xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย “เบลล่า” เที่ยว “ภูทอก” เส้นทางธรรม มหัศจรรย์แห่งบึงกาฬ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชวนตามรอย “เบลล่า” เที่ยว “ภูทอก“ แลนด์มาร์กแห่ง จ.บึงกาฬ ที่นอกจากจะเป็นเส้นทางสายธรรมแล้ว ยังมีธรรมชาติแสนงดงามให้ได้ชมอีกด้วย

ภาพจาก IG bellacampen
ททท. สำนักงานอุดรธานี ได้เผยภาพของ “เบลล่า” นักแสดงสาวชื่อดัง ที่แวะเวียนมาเที่ยวที่ “ภูทอก” จ.บึงกาฬ

ภาพจาก IG bellacampen
โดยคำว่า “ภูทอก” เป็นภาษาอีสาน แปลว่า “ภูเขาที่โดดเดี่ยว” ตั้งอยู่ในเขตบ้านคำแคน ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล ประกอบด้วยภูทอกใหญ่และภูทอกน้อย

ภาพจาก IG bellacampen
ภูทอกใหญ่เป็นภูโดดเดี่ยวที่ยังเป็นป่าไม่ได้เปิดให้ขึ้นไปเที่ยวชม ส่วนภูทอกน้อยนั้นไม่โดดเดี่ยว เพราะเป็นที่ตั้งของ “วัดภูทอก”หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดเจติยาคีรีวิหาร”


วัดภูทอก เป็นวัดป่าพระกรรมฐาน ที่ท่าน“พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” พระป่าสายกรรมฐาน ศิษย์พระอาจารย์มั่น


ได้มาสร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เพื่อเป็น “รุกขมูลเสนาสนัง” สถานที่ปฏิบัติธรรม ปลีกวิเวก ตัดกระแสโลกย์ เพ่งเพียรในวัติปฏิบัติ เพราะพื้นที่ป่าภูทอก(น้อย)มีความร่มรื่นสงบเงียบ เหมาะสำหรับปฏิบัติธรรมของพระกรรมฐาน


ที่นี่มีสถานที่สำคัญได้แก่ “เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐ-บริขาร พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยม สีน้ำตาลแดง ยอดสีทอง ส่วนฐานบริเวณด้านนอกมีงานประติมากรรมภาพนูนต่ำจัดแสดงเรื่องราวอัตชีวิตช่วงเด่นๆของพระอาจารย์จวน

ส่วนด้านในมีรูปเคารพของพระอาจารย์จวนขนาดเท่าองค์จริง และจัดแสดงอัฐบริขารในสมัยบำเพ็ญสมณธรรม เรื่องราวบางส่วนของท่าน และบรรจุพระอัฐิธาตุไว้ให้สักการบูชา


และยังมีเส้นทางแห่งศรัทธามีทั้งหมด 7 ชั้น ที่เป็นบันไดและสะพานเวียนรอบไหล่ผาภูทอก ให้ได้เดินขึ้นไปด้านบน

ซึ่งชั้น 5 จะถือเป็นชั้นไฮไลต์ที่สำคัญที่สุด ชั้นนี้มีทางเดินรอบ มีทั้งเส้นทางสะพานไม้ที่สร้างยื่นออกไป และทางเดินบนลานดินใต้เพิงผาที่ธรรมชาติกัดเซาะหน้าผาจนเป็นซอกเว้าลึกเข้าไป เป็นเส้นทางเดินที่มีหลังคาธรรมชาติช่วยกันแดดกันฝน


บนชั้น 5 จะมีจุดไฮไลต์ คือ “พุทธวิหาร” สถานที่ที่มีธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์เป็นก้อนหินแยกตัวมาจากก้อนหินใหญ่ ดูจะตกแหล่ไม่ตกแหล่ คล้ายพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า หรือเขาคิชฌกูฏที่จันทบุรี


ส่วนชั้น 7 ด้านบนสุด จุดที่เป็นไฮไลต์คือจุดชมวิววิวของพุทธวิหารในมุมสูงที่มองลงไปเห็นขุนเขาเบื้องหลังลูกย่อมตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลัง เบื้องด้านถัดเข้ามาด้านขวามือเป็นอาคารพุทธวิหารที่ดูคล้ายมีก้อนหินใหญ่วางทับอยู่บนหลังคา แต่อันที่จริงเป็นการสร้างอาคารและหลังคาต่อเดิมมาจากแนวธรรมชาติเดิม

นับเป็นการดึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติมาปลูกสร้างอาคารบนยอดเขาที่เห็นแล้วชวนทึ่งไม่น้อยเลย


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น