xs
xsm
sm
md
lg

“ตุงค่าคิง” วัดพระเกิด จังหวัดน่าน ทำตุงสะเดาะเคราะห์ตามวิถีแห่งล้านนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ตุง” คือ ธงแขวนในวัฒนธรรมล้านนาประเภทหนึ่ง ใช้ในการประดับเพื่อความสวยงาม หรือใช้ประกอบพิธีกรรม “ตุงค่าคิง” หรือ ตุงก้าคิง เป็นภาษาไทใหญ่ โดยความหมายของ “ค่า” หมายถึง ขนาด หรือเท่า “คิง” หมายถึง คนหรือตัว

ดังนั้น ตุงค่าคิง จึงหมายถึง ตุงเท่าตัว หรือ ตุงที่มีความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของตุง


จุดประสงค์ของการทำตุง นอกจากถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเชื่อกันว่าการทำตุงถวายจะช่วยขจัดภัยพิบัติ และสะเดาะเคราะห์ให้หมดไปจากภูตผีปีศาจ

การทำ “ตุงค่าคิง” ก็เช่นกัน ทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม สืบชะตา เรียกขวัญ สะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ ทั้งเพื่อตนเองหรือเพื่อบุคคลอื่นก็ได้ ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ขจัดทุกข์โศก ทำให้ชีวิตมีแต่ความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรือง ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม


หนึ่งในชุมชนที่ประยุกต์การทำตุงค่าคิง มาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คือ ชุมชนวัดพระเกิด ในเมืองน่าน ซึ่งแต่เดิมได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพระเกิด จึงอยากให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวา

วัดพระเกิด จังหวัดน่าน
ชาวบ้านจึงศึกษาค้นคว้าในเรื่องของตุง หรือเรื่องการสะเดาะเคราะห์ ช่วยกันทำตุง-ทำโคม เกิดเป็นกิจกรรมทำตุงค่าคิง ซึ่งมีเอกลักษณ์แรงบันดาลใจมาจากพระพุทธรูปไม้ปางทรงเครื่องโบราณ ที่ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด

พระพุทธรูปไม้ปางทรงเครื่องโบราณ ต้นแบบการทำตุง
ตุงค่าคิงของวัดพระเกิดสามารถสื่อความหมายได้ ตรงบริเวณส่วนหัว กับส่วนทรวงอก สื่อแทนอิติปิโสร้อยแปด คือ มีจุดจำนวน 108 จุด หมายถึงพระพุทธคุณ 56 พระธรรมคุณ 38 และ พระสังฆคุณ 14 รวมทั้งหมดเป็น 108




กิจกรรมทำตุง ชาวบ้านมีการเตรียมการไว้ให้แล้ว เพื่อให้สะดวกประหยัดเวลาและง่ายสำหรับนักท่องเที่ยว มีการเตรียมลายฉลุกับสิ่งของจำเป็นต่างๆไว้ให้ส่วนหนึ่ง จากนั้นนักท่องเที่ยวมีหน้าที่ตกแต่งตุงของตนเองให้เหมือนเป็นตัวแทนของตน โดยการติดตา ปาก จมูก และแผ่นทองรูปสัตว์ประจำปีนักษัตร 

จากนั้นก็นำไปถวายให้วัด นับเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ และสืบสานวัฒนธรรมชุมชนกับพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี


ชุมชนวัดพระเกิด ต. ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน
ติดต่อ โทร. 08-1882-3188




สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น