xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยววัดพระสิงห์ สักการะ “พระพุทธสิหิงค์” คู่เมืองเชียงใหม่ รับบุญใหญ่ “ไหว้พระธาตุปีมะโรง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


รับบุญใหญ่ ไหว้พระธาตุปีมะโรง ที่วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ (ภาพ : เพจ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)
ชาวล้านนาโบราณมีความเชื่อในเรื่อง “พระธาตุประจำปีเกิด” โดยเชื่อว่าก่อนที่วิญญาณจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของผู้เป็นมารดา วิญญาณจะลงมา “ชุธาตุ” ซึ่งหมายถึงการที่ดวงวิญญาณจะลงมาพักอยู่ที่เจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมี “ตั๋วเปิ้ง” (สัตว์ประจำนักษัตร) พามาพักไว้ และเมื่อได้เวลา ดวงวิญญาณก็จะเคลื่อนจากพระเจดีย์ ไปสถิตอยู่บนกระหม่อมของผู้เป็นบิดาเป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดา และเมื่อเสียชีวิตลงแล้ว ดวงวิญญาณก็จะกลับไปพักอยู่ที่เจดีย์นั้น ๆ ตามเดิม

ด้วยเหตุนี้ชาวล้านนาโบราณจึงเชื่อว่าการมีโอกาสได้ไปกราบสักการะพระธาตุประจำปีเกิดของตนอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต จะเป็นการเสริมสิริมงคลครั้งใหญ่ในชีวิต ได้บุญกุศลสูงล้น เมื่อตายไปดวงวิญญาณจะได้เดินทางกลับสู่พระธาตุองค์นั้น ไม่ต้องเร่ร่อนไปในทุกคติภพ

พระธาตุหลวง วัดพระสิงห์ พระธาตุประจำตัวคนเกิดปีมะโรง (ภาพ : เพจ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)
สำหรับ ปี พ.ศ. 2567 หรือ ค.ศ.2024 ตามความเชื่อเรื่องปีนักษัตร (12 นักษัตร) ปีนี้เป็นปี “มะโรง” หรือ “งูใหญ่” ซึ่งชาวล้านนาโบราณเชื่อว่าผู้ที่เกิดปีมะโรงให้ไปไหว้ พระธาตุที่ “วัดพระสิงห์” ถนนสามล้าน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ย้อนรอยวัดพระสิงห์


วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร หรือที่คนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดพระสิงห์” มีหลักฐานระบุว่าสร้างขึ้นราว ปี พ.ศ.1888 โดย “พญาผายู” (พระเจ้าผายู) กษัตริย์เชียงใหม่องค์ที่ 5 ของราชวงศ์มังราย เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อ “วัดลีเชียงพระ” (บางข้อมูลระบุว่าชื่อ “วัดลีเชียง”) เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดกลางเมือง (คำว่า “ลี” ในภาษาล้านนาแปลว่า “ตลาด”)

วัดพระสิงห์ เดิมเรียกขานว่า วัดลีเชียงพระ มาก่อน (ภาพ : เพจ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)
ต่อมาในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 20สมัยพระเจ้าแสนเมือง ได้มีการอัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” มาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเรียกวัดลีเชียงพระมาเป็น “วัดพระสิงห์” แทน (ชาวล้านนานิยมเรียกพระพุทธสิหิงค์ว่า “พระสิงห์”)

วัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นหนึ่งในวัดสำคัญวัดแรก ๆ ในการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาแทนเมืองลำพูน

หลังอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน วัดลีเชียงพระมีชื่อเรียกขานใหม่ว่าวัดพระสิงห์
พระธาตุปีมะโรง

วัดพระสิงห์มี “พระมหาเจดีย์ธาตุ” หรือ “พระธาตุหลวง” สีทองอร่าม (เดิมเป็นสีขาว) เป็นพระธาตุประจำตัวคนเกิดปีมะโรง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1888 ปีเดียวกับที่สร้างวัด ภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระดูกข้อมือซ้ายบรรจุรวมกับพระเกศา

ชาวล้านนาโบราณเชื่อว่าคนเกิดปีมะโรง ถ้าได้ไหว้พระธาตุหลวงวัดพระสิงห์จะได้บุญกุศลสูงล้น (ภาพ : เพจ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)
พระธาตุหลวงวัดพระสิงห์ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากพระธาตุหริภุญชัย รอบองค์เจดีย์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลือง ผสมทองแดง) ส่วนฐานที่เกิดจากการบูรณะภายหลังมีการสร้างประติมากรรมรูปช้างประดับไว้ตรงด้านทั้ง 4 นอกจากนี้ยังมีการสร้างเจดีย์ขนาดเล็ก 4 องค์อยู่ที่ฐาน และยังมีที่มุมอีก 4 องค์ ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกกว่าพระธาตุเจดีย์องค์อื่น ๆ

พระพุทธสิหิงค์ คู่เมืองเชียงใหม่


พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ (ภาพ : เพจ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)
วัดพระสิงห์มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องห้ามพลาดสำหรับผู้มาเยือนก็คือ “พระพุทธสิหิงค์” ซึ่งนอกจากจะเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งพระพุทธรูปสำคัญของเมืองไทย ในบ้านเรามีพระพุทธสิหิงค์สำคัญอยู่ 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทไธสวรรค์ กรุงเทพฯ, พระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช และพระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่

ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.700 โดยกษัตริย์ลังกา 3 พระองค์และพระอรหันต์ 20 รูป เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร สกุลช่างเชียงแสน ศิลปะล้านนา

ประเพณีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ในช่วงสงกรานต์ (ภาพ : เพจ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)
ในปี พ.ศ.1943 เมื่อกษัตริย์เชียงรายได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากกำแพงเพชร และนำมาถวายพญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่ พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่วัดลีเชียงพระ ซึ่งต่อมาเรียกขานชื่อใหม่ว่า “วัดพระสิงห์” (ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น) โดยนำมาประดิษฐานที่ซุ้มทางด้านทิศใต้ของพระมหาเจดีย์ธาตุ หลังจากนั้นได้อัญเชิญมาประดิษฐานภายในวิหารลายคำมาจนถึงปัจจุบัน

พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่ หรือ “พระสิงห์” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง เป็นศิลปะเชียงแสนยุคแรก ที่มีพุทธลักษณะงดงามเปี่ยมศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางจังหวัดเชียงใหม่จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นบนบุษบกแห่รอบเมืองเชียงใหม่ให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี

สิ่งน่าสนใจอื่น ๆ ในวัดพระสิงห์


อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยและวิหารหลวง (ภาพ : เพจ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)
วัดพระสิงค์ยังมีสิ่งน่าสนใจเด่น ๆ ได้แก่

-“พระอุโบสถ” ภายในมีพระประธานประดิษฐานอยู่ในพระมณฑป โบสถ์หลังนี้มีความแตกต่างจากโบสถ์ทั่วไป คือมีมุข 2 ด้าน ทั้งทางทิศเหนือและทิศใต้ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระอุโบสถสองสงฆ์”

-“วิหารหลวง” สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2467 ในสมัย “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” เป็นเจ้าอาวาส เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและรัตนโกสินทร์

พระศรีสรรเพชญ พระประธานในวิหารหลวง
-“พระศรีสรรเพชญ” พระประธานในวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่าเป็นพระประธานเดิมของวิหารหลวงหลังเก่าก่อนที่จะสร้างขึ้นใหม่ในสมัยครูบาศรีวิชัย

-“อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย” ตั้งอยู่หน้าพระวิหารหลวง สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” นักบุญแห่งล้านนา อดีตเจ้าอาวาสของวัดพระสิงห์

ภายในวิหารลายคำงดงามด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังลายทองพื้นแดงอันสุดคลาสสิก
-“วิหารลายคำ” สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ภายในงดงามด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ลายทองพื้นแดง” อันสุดคลาสสิก ไม่ว่าจะเป็นรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ รวมถึงภาพวาดเรื่องสุวรรณหงส์ และเรื่องสังข์ทองที่พบเพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทย

นอกจากนี้วัดพระสิงห์ยังมีสิ่งชวนชมอื่น ๆ อาทิ พระเจ้าทองทิพย์, พระเจ้าทันใจ, พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน), กู่มณฑปปราสาท, กู่อัฐิของพญาคำฟู, หอไตร (หอพระไตรปิฎก) และหอจงกรมครูบาศรีวิชัย ให้ผู้สนใจได้สักการะเที่ยวชมกัน

วิหารลายคำ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ (ภาพ : เพจ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของวัดพระสิงห์ ซึ่งตามคติความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของชาวล้านนาโบราณ ผู้ที่เกิดปีนี้ (67) ซึ่งเป็นปีมะโรงให้มากราบสักการะพระธาตุหลวงวัดพระสิงห์ ซึ่งเชื่อว่าจะได้บุญกุศลสูงล้น ส่วนคนที่เกิดปีนักษัตรอื่น ๆ นั้นหากได้มาไหว้องค์พระธาตุหลวง วัดพระสิงห์ในปีนี้ ก็เชื่อว่าจะได้บุญใหญ่เช่นเดียวกัน

ขณะที่ความเชื่อของเหล่า “สายมู” ยุคใหม่ในบ้านเรา ปีนี้เป็นปีแห่งการกราบไหว้สักการะ “พญานาค” ที่มีรูปเคารพอยู่ทั่วฟ้าเมืองไทย รวมถึงไหว้ “มังกร” ที่มีอยู่หลายแห่งในเมืองไทย ตามความเชื่อเรื่องปีนักษัตรของคนจีนโบราณ หลายคนจึงยกให้ปี 2567 เป็น “ปีมังกร” ส่วนจะเป็น “มังกรทอง” หรือ “มังกรไฟ” ตลอดทั้งปี 67 เราคงจะได้รู้กัน

วัดพระสิงห์ วัดที่มีพระธาตุปีมะโรง พระพุทธสิหิงค์ และของดีอีกหลากหลาย (ภาพ : เพจ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)




กำลังโหลดความคิดเห็น