” อนุสรณ์สถาน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
“อุดรธานี” เป็นอีกจังหวัดในภาคอีสาน ที่สายบุญมักจะเดินทางมาตามเส้นทางบุญ เนื่องด้วยที่นี่มีทั้งวัดบ้าน วัดป่า พระเกจิชื่อดังหลายองค์ ได้ทำบุญ ทำทาน เพื่อความสุขใจและความเป็นสิริมงคล

หนึ่งในวัดใกล้ๆ ตัวเมืองอุดรธานี ที่หลายคนรู้จักกันดีก็คือ “วัดป่าบ้านตาด” หรือ “วัดเกษรศีลคุณ” เป็นวัดที่ “พระธรรมวิสุทธิมงคล” (บัว ญาณสมฺปนฺโน) หรือ “หลวงตามหาบัว” ได้ก่อตั้งขึ้นจากการร่วมกันถวายที่ดินของชาวบ้าน และแม้ว่าวันนี้ท่าจะได้จากไปแล้ว แต่ความศรัทธาของผู้คนก็ยังคงอยู่

ส่วนหน้าบันของพระวิหาร
จึงก่อเกิดเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล" อนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ให้เป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมะ คำสอนของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นอนุสรณ์สถานที่เก็บรวบรวมประวัติหนังสือ คำสอน และเครื่องอัฐบริขารของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อเตือนใจให้เยาวชน คนรุ่นหลัง ทั้งสงฆ์และฆราวาสให้รำลึกถึงคุณูปการของท่านทั้งในทางโลกและทางธรรม และถือเป็นแบบอย่างใน การปฏิบัติ และทำความดีเพื่อพุทธศาสนาและประเทศชาติต่อไป

โดยได้เริ่มต้นการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2559 และได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงรับเป็นประธานโครงการ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ ทีมสยามรีโนเวท เป็นผู้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบใดๆ ทั้งสิ้น

ภายในพิพิธภัณฑ์ (ภาพจากเพจ : พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์)
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงออกแบบลักษณะของพระเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์ โดยทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจากสถาปัตยกรรมศิลปะล้านช้าง ผสมผสานกับศิลปะยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสานยังคงดำรงอย่างมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป พระเจดีย์แห่งนี้ นับเป็นศิลปกรรมไทยองค์สำคัญองค์สุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ ๙ ก็ว่าได้

“พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล” ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ เจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์ ส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้นจะอยู่ด้านหน้าของพระวิหารและองค์เจดีย์ ภายในประกอบด้วยห้องแสดง 6 ห้อง คือ ห้องที่ 1 ธรรมของพระพุทธเจ้า ห้องที่ 2 จากกตัญญูมีสัจจะ สู่ร่มกาสาวพัสตร์ ห้องที่ 3 จากปริยัติมุ่งมั่นเพียรพยายามสู่การปฏิบัติ ห้องที่ 4 เมตตาอบรมสั่งสอน ห้องที่ 5 บารมีหลวงตาช่วยชาติ ห้องที่ 6 ละสังขาร ศิษยานุศิษย์สามัคคีบูชา

ภายในพิพิธภัณฑ์ (ภาพจากเพจ : พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์)

พระวิหารและเจดีย์
ถัดมาจะเป็นบันไดทอดยาวขึ้นสู่ "พระวิหาร" โดดเด่นด้วยหลังลดหลั่นซ้อนกันสามชั้น ในการออกแบบหลังคาพระวิหารนี้ได้ใช้วัสดุ ทองแดง มาแทนกระเบื้อง เพื่อตัดปัญหาการบูรณะซ่อมแซมอนาคต โดยทองแดงเป็นวัสดุที่ยุโรปและอินเดียใช้ในการสร้างสถาปัตยกรรมสำคัญๆ มีความคงทนกว่ากระเบื้องดินเผา อยู่ได้เป็นร้อยปี ทองแดงแม้จะเกิดสนิมง่าย แต่ใช้น้ำยาเคลือบ ซึ่งจะคงทนเป็น 10 ปี เมื่อกาลเวลาผ่านไปจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ทำให้เป็นสีสนิมเขียวคล้ายโดมหลังคาของพระที่นั่งอนันตสมาคม

นอกจากนั้นยังไดใช้หินอ่อนไวท์คารารา จากประเทศอิตาลีมาตกแต่งพื้นและผนังรอบพระวิหารและเจดีย์ เพราะมีคุณสมบัติระบายความร้อนได้ดี ทำให้ตอนกลางวัน แม้แสงแดดจัด พื้นก็ยังเย็น ไม่ร้อน และมีความงดงามมากอีกด้วย

พื้นทำจากหินอ่อนไวท์คารารา

ด้านในพระวิหาร
ภายในพระวิหาร ประดิษฐาน “พระพุทธวิสุทธิมงคลศาสดา เจ้าฟ้าจุฬาภรณนฤมิตร” เป็นพระประธาน ส่วนด้านล่างเป็นรูปปั้นของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เบื้องหลังพระวิหาร เป็นองค์ "เจดีย์" ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่มีกลิ่นอายศิลปะล้านช้าง รูปทรงระฆังแปดเหลี่ยม ปลียอดโลหะทองแดงปิดด้วยทองคำบริสุทธิ์ 96.70% ภายในบรรจุพระอัฐิธาตุของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

บนยอดเจดีย์ยังเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ ที่ได้รับการประทานจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมพโร) และมีอัฐิธาตุของหลวงตามหาบัวส่วนของศีรษะและฟันบรรจุไว้ด้วย

เจดีย์สถาปัตยกรรมไทยที่มีกลิ่นอายศิลปะล้านช้าง

ด้านในเจดีย์
นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูป 4 องค์ประดิษฐานอยู่บนยอดเจดีย์ โดยเป็นพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปพิงก์โกลด์ และพระพุทธรูปหินจุยเจีย ปางสมาธิ โดยพระพุทธรูปทองคำสร้างขึ้นจากปฏิปทาของหลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร และคณะศิษยานุศิษย์หลวงตา พระมหาบัว บริจาคทองคำและเงินสมทบทุนสร้างพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ ร้อยละ 99.99 กำหนด ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

พระพุทธรูปเงิน สร้างจากเงินบริสุทธิ์ร้อยละ 92.5 ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก พระพุทธรูปพิงก์โกลด์ สร้างจากทองคำบริสุทธิ์ร้อยละ 42 (10 เค) ผสมอัลลอย เพื่อให้เนื้อออกมาเป็นสีนาก ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ และพระพุทธรูปหินจุยเจียสร้างจากหินควอตซ์เกรดดีที่สุด น้ำหนัก 25 กิโลกรัม แกะสลักโดยช่างฝีมือระดับสูงที่อายุน้อยที่สุดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้

ยอดเจดีย์

พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
พระธาตุเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์ พร้อมส่วนประกอบอื่นๆ เหล่านี้ ตั้งอยู่เป็นแนวเดียวกับจิตกาธาน สถานที่พระราชทานเพลิงสรีรสังขารของหลวงตามหาบัว อีกทั้งยังเป็นแนวชี้ตรงไปถึงพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดินแดนพุทธภูมิในสาธารณรัฐอินเดียอีกด้วย

และที่ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ยังมีอาคารอีกหลังคือ “พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน” ที่ด้านในเก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของท่านในสมัยยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะพัดยศ อัฐิธาตุ ภาพประวัติ ส่วนผนังด้านนอก จะบอกเล่าเรื่องราวช่วงชีวิตการบวชของหลวงตามหาบัว เช่น การบิณฑบาต เดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือแม้กระทั่งภาพฝาผนังที่รวมบรรดาเกจิสายวัดป่าของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ด้านในพิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร

เครื่องอัฐบริขารของหลวงตามหาบัว

ผนังด้านนอกเล่าเรื่องราวของหลวงตามหาบัว



#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น