สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่โดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวไม่เพียงเฉพาะระดับภาคใต้หรือระดับประเทศเท่านั้น แต่จัดได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก
ปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 นี้ “เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ” มีองค์ประกอบสำคัญหลายประการที่มีส่วนเป็นปัจจัยทำให้สุราษฎร์ธานี สามารถเป็นจุดหมายท่องเที่ยวมาแรงของไทยแห่งปี 2567 ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการคว้ารางวัลต่างๆ หรือทิศทางการพัฒนา และความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
มิชลินไกด์ มุ่งสู่สุราษฎร์ธานี
ในปี 2567 นี้ จุดหมายแห่งใหม่ที่ “มิชลินไกด์ ประเทศไทย” เปิดตัว คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับ เกาะสมุย โดย นายเกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการระหว่างประเทศของ MICHELIN Guide กล่าวว่า “ผู้ตรวจสอบมิชลินไกด์พบว่า เกาะสมุยและจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสิ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม และอาหารรสเลิศ จากมุมมองของผู้ตรวจสอบ การทำอาหารของที่นั่นมีเอกลักษณ์และมีรสชาติ มีอาหารพื้นเมืองที่หากินที่ไหนไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นยังมีวัตถุดิบสดใหม่จากท้องถิ่น โดยเฉพาะอาหารทะเลที่เป็นทรัพยากรท้องถิ่น อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความอร่อย”
ผลลัพธ์นั้นทำให้ สุราษฎร์ธานีกับเกาะสมุย เป็นหมุดหมายใหม่ของนักเดินทางสายกิน ที่จะต้องหาโอกาสเดินทางไปตามรอยมิชลิน ไกด์ ซึ่งมีร้านอาหารผ่านการคัดเลือกได้รับสัญลักษณ์ “บิบ กูร์มองด์”
จำนวน 4 ร้านอยู่ในเกาะสมุย ได้แก่ บ้านสวนลุงไข่, กะปิ สะตอ, จันทร์หอม และครัวชาวบ้าน สมุย
จำนวน 8 ร้าน อยู่ในแผ่นดินใหญ่ของสุราษฎร์ธานี ได้แก่ ข้าวพระรามลงสรง เล่าโอ้ว, ลัคกี้ ภัตตาคาร, ป้าทิ้ง, ภูณิศา, ซุ้มกระดังงา, ยกเข่ง, เกี๊ยวปลา และเลี่ยนไถ่
เขานาในหลวง หนึ่งใน Unseen New Chapters
ปีที่ผ่านมา “อุทยานธรรมเขานาในหลวง”อำเภอพนม ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 25 Unseen New Chapters: ปักหมุดมุมใหม่ เปิดไทยมุมต่าง” จาก 77 จังหวัดทั่วไทย ทำให้สุราษฎร์ธานี มีจุดหมายท่องเที่ยวของนักเดินทางสายศรัทธาเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ที่นี่เป็นสำนักสงฆ์ที่สร้างขึ้นด้วยพลังศรัทธาของชาวบ้าน เริ่มเป็นที่รู้จักจากความวิจิตรของประตูพุทธวดี หรือซุ้มประตูแห่งกาลเวลา ถือเป็นเอกลักษณ์อันแสนงดงามยามเมื่อแสงเช้าตกกระทบ ก่อนจะต่อยอดพลังศรัทธา ด้วยการสร้าง เจดีย์ร้อยยอดพันองค์ เจดีย์ลอยฟ้าพุทธศิลาวดี เจดีย์ลอยฟ้าพุทธราชาวดี ทำให้ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ เสมือนสวรรค์บนดิน โดยเฉพาะยามทะเลหมอกเลื้อยพันรอบยอดเขา เจดีย์แต่ละองค์จะดูคล้ายกับลอยอยู่บนก้อนเมฆ เป็นภาพอุทยานธรรมลอยฟ้าที่ดูตื่นตาน่าอัศจรรย์ใจ
เกาะสมุย รองแชมป์เกาะที่ดีที่สุดในเอเชีย
ปีที่ผ่านมา สื่อท่องเที่ยวชื่อดัง "Condé Nast Traveller” ซึ่งเป็นสื่อของกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับลักชัวรีของประเทศอังกฤษ ได้เผยผลการโหวตจากผู้อ่าน ในหมวด “The best islands in Asia 2023” หรือ เกาะที่ดีที่สุดในเอเชีย ซึ่งผลคะแนนจากการโหวตของผู้อ่าน Condé Nast Traveller ปรากฏว่า “เกาะสมุย” คว้าอันดับสอง เป็นรองแชมป์ แพ้เกาะบาหลีไปแบบคะแนนห่างกันฉิวเฉียดเพียงแค่ 0.01 คะแนนเท่านั้น ตอกย้ำความโด่งดังของเกาะท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับโลกได้เป็นอย่างดี
ความเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาขึ้นอีกด้านของเกาะสมุย คือ ถนนหนทาง เมื่อกรมทางหลวงมีการขยาย 4 ช่องจราจรสายทางรอบเกาะสมุย ใกล้ช่วงสุดท้าย "บ.หัวถนน-บ.เฉวง" กว่า 15 กม. โดยคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จราวเดือนมีนาคมปี 2567 สำหรับทางหลวงสายดังกล่าว เดิมชื่อถนนทวีราษฎร์ภักดี เป็นถนนวงแหวนรอบตัวเกาะสมุย ผ่านย่านชุมชนต่างๆ อ้อมรอบเกาะแล้วกลับมาที่จุดเดิมบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองเกาะสมุย เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงสาย 4169 ให้สมบูรณ์ตลอดเส้นทาง
ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้ ปฏิญญาเกาะเต่า
นอกจากเกาะสมุยแล้ว เกาะเต่า และเกาะพะงัน ก็เป็นแนวหน้าด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เกาะเต่านั้นโดดเด่นในเรื่องการเป็นแหล่งดำน้ำ ส่วนเกาะพะงันก็ขึ้นชื่อเรื่องการปาร์ตี้ และการพักผ่อน แต่ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เป็นความร่วมมือเพื่อเป้าหมายสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นั่นคือ “ปฏิญญาเกาะเต่า”
โดยกรมการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า เทศบาลตำบลเกาะเต่า ร่วมกับประชาคมชาวเกาะ จำนวน 21 เกาะ ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน องค์กรภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ จำนวนกว่า 23 องค์กร ร่วมประกาศ “ปฎิญญาเกาะเต่า” ที่หาดทรายรี ตำบลเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
การประกาศ “ปฏิญญาเกาะเต่า”คือ การเปิดมิติใหม่ของการพัฒนาและการจัดการเกาะท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ตามกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่มีการส่งมอบบ้านปลาให้ชาวประมง เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เสมือนเป็นการปักหมุดแสดงการปกป้องทรัพยากรทางทะเล เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและวิถีชีวิตของชุมชนชาวเกาะ ในวันที่ระดับน้ำทะเลกำลังเปลี่ยนไป
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของปฏิญญาเกาะเต่าในแง่การบรรลุตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยว และเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG: เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่มีวิสัยทัศน์ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยคำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนในระดับสากลที่สำคัญ
อุทยานแห่งชาติ คว้ารางวัลระดับประเทศ
รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) หรือ “รางวัลกินรี” เป็นรางวัลที่ทาง“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”(ททท.) จัดทำขึ้นเพื่อมอบให้กับสถานประกอบการ ชุมชน หน่วยงาน ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย โดยใช้สัญลักษณ์ “กินรี”เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ซึ่งการประกาศรางวัลครั้งที่ 14 เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลในสาขาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาสก กับ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
นอกจากนี้ เขาสก ยังได้รับการสำรวจโดย booking.com ได้รับโหวตเป็น 1 ใน 4 จุดหมายยอดนิยมของไทย ประจำปี 2566 ด้วยเหตุผลการเป็นหนึ่งในป่าฝนที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผู้เดินทางจะตื่นตาตื่นใจไปกับความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นพืชพันธุ์รวมถึงสัตว์ชนิดต่างๆ ที่พบเจอได้ยาก พร้อมเปิดประสบการณ์การเป็นนักสำรวจ ผ่านกิจกรรมใกล้ชิดธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่องสัตว์ สำรวจพื้นที่หุบเขา ชื่นชมความสวยงามของผืนทะเลสาบสีคราม ความอลังการของน้ำตก รวมไปถึงถ้ำต่างๆ ที่รอให้ผู้เดินทางได้กลับไปค้นพบอีกครั้ง
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline