xs
xsm
sm
md
lg

“ลาวหามเจ้า” ประเพณีหนึ่งเดียวในไทย อัญเชิญพระบรมรูป ร.๔ “แบกเสลี่ยง” ขึ้นเขาวัง รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


“ลาวหามเจ้า” จ.เพชรบุรี ประเพณีหนึ่งเดียวในไทย อัญเชิญพระบรมรูป ร.๔ “แบกเสลี่ยง” ขึ้นเขาวัง
พาไปรู้จักกับประเพณี “ลาวหามเจ้า” หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งชาว “ลาวโซ่ง” หรือ “ไทยทรงดำ” จัดขึ้นเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีไฮไลต์คือการ อัญเชิญพระบรมรูป รัชกาลที่ ๔ แบกเสลี่ยงขึ้นเขาวัง ซึ่งปีนี้ (2567) มีผู้ว่าฯ เมืองเพชร แต่งชุดไทยทรงดำร่วมแบกเสลี่ยงนำขบวนอัญเชิญด้วย

“ลาวหามเจ้า” เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในเมืองไทย จัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งชาว “ลาวโซ่ง” หรือ “ไทยทรงดำ” จัดขึ้นเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ทรงมีต่อชาวไทยทรงดำ โดยมีไฮไลต์คือการอัญเชิญพระบรมรูป รัชกาลที่ ๔ แบกเสลี่ยงขึ้นเขาวังซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของประเพณีนี้

ขบวนอัญเชิญพระบรมรูป รัชกาลที่ ๔ ขึ้นพระนครคีรี ปี 2567
สำหรับประวัติความเป็นมาของประเพณีลาวหามเจ้านั้น ทางเพจ มิวเซี่่ยม เพชรบุรี ได้อธิบายที่มาของประเพณีนี้ (เมื่อปี พ.ศ. 2562) โดยพูดถึงตำนานลาวหามเจ้าว่า

ตำนานลาวหามเจ้า 2019 เริ่มแล้ววันนี้(5 เมย.2562) ลาวทรงดำ ไทยทรงดำ ลาวโซ่งหรือไทดำ คำเรียกขานชาติพันธุ์หนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีที่มีวิวัฒนาการเรียกขานมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน บรรพชนพวกเขาเป็นที่โปรดปราน ในรัชกาลที่4และรัชกาลที่5 ทรงแต่งตั้งให้เป็นขุนนางและทำหน้าที่รับใช้ใกล้ชิด เรียกว่า ตำแหน่งเด็กชา เมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรมบนพระนครคีรี “เด็กชา” มีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ หามเสลี่ยง



 พระพุทธเจ้าหลวง และพระบรมศานุวงศ์ ชุดดำยืนด้านหลังได้รับพระราชทานให้ถ่ายรูปด้วยคือเด็กชาโซ่งเพชรบุรี (ภาพ : กรมศิลปากร พระนครคีรี 2561 จากเพจ มิวเซี่่ยม เพชรบุรี)
“เสลี่ยง” ในสมัยรัชกาลที่4 สำหรับขึ้นพระนครคีรีเป็นเช่นใดยังไม่พบคำอธิบายไว้ ทว่า “เสลี่ยง” สำหรับขึ้นพระนครคีรี ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงนั้นปรากฏหลักฐานภาพถ่ายชัดเจน “เสลี่ยง” มีลักษณะคล้ายเก้าอี้หวายมีคานไม้ขนาบสองข้างมีหลังคากันแดดกันฝน พิจารณาจากภาพถ่ายใช้คนหามด้านหน้าสองคนด้านหลังสองคน



ตำแหน่งเด็กชา หามเสลี่ยงที่เมืองเพชรพบหลักฐานในชั้นนี้เป็นคนเชื้อสายไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง,ไทดำ) ทำหน้าที่หาม พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ขึ้นพระนครคีรี 3 ยุค 3 สมัย ด้วยกัน ได้แก่สมัยรัชกาลที่4 สมัยรัชกาลที่ 5 และสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรีที่สำคัญ ในลักษณะ สัมพันธภาพ พระมหากษัตริย์ไทยกับชาติพันธุ์ไทดำ ในประเทศไทย(ในที่นี้หมายถึงจังหวัดเพชรบุรี) ภาษาปากคนเมืองเพชรเรียกสัมพันธภาพนี้ว่า “ตำนานลาวหามเจ้า”

เด็กชา ชาวลาวโซ่งเพชรบุรี และเก้าอี้หามเจ้าขึ้นเขาวัง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพ : กรมศิลปากร พระนครคีรี 2561 จากเพจ มิวเซี่่ยม เพชรบุรี)
การหามเจ้าขึ้นเขาวังหรือพระนครคีรี เมื่องครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 4 พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีภาพถ่าย ทำให้ทราบว่า “เด็กชา” ลาวโซ่ง ที่หามเสลี่ยงนุ่งกางเกง (“ซ่วง”) ใส่เสื้อฮี (เสื้อฮีเป็นเสื้อเกียรติยศสูงสุดของชาติพันธุ์ไทดำ,ลาวโซ่ง,ไทยทรงดำ)

พ.ศ.2505 รัชกาลที่ 9 เสด็จในงานพระราชพิธีฉลองพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.4) หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย ดิศกุล เสด็จมาด้วย พระองค์พระนิพนธ์ เรื่อง เพ็ชร์น้ำหนึ่ง ความตอนหนึ่งว่า “ทหารผู้ขับรถยนต์ขึ้นเขาวัง ข้าพเจ้ายอมกราบไหว้ ถ้าขับไม่ดีจะเลี้ยวหักไปมาในที่แคบชันอย่างนั้นได้อย่างไร พอรถหยุดก็พบเก้าอี้หามวางคอยอยู่ 4 ตัว สำหรับคนเดินขึ้นไม่ไหว คนหามเป็นพวกโซ่ง แต่งฟอร์มเด็กชาครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 สวยงาม คือกางเกงผ้าม่อฮ่อมสีน้ำเงินแก่และเสื้อผ่าเอวยาวแค่เข่าขลิบแดง มีผ้าคาดพุงอย่างผ้าขะม้าแลดูงามมาก”


ผู้ว่าฯ เมืองเพชร (คนที่ 2 จากขวา) ร่วมแบกเสลี่ยงนำขบวนอัญเชิญ
เสลี่ยงหามเจ้าขึ้นพระนครคีรี ที่พวกเราเข้าใจและเรียกกันนั้นน่าจะเรียกกันผิด เพราะหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย เรียกว่า “เก้าอี้หาม” ซึ่งตรงกับภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ในทัศนะของผม เกี่ยวกับเสลี่ยงหามเจ้าขึ้นพระนครคีรี สมควรต้องเรียกใหม่ “เก้าอี้หาม”

เครื่องแบบของ “เด็กชา” ก็พบว่าเสื้อที่มีกระดุมเงินเรียงเป็นแถวเป็นชุดเครื่องแบบพระราชทานสำหรับ ตำแหน่ง “เด็กชา


ชาวลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ร่วมขบวนลาวหามเจ้าเดินขึ้นเขาวัง
สำหรับประเพณีลาวหามเจ้านั้น เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในยุคปัจจุบันโดยอ้างอิงจากตำนานลาวหามเจ้า ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของงาน “ไทดำรวมใจ เทิดไท้พระจอมเกล้า” ซึ่งทางจังหวัดเพชรบุรีจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีต่อชาวไทยทรงดำ นอกจากนี้ยังมุ่งให้เกิดการรวมตัวกันของชาวไทยทรงดำ ที่อพยพโยกย้ายไปประกอบอาชีพต่าง ๆ ในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ให้มีโอกาสได้คืนสู่ถิ่นฐานที่เคยอยู่เดิม ตลอดจนเป็นการรวมพี่ รวมน้อง รวมญาติสนิทมิตรสหายตามประเพณีของชาวไทยทรงดำในวาระตรุษสงกรานต์ของทุกปี

อีกทั้งเป็นการแสดงถึงความเป็นผู้มีรากเหง้าวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวไทยทรงดำที่ควรหวงแหน อนุรักษ์ สืบทอด ให้ชาวไทยทรงดำที่เป็นอนุชนรุ่นหลังและประชาชนทั่วไปได้เห็นคุณค่า และเป็นการสืบสานขนมธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยทรงดำที่มีมาเป็นเวลาช้านาน

ทิวทัศน์บนเขาวัง (ช่วงก่อนประเพณีลาวหามเจ้า)
สำหรับงานไทดำรวมใจ เทิดไท้พระจอมเกล้า ประจำปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 5 เมษายน 2567 โดยกิจกรรมเริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงบ่าย ที่ บริเวณหน้าอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนครคีรี (สนามหน้าเขาวัง) อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรีมีการจัดริ้วขบวน ธง และไฮไลต์คือพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจำลอง ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แบกเสลี่ยงอัญเชิญขึ้นไปบนพระนครคีรีหรือเขาวัง เพื่อทำพิธีถวายราชสดุดี ซึ่งปีนี้ นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นอกจากจะแต่งชุดไทยทรงดำมาเป็นประธานเปิดงานแล้ว ยังร่วมแบกเสลี่ยงนำขบวนอัญเชิญพระบรมรูป รัชกาลที่ ๔ ขึ้นเขาวังด้วย

จากนั้นในช่วงค่ำมีการจัดกิจกรรมการแสดงบนเวทีตามวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยทรงดำ รวมถึงการสนุกสนานฟ้อนแคน และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

ประเพณีลาวหามเจ้า นอกจากจะเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในเมืองไทยแล้ว ยังเป็นหนึ่งในประเพณีอันซีนไทยแลนด์ที่แม้แต่คนเพชรหลาย ๆ คนก็ยังไม่รู้จักประเพณีนี้


เส้นทางเดินขึ้น-ลง เขาวัง




กำลังโหลดความคิดเห็น