กูรูจีนวิเคราะห์ คนจีนสนใจ “ฟรีวีซ่าไทย-จีน” 2 ฝั่ง มากกว่าเดิมที่เปิดฟรีวีซ่าให้จีนมาไทยฝั่งเดียว ทั้งสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น มีเที่ยวบินระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยมากขึ้น
ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจ อ้ายจง หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนของเมืองไทย โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจ อ้ายจงวิเคราะห์ หลังรัฐบาลไทย-จีน ลงนามเปิดฟรีวีซ่าไทย-จีน ทั้ง 2 ฝั่ง อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ดังนี้
วิเคราะห์: ทำไมคนจีนดูจะสนใจฟรีวีซ่าไทย-จีน มากกว่าตอนฟรีวีซ่าฝ่ายเดียวจากไทย และ ทำไม "ฟรีวีซ่าสองฝั่ง ทั้งไทยและจีน" อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยมากขึ้น แม้ไทยมีฟรีวีซ่าชั่วคราวให้จีนตั้งแต่ปลายกันยายน 2566
.
ผมขอวิเคราะห์แบบนี้
.
1) ความเชื่อมั่นที่อาจมากขึ้น
.
เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ข่าวด้านลบข่าวลือเกี่ยวกับไทยในจีนมีค่อนข้างมาก และเมื่อไทยฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยในช่วงสองสามวันแรก-ปลายเดือนกันยายน 2566 นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นมาราว 2 เท่า ของช่วงที่ก่อนฟรีวีซ่าและก็เป็นช่วงวันหยุดยาววันชาติจีนด้วยดังนั้นข้อนี้ ก็พอจะเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่า ดึงดูดเรื่องการเดินทางได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังไม่ถึงกับจำนวนหวือหวาเหมือนตอนช่วงก่อนโควิด-19 และยังคงมีกระแสเรื่องข่าวด้านลบ (แม้กระทั่ง ณ ขณะนี้)
.
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป พอมาเป็นฟรีวีซ่าทั้งสองฝั่ง คือ
เมื่อจีนก็ฟรีวีซ่าให้ไทยด้วย นั่นทำให้คนจีนไม่น้อยอาจรู้สึกว่า ทางรัฐบาลของเขา มั่นใจไทย มีการร่วมมือระหว่างรัฐ ทำให้เชื่อมั่นมากขึ้น
.
3 สัปดาห์แรกของปี 2567 และนับตั้งแต่ที่มีข่าวการฟรีวีซ่าไทย-จีน ที่นายกไทยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เผยแพร่ในจีน "คนจีนเข้าไทย เกิน 3 แสน เฉลี่ยสัปดาห์ละ เกิน 1 แสนคน" และคนจีนเป็นเบอร์1ในแง่ของจำนวน แซงมาเลเซีย
.
2. มองเห็นโอกาสจากการฟรีทั้งสองฝั่ง
.
สืบเนื่องจากข้อ 1 เมื่อเป็นนโยบายของทางรัฐบาลจีนด้วย ที่ฟรีวีซ่าให้ไทย ตรงนี้สามารถมีการพิจารณาถึง "โอกาสทางธุรกิจ" ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว เนื่องจากอำนวยความสะดวกกันทั้งสองฝั่ง ทำให้โอกาสทางธุรกิจสามารถตามมาได้แน่ ซึ่งข้อนี้ก็ขอฝากถึงฝั่งไทยเรา ก็ต้องมีการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆให้เข้มงวด เพื่อยังคงรักษาผลประโยชน์และก้อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการลงทุนและการทำธุรกิจในไทย
.
3)ไฟล์ทบินระหว่างสองฝั่ง มีมากขึ้น ตรงนี้ต้องบอกว่าตัวฟรีวีซ่าไทย-จีน ก็มาในจังหวะที่เหมาะสมที่ผ่านมาแล้ว 1 ปี นับตั้งแต่ที่จีนเปิดประเทศคลายมาตรการหลังโควิด และเริ่มดำเนินนโยบายเปิดมากขึ้นสำหรับต่างชาติ หลังจากปี 2566 ปีแรกของการผ่อนมาตรการโควิด จะเน้นที่การบริโภคในประเทศ ดังนั้นเรื่องมี่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศก็ปรับปรุงและให้กลับมาปกติมากที่สุดเฉกเช่นก่อนโควิด
.
และสำหรับไทย-จีน นั้น ไฟลท์บินก็เริ่มกลับมามีมากขึ้นกว่าตอนฟรีวีซ่าชั่วคราวจากฝั่งไทยฝ่ายเดียว
เพราะไม่ใช่แค่ฝั่งไทยฟรีวีซ่าให้คนจีน แต่ฝั่งจีนก็ฟรีวีซ่าให้ไทย เลยก่อให้เกิดความเป็นไปได้ที่อัปสงค์การเดินทางมากขึ้น คุ้มต่อการดำเนินการมากขึ้น โดยราคาตั๋ว ก็ถูกลงตามมา
.
ข้อมูลจากการบินพลเรือนจีน ระบุว่าแผนการกำหนดไฟล์ทบินระหว่างเมืองในจีนและไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีปริมาณรวม 7,620 ไฟล์ท โดยเส้นทางเซี่ยงไฮ้-กรุงเทพ และ กว่างโจว-กรุงเทพ เป็น 2 เส้นทางที่มีไฟล์ทบินมากสุด เส้นทางละเกิน 400 ไฟล์ท
.
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องติดตามกันต่อครับว่าเมื่อถึง 1 มีนาคม เมื่อฟรีวีซ่าไทย-จีน ถูกใช้จริง จะส่งผลอย่างไรต่อไทย เช่น ปริมาณการเดินทางของคนจีนเข้าไทยและรายได้เข้าไทย
.
วิเคราะห์โดย ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับมาตรการฟรีวีซาไทย-จีน จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยมีระยะเวลาการพำนักในประเทศนั้น ๆ แต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน
ทั้งนี้หลังรัฐบาลไทย-จีน ลงนามฟรีวีซ่าไทย-จีน อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ทำให้ คนจีนค้นหาเกี่ยวกับเมืองไทยเพิ่ม 7 เท่า โดยจุดหมายอันดับ 1 ที่คนจีนค้นหาในไทย คือ กรุงเทพฯ ตามด้วยภูเก็ต และเชียงใหม่