xs
xsm
sm
md
lg

“พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น” สำรวจเงินตราภาคอีสานจากอดีตสู่ปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น
เดินเที่ยว “พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น” ชวนไปสำรวจเงินตราของภาคอีสาน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน และยังมีโซนจัดแสดงเรื่องราวของเมืองขอนแก่นในยุคปี 2500 ในฐานะเมืองหลวงของภาคอีสาน

พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น
มาเที่ยวที่ “ขอนแก่น” หลายคนคงจะนึกถึงการมาตระเวนไหว้พระ หรือการไปสำรวจโลกยุคดึกดำบรรพ์กับเหล่าไดโนเสาร์ แต่ยังมีอีกสถานที่ท่องเที่ยว ที่มาแล้วทั้งได้ความสนุกสนานและความรู้กลับบ้านไปด้วย นั่นก็คือที่ “พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น”

“พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น” ตั้งอยู่บนถนนศรีจันทร์ในย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองขอนแก่น เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเงินตราไทยที่สำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น
อาคารพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เดิมเป็นอาคารสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2511 จนหมดสัญญาเช่าที่ราชพัสดุใน พ.ศ. 2560 กรมธนารักษ์จึงปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเงินตราไทย โดยเฉพาะเงินตราท้องถิ่นของภาคอีสาน ซึ่งเป็นแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเศรษฐกิจการค้าและสังคมของจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยตั้งแต่อดีตกับปัจจุบัน

มาถึงที่หน้าอาคาร ก็จะสังเกตเห็นสัญลักษณ์ที่อยู่ในวงกลมขนาดใหญ่ อยู่ที่ด้านบนเหนือบันไดทางเข้าอาคาร ซึ่งนี่ก็คือ ตราสัญลักษณ์ประจำพิพิธภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์ที่นำมาจากตราประทับบนเงินฮ้อย เงินตราท้องถิ่นอีสาน มีลักษณะที่ถูกตีความจากหลายความเชื่อ รวมถึง นาค ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อพื้นถิ่นดั้งเดิมของคนอีสาน

นิทรรศการเงินตราภาคอีสาน
การมาชมนิทรรศการที่นี่ จะเปิดให้เข้าชมเป็นรอบๆ และมีผู้นำชมบรรยายในส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ โดยที่นี่จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน คือ นิทรรศการธนารักษ์พัฒนา นิทรรศการเงินตราภาคอีสาน และ นิทรรศการเล่าเรื่องเมืองขอนแก่น

ในส่วนแรกคือ “นิทรรศการธนารักษ์พัฒนา” บอกเล่าเกี่ยวกับภาคกิจสำคัญของกรมธนารักษ์ และพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 6 แห่ง

ต่อมาคือ “นิทรรศการเงินตราภาคอีสาน” ที่เริ่มต้นตั้งแต่การใช้โลหะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พาเดินทางย้อนเวลาไปในโลกของเงินตรา ที่เชื่อมโยงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยผ่าน “นาค” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนอีสาน ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาสมบัติมีค่าในทุกยุคทุกสมัย และ ภูมิปัญญางานโลหกรรม อันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนอีสานที่สืบทอดกันมายาวนาน

ห้องมรดกภูมิปัญญาไทยใต้ผืนดินอีสาน

เหรียญในสมัยทวารวดี
เริ่มชมกันตั้งแต่ห้องแรกคือ “นาคา ผู้คน และเงินตรา จากตำนานสู่เรื่องราวบนแผ่นดินอีสาน” จากจุดกำเนิดของการค้นพบโลหะสำริดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อกว่าสองพันปีก่อน สืบต่อมายังห้อง “มรดกภูมิปัญญาไทยใต้ผืนดินอีสาน” เรียนรู้เงินตราในสมัยทวารวดี รวมถึงตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีสมัยวัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรบนแผ่นดินอีสาน

สืบต่อมาถึงยุคของอาณาจักรล้านช้าง ที่ห้อง “อาณาจักรล้านช้าง ยุคสมัยของความรุ่งเรืองบนแผ่นดินลุ่มแม่น้ำโขง” เล่าถึงเงินตราท้องถิ่นภาคอีสาน ตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้าง มาจนถึงเงินตราในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยในห้องนี้ จะแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านช้าง มีการค้าขายกับชุมชนต่าง ๆ ทำให้เกิดการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เจ้าเมืองคือมีผู้อำนาจผลิตเงินตรา นั่นก็คือ “เงินฮ้อย” และ “เงินลาด” ซึ่งเป็นเงินตราของอาณาจักรล้านช้าง จนเมื่อเข้าสู่ยุคสยามใหม่ ข้าหลวงประจำมณฑลคือตัวแทนของการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้มีการนำเหรียญกษาปณ์ออกใช้ และเงินตราท้องถิ่นหมดสิ้นไป

ห้องอาณาจักรล้านช้าง ยุคสมัยของความรุ่งเรืองบนแผ่นดินลุ่มแม่น้ำโขง

เงินฮ้อย เงินลาด ในยุคล้านช้าง

วิธีการทำเงินจากโลหะในยุคก่อน

แผงค้าขายยุคล้านช้าง

ห้องอีสานยุคใหม่ สยามใหม่ สู่ ระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า
ก้าวเข้ามาสู่ห้อง “อีสานยุคใหม่ สยามใหม่ สู่ ระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า”เงินตรามีการพัฒนาการทั้งทางด้านวัสดุ รูปแบบ และเทคนิคการผลิต ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละยุคสมัย โดยที่ห้องนี้จะจัดแสดงเหรียญกษาปณ์ของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕-๘

จากนั้นก็ผ่านโบกี้รถไฟ ตัวแทนแห่งยุคสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านเข้ามาสู่ห้อง “อีสาน จากพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองการปกครอง สู่พื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต” ในห้องนี้จะได้ชมเหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึกในสมัยรัชกาลที่ ๙-๑๐

เริ่มพัฒนาการผลิตเหรียญกษาปณ์ของไทย

เหรียญกษาปณ์ของไทย สมัยรัชกาลที่ ๗

โบกี้รถไฟ ตัวแทนแห่งการค้าขายยุคสมัยใหม่

เหรียญกษาปณ์ไทยในยุครัชกาลที่ ๙-๑๐

ลองทายว่าในตู้มีเหรียญอยู่กี่เหรียญ

สัมผัสเงินที่นำมาใช้ทำเหรียญกษาปณ์
และส่วนสุดท้าย “นิทรรศการเล่าเรื่องเมืองขอนแก่น” บอกเล่าประวัติศาสตร์ ของเมืองขอนแก่นตั้งแต่ยุค 2500 ซึ่งภาครัฐได้กำหนดให้ ขอนแก่นเป็นเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ขอนแก่นมีการพัฒนาโดยภาครัฐเป็นอย่างมาก นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและเป็นรากฐานการพัฒนาของเมืองขอนแก่นมาถึงปัจจุบัน

แบ่งออกเป็น ห้อง “นิราศขอนแก่น” ชมคลิปย้อนอดีตความศิวิไลซ์ของเมืองขอนแก่นในยุค 2500 พร้อมกับฟังนิราศขอนแก่น แต่งโดย โสภัณ สุภธีระ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ที่เล่าถึงสถานที่ ผู้คน และบรรยากาศในยุคสมัยนั้น

นิทรรศการ “เล่าเรื่องเมืองขอนแก่น”

ขอนแก่น รากฐานจากยุคเหมืองหลวงอีสาน สู่ปัจจุบันและอนาคตสมาร์ทซิตี้
ห้อง “ขอนแก่น รากฐานจากยุคเหมืองหลวงอีสาน สู่ปัจจุบันและอนาคตสมาร์ทซิตี้” บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเมืองและผู้คนในขอนแก่น ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มาดูกันว่าขอนแก่นในยุค 2500 หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วในปัจจุบันสถานที่เดิมตรงนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

สุดท้ายคือห้อง “แม่นหยังน้อ สมาร์ทซิตี้” แนวคิดการพัฒนาเมืองในแบบคนขอนแก่น ร่วมกันออกแบบทิศทางของเมืองขอนแก่นในอนาคต ให้ไปสู่สมาร์ทซิตี้ ใครที่อยากให้เมืองขอนแก่นมีอะไรเพิ่มขึ้น มีด้านไหนที่ต้องพัฒนา ก็ร่วมลงมือออกแบบกันได้เลย

นอกจากจะมาเดินชมนิทรรศการเพิ่มพูนความรู้และความสนุกสนานกันแล้ว ที่อาคาร “พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น” ก็จะมีโซนจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนที่บริเวณชั้นล่าง มีคาเฟ่เล็กๆ และยังมีกิจกรรมหลากหลายที่หมุนเวียนมาให้ร่มสนุกกัน

แม่นหยังน้อ สมาร์ทซิตี้
* * * * * * * * * * * * * *

“พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น” ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เปิดให้บริการ วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดบริการทุกวันจันทร์ วันหยุดเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์)


อัตราค่าเข้าชม : บุคคลชาวไทยและชาวต่างชาติ คนละ 50 บาท / เด็กหรือเยาวชนไทย อายุระหว่าง 10-18 ปี คนละ 20 บาท


การเข้าชม จะมีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบ รอบละ 60 นาที รอบสุดท้ายเวลา 15.00 น.


ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ Facebook : พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เว็บไซต์ www.trdmuseumkhonkaen.treasury.go.th

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น