ช่างภาพไทยสร้างชื่อ นาย “ชาตรี เลิศสินธนากร” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในหมวดพืชและเชื้อรา จากการประกวดภาพถ่ายธรรมชาติโลก 2024 มาครองจากผลงานภาพถ่าย “พิศวงตานกฮูก” พืชชนิดใหม่ของโลก
ผลการประกวดภาพถ่ายธรรมชาติโลก 2024 (World Nature Photography Awards 2024) เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าช่างภาพจากเมืองไทยคือ นาย “ชาตรี เลิศสินธนากร” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในประเภท “พืชและเชื้อรา” (Plant and Fungi) มาครอง จากผลงานภาพถ่าย “พิศวงตานกฮูก” พืชชนิดใหม่ของโลก
สำหรับพิศวงตานกฮูก หรือพิศวงไทยทอง เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก เป็นพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ดอยหัวหมด ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ขึ้นในป่าเต็งรังบนเขาหินปูนมีสถานภาพเป็นพันธุ์ไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นพืชล้มลุกอาศัยรา ลำต้นตั้งตรง สูงน้อยกว่า 2 ม.ม. เรียกได้ว่ามีขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีดไฟเท่านั้น
พิศวงตานกฮูกถูกพบครั้งแรกโดย ดร.กนกอร สีม่วง นักวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งร่วมกับ นายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ ต่อมารองศาสตราจารย์ ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดร. สมราน สุดดี นักวิจัยกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันตีพิมพ์เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 333(2) หน้า 287 ค.ศ.2018
พืชชนิดนี้เป็นพืชที่มีความสัมพันธ์กับเชื้อราในดิน และมีระบบนิเวศหรือการดำรงชีวิตอย่างสลับซับซ้อนกับพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือความสมดุลของป่าแห่งนี้ ซึ่งในอนาคตจะได้มีศึกษานิเวศวิทยาของพืชชนิดนี้ว่ามีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อย่างไร รวมไปถึงพิศวงตัวอื่นๆ ในสกุลนี้ด้วย ซึ่งความสัมพันธ์กับพืชชนิดอื่นอาจจะซ่อนอยู่ในพืชชนิดนี้ ที่ยังคงทำให้เราแปลกใจ ประหลาดใจ และเป็นปริศนาสมดังชื่อประจำสกุล “พิศวง”
นอกจากผลงานภาพถ่ายพิศวงตานกฮูกของช่างภาพไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท Plant and Fungi แล้ว ยังมีผลงานสุดยอดภาพถ่ายธรรมชาติรางวัลชนะเลิศประเภทต่าง ๆ อีกหลากหลาย
ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมภาพถ่ายธรรมชาติอันสวยงามน่าทึ่งในประเภทต่าง ๆ ได้ที่ worldnaturephotographyawards.com/winners-2024