พาไปรู้จักกับ “วัดฝายหิน” อีกหนึ่งวัดงามเมืองเชียงใหม่ ที่กำลังเป็นไวรัลโด่งดัง หลังเจ้าอาวาสวัดติงนายพิธาเรื่องนโยบายสถาบัน งานนี้ทำชาวเน็ตเสียงแตก โดยฝั่งด้อมส้มต่างเม้นต์ตำหนิเจ้าอาวาสว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมือง ขณะที่ชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่างออกมาชื่นชมท่านเจ้าอาวาส พร้อมตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่นายพิธาตอบกลับเจ้าอาวาสว่าเชื่อได้หรือไม่?
หลังนาย “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อและที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปทำภารกิจดับไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางคำถามและข้อสงสัยมากมายจากชาวเน็ต ก่อนที่จะเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ “วัดฝายหิน” พร้อมเข้ากราบนมัสการ “พระครูสมุห์ วิษุวัตร วรกิจจฺโจ” เจ้าอาวาสวัดฝายหิน ซึ่งกลายเป็นไวรัลโด่งดัง
โดยท่านเจ้าอาวาสวัดฝายหินได้ติงนายพิธาเรื่องนโยบายสถาบัน ดังบทสนทนาที่ชาวเน็ตแชร์กันเป็นจำนวนมาก ดังนี้
เจ้าอาวาส : “เขาเป็นสมมติเทพ ชาวบ้านเค้าเคารพนับถือแต่ไหนแต่ไรมา...ทำไมไปคิดถึงขั้นนั้น...แม้โยมจะบอกว่าไม่ได้คิด....แต่ถ้าบริวารคิด... แล้วโยมก็จะผิด”
พิธา : “ครับ พวกเราไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้นครับ...เราอยากให้พระองค์ท่านมั่นคงสถาพร”
เจ้าอาวาส : “ถ้าคิดอย่างนี้ตั้งแต่แรก สมหวังแล้ว”
พิธา : “ก็คิดอย่างนี้มาโดยตลอด...ถ้ามีโอกาสคงต้องอธิบาย...แต่ว่าเจตนาไม่มีเป็นอื่นแน่นอน”
หลังคลิปบทสนทนานี้ถูกเผยแพร่ ได้กลายเป็นไวรัลที่คนแชร์และแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมากบนโลกโซเชียล งานนี้ทำชาวเน็ตเสียงแตก โดยฝั่งด้อมส้มต่างเม้นต์ตำหนิเจ้าอาวาสว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมือง ขณะที่ชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่างออกมาชื่นชมท่านเจ้าอาวาสวัดฝายหิน พร้อมตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่นายพิธาตอบกลับเจ้าอาวาสว่าเชื่อได้หรือไม่?
นอกจากนี้ยังทำให้ชื่อของ #วัดฝายหิน กลายเป็นไวรัลและมีคนสนใจวัดแห่งนี้กันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น MGR Travel จึงขอพาไปรู้จักกับวัดฝายหินที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้กัน
วัดฝายหิน (บ้านฝายหิน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่) เป็นวัดราษฎร์ ที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ ด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และถนนทางขึ้นสถานีส่งโทรทัศน์ช่อง 7 ทางเดียวกันกับทางขึ้นสวนสัตว์เชียงใหม่ด้านประตูหลัง
วัดฝายหิน เป็นวัดโบราณเก่าแก่อายุหลายร้อยปี มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1985-2031) ว่าเดิมเคยเป็นอารามสำนักสงฆ์สาขา ของ “รตวนมหาวิหาร” (วัดป่าแดงหลวง เชียงใหม่) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาบาลีและพระไตรปิฎก ของคณะสงฆ์ลัทธิสิงหลใหม่ (พระพุทธศาสนาซึ่งรับมาจากประเทศศรีลังกา) คือ ฝ่ายป่าแดง (ฝ่ายอรัญญวาสี) ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอารามฝายหินไปประมาณ 1 กิโลเมตร
วัดฝายหิน เป็นที่รู้จักทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยมี “ครูบาหลวงมารวิชัย” เป็นเจ้ารูปแรกของวัด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ วัดฝายหินเจริญรุ่งเรืองและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสมัย “พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์” (ครูบาอุ่นเรือน โสภโณ) หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ครูบาฝายหิน” ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งต่อมาท่านได้รับการยกย่องให้เป็น “ปฐมสังฆราชาแห่งล้านนา”
ครูบาฝายหิน ท่านมีความสามารถหลายด้านจนได้รับการยกย่องว่าเป็น “พหูสูต” และได้รับการเชิดชูจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (ราชบิดาพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ขณะนั้น แต่งตั้งให้เป็น “ปฐมสังฆนายก” องค์ที่ 1 ของล้านนาไทยโดยให้มีสมณะศักดิ์ตำแหน่งนามว่า “ปฐมสังฆนายะกะโสภา วัดฝายหิน สังฆราชาที่ 1 เชียงใหม่” ในปี พ.ศ.2438
นอกจากนี้ในการประชุมสังฆสมาคม ณ วัดเบญจมบพิตร ที่กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ทางพระพุทธศาสนาในเชียงใหม่ ต่อหน้าพระพักตร์ พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ครูบาฝายหิน ยังได้แสดงบารมีธรรม ถวายพระพรตอบกิจการพระศาสนาฝ่ายเหนืออย่างรอบรู้ เป็นที่พอพระทัยรัชกาลที่ ๕ ยิ่ง พระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงแต่งตั้งครูบาฝายหิน เป็น “พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์”ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ รูปแรก
ปัจจุบันวัดฝายหินอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัดแห่งนี้มีบรรยากาศร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ และสัตว์ต่าง ๆ ที่ทางวัดเลี้ยงไว้เป็นเขตอภัยทาน อาทิ สุนัข แมว ไก่ นก
ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจ อาทิ เจดีย์บรรจุอัฐิ “พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์” (ครูบาฝายหิน), “วิหารจัตุรมุข” ที่มีบันไดพญานาค 7 เศียรดูสวยงามคลาสสิก, รูปเคารพ “ครูบามารวิชัย” (เจ้าอาวาสรูปแรก) ที่ทางวัดได้จัดพิธีสรงน้ำครูบามารวิชัยในทุกวันที่ 21 เมษายนของทุกปี “พระพุทธรูปไม้สัก” เก่าแก่ และ 3 อภิมหาเทพตะเคียนทอง เป็นต้น
วันนี้หลังเกิดไวรัลเจ้าอาวาสวัดฝายหินติงนายพิธาเรื่องนโยบายสถาบัน ทำให้มีคนสนใจวัดแห่งนี้กันเป็นจำนวนมาก โดยชาวเน็ตหลายคนบอกว่าเมื่อมีโอกาสไปเชียงใหม่จะขึ้นไปเที่ยวและทำบุญที่วัดแห่งนี้