xs
xsm
sm
md
lg

“อ.กิตติธัช” แนะ ททท. Soft Power ไม่ใช่การยัดเยียดขายสินค้าทางวัฒนธรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดราม่า Soft Power ไทยสู่สากล หลังททท.จัดแข่งขัน “กินปาท่องโก๋-กินป๊อบคอร์น-ใส่กางเกงช้างเยอะ ทำสถิติโลก
“อ.กิตติธัช” โพสต์เฟซบุ๊กไม่เห็นด้วยกับ ททท. ในกิจกรรมแข่งขัน กินปาท่องโก๋ ป็อบคอร์น หรือแข่งใส่หน้ากากผีตาโขน ฯ ระบุเหล่านั้นเป็นการ “ยัดเยียด” เพื่อขาย “สินค้าวัฒนธรรม” ที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่ Soft Power

หลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดนด่ายับใน โครงการ “THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE” เพื่อผลักดัน Soft Power ไทยสู่สากล เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีไฮไลต์ คือกิจกรรม “THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE” ซึ่งทาง ททท. ได้ร่วมกับ GUINNESS WORLD RECORDS จัดการแข่งขันใน 5 หัวข้อที่สุดของโลก ได้แก่

1) ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที
2) ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที
3) กินสตรีทฟู้ด (ปาท่องโก๋) มากที่สุดใน 1 นาที
4) ใส่หน้ากาก (หน้ากากผีตาโขน) ได้มากที่สุดใน 1 นาที
5) กินป๊อบคอร์นได้เยอะที่สุดใน 1 นาที


ชาวเน็ตอัดยับ หลัง ททท. จัดแข่งขัน “กินปาท่องโก๋-กินป๊อบคอร์น-ใส่กางเกงช้างเยอะ” เพื่อบันทึกสถิติโลก
ทั้งนี้หลังโครงการถูกเผยแพร่ออกไป ได้กลายเป็นดราม่าบนโลกโซเชียล ให้ผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยงานนี้ชาวเน็ตส่วนใหญ่ล้วนต่างไม่เห็นด้วย พร้อมถามว่าทำแบบนี้มันคือ Soft Power ตรงไหน หรือบ้างก็ว่า เอาอะไรคิด ใครเป็นคนคิด ทำแล้วได้อะไร ปาท่องโก๋-ป๊อบคอร์นเป็นอาหารไทยตรงไหน รวมถึงมีเตือนเรื่องสุขภาพของผู้แข่งขันที่กินปาท่องโก๋มากเกินไป นอกจากนี้ก็ยังมีคอมเม้นต์ที่ใช้ภาษารุนแรงตำหนิกิจกรรมนี้อีกเป็นจำนวนมาก

สำหรับหนึ่งในผู้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจก็คือ “ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์” นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้าน ปรัชญาการเมือง ซึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Kittitouch Chaiprasith ระบุว่า

ต่างชาติสวมชุดไทยเที่ยวเมืองไทย Soft Power ตามธรรมชาติที่ไม่ใช่การยัดเยียด
ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมล่าสุดของ ททท.เรื่องการกินปาท่องโก๋ หรือ ป็อบคอร์น หรือแข่งใส่หน้ากากผีตาโขน ฯ เหล่านั้นเป็นการ "ยัดเยียด" เพื่อขาย "สินค้าวัฒนธรรม" ที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ
ซึ่งนี่ไม่ใช่ Soft Power แบบที่พยายามพูดกันครับ
-----
กลับกันหากจะทำ Soft Power ต้องใช้สิ่งที่เป็นที่นิยม แล้วแทรกสิ่งอื่นเข้าไปด้วย คือให้คิดเลยว่าของที่ต่างชาติมีความนิยมในวัฒนธรรมร่วมสมัยของเราคืออะไร เช่น
1. ตอนนี้กระแสใส่ชุดไทยถ่ายภาพตามวัดวาอารามหรือที่ท่องเที่ยว กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เปลี่ยนมาเป็นจัดแข่งเทศกาลแต่งชุดไทย และโพสต์ท่าถ่ายภาพตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
โดย ททท. ควรจะแทรกสถานที่ท่องเที่ยวดีๆ ที่ยังไม่เป็นที่นิยมเข้าไป เพื่อทำให้เกิดความนิยมขึ้นในพื้นที่อื่นเพิ่มเติมด้วย
ซึ่งวิธีแบบนี้เกาหลีก็ใช้ ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่นิยมได้รับความนิยม ด้วยการเอาวัฒนธรรมร่วมสมัยและกิจกรรมไปลงในสถานที่นั้น
นอกจากได้โปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวทั้งที่ดังแล้ว และที่คนยังไม่รู้จัก ยังทำให้คนเกิดความนิยมในผ้าไทย ชุดไทย ซื้อกลับไปเป็นของฝาก หรือจัดการประกวดแต่งชุดไทยประยุกต์ร่วมสมัย ต่อยอดทางแฟชั่นได้อีก
-----
2. ตอนนี้ไอติมลายไทย/ลายพื้นถิ่นกำลังเป็นที่นิยม ทำไมไม่ทำแข่งกินไอติมหรือขนมที่พิมพ์ลายท้องถิ่นไปเลย
โดยที่ในงานเราสามารถจัดประกวดขนมพิมพ์ลาย และในงานก็มีขนมพิมพ์ลายขาย ซึ่งสุดท้ายแล้วพอจบงาน ททท.สามารถเอาข้อมูลยอดขายมาดูว่า นักท่องเที่ยวที่มางาน นิยมร้านแบบไหน ลายแบบใด
นอกจากกระจายรายได้ให้ท้องถิ่นทั้งร้านขนมและผู้ประกอบการศิลป์หรือร้านทำภาพพิมพ์ ยังเป็นการเฟ้นหาคนทำขนม และคนทำงานศิลป์บนขนมเก่งๆ ที่มีไอเดียแจ๋วๆ ในแต่ละท้องถิ่นด้วย และสุดท้ายก็ได้ข้อมูลในการพัฒนาแนวทางทำผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจนักท่องเที่ยวได้อีก
ยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 3 ตัวเลย
-----
ยังไงก็ฝาก ททท.และรัฐบาลลองกลับไปพิจารณาดูด้วยนะครับ ว่าโครงการหน้าที่ควรทำในนามของการผลักดัน Soft Power แท้ที่จริงแล้ว มันควรดำเนินการอย่างไร ถึงจะส่งผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างแท้จริง


กิจกรรม THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE






กำลังโหลดความคิดเห็น