เรือลำน้อยล่องมาถึงชายฝั่ง “เกาะกระดาด” ก็สัมผัสได้ถึงความเงียบสงบและธรรมชาติบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่ง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกวางตัวใหญ่ที่มองเห็นอยู่ลิบๆ ซึ่งฉายภาพให้เห็นเอกลักษณ์บนเกาะแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
“เกาะกระดาด” เป็นหนึ่งในหมู่เกาะหมาก จังหวัดตราด เป็นเกาะเดียวในพื้นที่ที่เป็นที่ราบจากเปลือกโลกเคลื่อนตัวแยกออกมา ถือเป็นหินแร่อัคนีจากภูเขาไฟอายุกว่า 300-400 ล้านปี
เกาะมีพื้นที่ประมาณ 2.8 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,113 ไร่เศษ มีความกว้างประมาณ 1.2 กิโลเมตร ยาวประมาณ 2.4 ตารางกิโลเมตร ลักษณะเมื่อมองจากภาพถ่ายทางอากาศเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีฐานกว้างเป็นเส้นตรง มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นที่ราบระดับเดียวกัน สูงไล่เลี่ยกับระดับน้ำทะเล โดยมีเนินอยู่ตรงกลาง ยอดเนินสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 36 เมตร มองไกลๆ จะมีลักษณะเป็นแผ่นกระดาษ
เกาะกระดาดได้รับการคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ โดยชื่อของเกาะที่นอกจากแบนราบคล้ายกระดาษแล้ว ยังมีที่มาจาก “ต้นกระดาด” ที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมากบนเกาะแห่งนี้ สอดคล้องกับพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงเขียนชื่อ "เกาะกระดาด" น่าจะมาจากชื่อของต้นกระดาดที่พบมากบนเกาะ ลักษณะคล้ายต้นบอน ต้นเผือกที่หัวใช้ทำยาได้ เป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบขึ้นอยู่ตามชายหาดชื้นแฉะ แต่ในปัจจุบันแทบไม่หลงเหลืออีก กลายเป็นเกาะที่เต็มไปด้วยต้นมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในตราจองเขียนว่า "เกาะกระดาษ" จึงน่าจะมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเกาะที่มีพื้นที่เกือบจะแบนราบทั้งเกาะ ไม่มีภูเขา
เกาะกระดาด มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย เพราะเป็นเกาะที่มีการออกโฉนดถูกต้องตามกฎหมายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พระองค์เสด็จประพาสมายังเกาะแห่งนี้ ถึง 10 ครั้ง
ความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และยุทธศาสตร์ทางทะเล สาเหตุมาจากยุคล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสได้เข้ามาขยายอาณาเขตในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพยายามยึดครองแผ่นดินของไทย และเกาะกระดาดก็เป็นที่หมายหนึ่งของฝรั่งเศสด้วย
รัชกาลที่ ๕ ทรงซื้อ หรือทำตราจอง โดยซื้อจาก นายปร๊าก ชาวเขมร ซึ่งเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ออกโฉนดทีดินของเกาะขึ้น เพื่อให้รู้ว่าเกาะแห่งนี้คือผืนแผ่นดินไทย โดยพระราชทานให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระโอรสองค์ที่ 17) ก่อนที่จะกลายเป็นมรดกตกทอดสู่พระองค์เจ้านิทัศนาธร จิรประวัติ พระโอรสองค์โต ซึ่งทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ
ข้อมูลจาก เว็บไซต์ ilovekohmak.com ระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อหม่อมเจ้านิทัศนาธรสำเร็จการศึกษากลับมารับราชการ ไม่มีเวลาดูแล ประกอบกับเกาะอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพ ไปมาไม่สะดวกและมีไข้มาลาเรียชุกชุม จึงขายให้เอกชนไปในราคา 6,000 บาท นายวรกิจบรรหาร (พงษ์ รังควร) ผู้ได้รับการศึกษาดีจากต่างประเทศ เคยรับราชการสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ซื้อเกาะกระดาดในปี พ.ศ. 2482 เห็นว่ามีพื้นที่ราบและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีแหล่งน้ำจืดกลางเกาะ จึงบุกเบิกทำการเกษตร ปลูกมะพร้าวจำนวนมากเกือบ 20,000 ต้น
ต่อมาปี พ.ศ. 2512 นายชุมพล รังควร (บุตรชาย) ได้รับมรดก ยุคนี้ได้ได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดที่พัก "เกาะกระดาด ไอร์แลนด์ รีสอร์ต" เป็นรีสอร์ทที่หรูและทันสมัยที่สุดในยุคบุกเบิกของการท่องเที่ยวจังหวัดตราด ได้นำมาเนื้อกวางมาเลี้ยง 2-3 คู่และปล่อยให้ขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติเป็นเอกลักษณ์ของเกาะกระดาดมาตั้งแต่ครั้งนั้น
และในปี พ.ศ. 2531 ได้มีการขายเกาะกระดาดอีกครั้งนึงให้นายคีรี กาญจนพาสน์ ซึ่งซื้อในนามของบริษัท กาญจนพาสน์พัฒนา จำกัดและเป็นเจ้าของมาถึงปัจจุบัน
เกาะกระดาด มีหมู่เกาะบริวาร 4 เกาะ คือ เกาะใหญ่และเกาะเล็กๆ ทางด้านทิศเหนือ 3 เกาะคือ เกาะนกใน เกาะนกนอก และเกาะชู้ ช่วงน้ำลงมีลักษณะคล้ายทะเลแหวก สามารถเดินข้ามไปยังเกาะข้างเคียงได้ และยังเป็นการท่องเที่ยวต่อยอดเพื่อไปชม “เกาะขายหัวเราะ” อันโด่งดังของจังหวัดตราด ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณด้านหลังเกาะกระดาดนั่นเอง
ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวบนเกาะกระดาด มีหาดทรายขาวสะอาดเป็นแนวยาวตลอดเกาะ มีต้นมะพร้าวอยู่เป็นจำนวนมาก และมีฝูงกวางเลี้ยงอาสัยตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางเจ้าของเกาะได้จัดกิจกรรมนั่งรถอีแต๊กชมฝูงกวางในบรรยากาศซาฟารีกลางทะเล กลายเป็นกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนเกาะประวัติศาสตร์แห่งนี้
นอกจากนี้ บนเกาะกระดาด ยังมีต้นมะพร้าวแปลกตาต้นหนึ่ง ยื่นยาวเอียงลู่เข้าหาท้องทะเลก่อนจะไปกระดกยอดยกสูงขึ้น ทำให้มะพร้าวต้นนี้เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ประจำเกาะ และกลายเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยมของผู้มาเยือน
ข้อมูลเพิ่มเติม : ททท.สำนักงานตราด โทร. 039 597 259
facebook.com/tattratoffice
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline