ภายในร้านเล็กๆริมถนนสระเรียง ตัวเมืองนครศรีธรรมราช จัดวางชิ้นงานเครื่องถมสลักลวดลายอันประณีต เรียงรายสะดุดตาอยู่ภายในตู้จำหน่าย ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นโต๊ะเก้าอี้ที่เกลื่อนด้วยอุปกรณ์การทำเครื่องถม ทั้งค้อน ตะไบ คีม ฯลฯ ซึ่งเป็นทั้งที่ทำงานของ “นิคม นกอักษร” ในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรม ขณะเดียวกันก็เป็นฐานะครูผู้สืบสานงานช่างโบราณอันล้ำค่าของเมืองนครศรีธรรมราช
“นครหัตถรรม” เป็นทั้งร้านจำหน่ายเครื่องถม และเป็นแหล่งเรียนรู้วิชาช่างศิลป์ไทยชั้นสูง ภายใต้การดูแลของ “นิคม นกอักษร” หรือ “ครูนิคม” ครูช่างเครื่องถม ประธานกลุ่มนครหัตถกรรม ผู้สืบสานมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
ครูเอกแห่งงานศิลป์ มีจุดเริ่มต้นการเรียนรู้เครื่องถมมาจากวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ศูนย์กลางแห่งการศึกษาด้านศิลปะของภาคใต้ในยุคก่อน จากนั้นก็เดินทางไปต่อเติมทักษะด้านศิลปะในแขนงอื่นๆในวิทยาลัยเพาะช่าง เปิดโลกทัศน์ศิลปะให้กับตนเอง ก่อนจะกลับมาเป็นครูที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ยาวนานถึง 27 ปี
เมื่อออกมาจากการทำหน้าที่พ่อพิมพ์แล้ว ก็ไม่ได้ละทิ้งความเป็นครูศิลป์ โดยยังสืบทอดองค์ความรู้ต่อไปผ่านกิจการเล็กๆของตนเอง นั่นคือ “นครหัตถกรรม" ที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2541 เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องถมนคร ใช้เป็นสถานที่ฝึกงานของนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงศิลปะสำหรับผู้มาเยือน
ครูนิคมได้ต่อยอดขยายแนวคิดด้านการออกแบบ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และชุมชน เน้นการผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพ คือ การทำเครื่องถมสามกษัตริย์ ประกอบไปด้วย “ทอง นาค เงิน” รังสรรค์เป็นงานหัตถกรรมหลากหลาย เช่น ขันน้ำ พานรอง กรอบรูป ถาด ตลับแป้ง ตลับบุหรี่ กระเป๋าถือ เข็มกลัด กำไล แหวน เคสโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ผสมผสานระหว่างลวดลายอนุรักษ์นิยมกับรูปทรงทันสมัย ที่กลมกลืนกัน และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวันโดยเอกลักษณ์ของชิ้นงานทั้งหมดที่นี่เป็นงานทำมือล้วน ไม่ว่าจะเป็นการแผ่รีด เคาะขึ้นรูป การลงยาถม ถมทอง เพลาลาย หรือสลักลวดลายต่างๆ
สำหรับงานเครื่องถมนคร มีสีดําเป็นเงางาม ลวดลายเกิดจากทักษะเชิงช่างที่จะสร้างสรรค์ด้วยการสลักด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนลาย การเคาะ หรือแผ่รีด ทําให้ลวดลายมีความละเอียด ถ้าสังเกตจากด้านใน จะมีรอยสลักนูนขึ้นมา แต่ถ้าเป็นเครื่องถมที่ทําด้วยการกัดกรด ไม่ใช่การสลัก ด้านในจะไม่มีรอยสลัก จึงนับเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่ต้องอาศัยทักษะเชิงช่างที่สำคัญของช่างทองที่จะรังสรรค์ชิ้นงานให้มีความงดงามโดดเด่น โดยเฉพาะจุดเด่นอีกประการของเครื่องถมนคร คือ ตัวยาถมที่มีสีดํา ขึ้นเงา แวววาว จนเรียกติดปากว่า “ถมนคร” (อ้างอิง: สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย)
นอกจากนี้ จุดเด่นของเครื่องถมนครหัตถกรรม ยังอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆที่ต่างไปจากรูปแบบเดิมที่เคยมี โดยจากการสืบค้นข้อมูลด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องถม พบว่ายังไม่ได้พัฒนาให้เหมาะสมกับยุคสมัย หรือสอดคล้องกับความต้องการของตลาด กลายเป็นปัญหาที่ทำให้เครื่องถมเมืองนครอันเป็นภูมิปัญญาทรงคุณค่านั้นถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย
นครหัตถกรรมจึงค้นหาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของภาคใต้ ใช้การเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ และความศรัทธาด้านศาสนา จนพบว่าชาวใต้ ยังมีความเชื่อเรื่อง “ตัวนะโม” สัญลักษณ์ที่เชื่อว่าติดตัวไว้จะแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง ซึ่งเมื่อนำมาผนวกกับงานเครื่องถมที่มีความประณีต จึงเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทรงคุณค่าทางจิตใจ และความงดงามไปพร้อมกัน
แรงบันดาลใจร่วมสมัยในรูปแบบอื่น ยังมีการนำธรรมชาติ เช่น ท้องทะเล พืชพรรณทางใต้ มาสร้างสรรค์ในงานเครื่องถม กลายเป็นลวดลายสายน้ำ ลวดลายอ่อนช้อยของดอกไม้ทางภาคใต้ เช่น ดอกดาหลา ดอกลองกอง ลูกยาง เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดลวดลายใหม่ๆ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์
สำหรับนักท่องเที่ยวผู้สนใจงานถมเมืองนคร การเดินทางมายัง “นครหัตถกรรม” ไม่เพียงแค่การได้มาชมผลงาน การสนทนาแลกเปลี่ยน หรือเลือกซื้อเท่านั้น แต่สามารถติดต่อล่วงหน้าเพื่อมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำเครื่องถม ผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการขึ้นรูปลวดลายหนังตะลุงแบบง่ายๆ พร้อมได้รับกลับไปเป็นของที่ระลึก
นครหัตถกรรม
เลขที่ 1 ถ.สระเรียง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
เปิดทุกวัน 9.00-17.30 น. โทร. 08-1082-2512
สำหรับนักท่องเที่ยวผู้สนใจงานถมเมืองนคร การเดินทางมายัง “นครหัตถกรรม” ไม่เพียงแค่การได้มาชมผลงาน การสนทนาแลกเปลี่ยน หรือเลือกซื้อเท่านั้น แต่สามารถติดต่อล่วงหน้าเพื่อมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำเครื่องถม ผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการขึ้นรูปลวดลายหนังตะลุงแบบง่ายๆ พร้อมได้รับกลับไปเป็นของที่ระลึก
นครหัตถกรรม
เลขที่ 1 ถ.สระเรียง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
เปิดทุกวัน 9.00-17.30 น. โทร. 08-1082-2512
ข้อมูลเพิ่มเติม เครื่องถมเมืองนครฯ
อ้างอิงจาก กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
“เครื่องถม” หรือ “ถมนคร” เป็นงานศิลปหัตถกรรมชั้นสูงที่คนนครศรีธรรมราช และคนไทยภาคภูมิใจมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตใช้เป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์หรือเป็นเครื่องยศของขุนนางชั้นสูง ทั้งยังใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการสำหรับกษัตริย์ประเทศต่างๆ
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ให้ความหมายคำว่า “ถม” ว่า “เรียกภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยใช้ผงยาถมผสมน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เป็นเงางามว่าเครื่องถม เช่น ถมนคร ถมเงิน ถมทอง
สำหรับความเป็นมาของเครื่องถมนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มผลิตมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือราว พ.ศ. 2061 ส่วนที่มาของการผลิตเครื่องถม ปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส เนื่องจากโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าขายในราชอาณาจักรไทยได้ 4 เมือง ได้แก่ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด
ขณะที่สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีความเห็นว่า ชาวนครศรีธรรมราชได้รับรู้เรื่องเครื่องถมจากชาวอินเดีย ส่วนศาสตราจารย์วิศาลศิลปกรรมให้ความเห็นว่า ยาถมไทยมิได้รับต้นตำรับมาจากประเทศใด เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยแท้ที่นครศรีธรรมราช
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline