xs
xsm
sm
md
lg

“มัสยิดกรือเซะ” มรดกประวัติศาสตร์อิสลามแห่งเมืองปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งในศาสนสถานสำคัญ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา คือ “มัสยิดกรือเซะ” ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เป็นดั่งอู่อารยธรรมอิสลามในพื้นที่ชายแดนใต้ ควรค่าแก่การมาเยือน



“มัสยิดกรือเซะ” หรือมัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ เป็นศาสนสถานที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกับยุคกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มัสยิดปิตูกรือบัน” เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิดซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบกอทิกของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง (คำว่า ปิตู แปลว่าประตู กรือบัน แปลว่าช่องประตูที่มีรูปโค้ง)

ช่วงเวลาที่มัสยิดกรือเซะถูกสร้างนั้นยังเป็นที่ถกเถียงบ้างก็ว่าสร้างในรัชสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ซาร์ บ้างก็ว่าสร้างในรัชสมัยรายาบีรู


มัสยิดกรือเซะ เป็นมัสยิดประจำเมืองในอดีต ผู้ออกแบบสร้างมัสยิด คือ ซัยคซอฟียุดดีน อัลอิสมอิมาส อูละมะอะ แห่งปอเนาะ กรือเซะในรัชสมัยของราชาฮิเยาครองราชย์ มัสยิดกรือเซะมีคอเต็บ ชื่ออับดุลบัญญัร และในที่สุดรัชสมัยสุลต่านมูฮัมหมัด ดูวา เกิดสงครามระหว่างสยามกับปาตานี ในปี พ.ศ.2329 ทำให้บ้านเมืองได้รับความเสียหาย


แต่จากการสำรวจและบูรณะของกรมศิลปากร พบว่าโครงสร้างโดมนั้นมีลักษณะไม่แข็งแรงและขาดความสมดุลจึงทำให้พังทลายทั้งยังไม่พบร่องรอยถูกเผา เพราะหลังราชวงศ์กลันตันปกครองปัตตานีถัดจากราชวงศ์ศรีวังสาได้ย้ายศูนย์กลางเมืองไปยังบานาและจะบังติกอตามลำดับ มัสยิดกรือเซะจึงถูกทิ้งให้โรยราไป

สอดคล้องกับข้อมูลจาก “ศ.ดร.ครองชัย หัตถา” ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ศึกษาพบว่า จากหลักฐานทางโบราณคดี และชั้นดินที่พบจากการขุดค้นมัสยิดกรือเซะเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ไม่พบคาร์บอน หรือเศษผงเถ้าของการเผาไหม้แต่อย่างใด ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ตำนานที่ระบุว่ามัสยิดเคยถูกฟ้าผ่า หรืออาจเคยถูกเผาจนเสียหายนั้น น่าจะไม่เป็นความจริง


อย่างไรก็ตาม มัสยิดกรือเซะยังคงเป็นเอกลักษณ์แห่งอู่อารยธรรมอิสลามของราชอาณาจักรปาตานี จนถึงปัจจุบันนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2478 และทำการบูรณะซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ.2500, พ.ศ. 2525 และ พ.ศ.2557 ตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อให้มัสยิดกรือเซะคงสภาพเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานี และใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจได้ต่อไป


บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี
ตามทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส)
ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 7 กม.




สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น