“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เป็น 1 ใน 2 มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าให้กับสยามประเทศ และทำให้มีประเทศไทยในทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงกำหนดให้ วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4” ขณะที่ประชาชนนิยมเรียกพระนามสั้น ๆ ว่า “พระเจ้าตากสิน” หรือ “พระเจ้าตาก” ซึ่งพระองค์ท่านได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี นับเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว
ในประเทศไทยแม้จะมีสถานที่รำลึกที่เกี่ยวพันกับพระเจ้าตากสินอยู่หลายแห่งด้วยกัน แต่หากพูดถึงสถานที่จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ของพระเจ้าตากในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยอย่างเป็นระบบ ต้องยกให้ที่ “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง” ซึ่งปัจจุบันที่นี่ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างเป็นระบบแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย
อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือที่หลายคนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “อุทยานฯ พระเจ้าตากสิน” เป็นโครงการที่ทางจังหวัดระยองร่วมมือกับหลายภาคส่วนสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 250 ปี การกอบกู้กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2560) ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อแสดงความสำคัญของเมืองระยองในฐานะชัยภูมิสำคัญ ซึ่งพระเจ้าตากสินได้มาตั้งทัพอยู่นานกว่า 4 เดือน จนสามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากถอยเป็นรุกกลับ จนสามารถกู้คืนกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ
อุทยานฯ พระเจ้าตากสิน มีแนวคิดหลักในการจัดแสดง มุ่งเน้นให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสิน ความสำคัญของเมืองระยอง และความเสียสละกล้าหาญของนักรบเมืองระยอง
อุทยานฯ พระเจ้าตากสิน มี ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย-พม่า เป็นที่ปรึกษาโครงการ พร้อมทั้งมีการกำหนดหลักการด้านเนื้อหาดังนี้
1.อ้างอิงเนื้อหาจากพงศาวดาร 4 ฉบับ คือ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ฉบับพระราชหัตเลขา ฉบับหมอบรัดเล และฉบับบริติช มิวเซียม
2.ในกรณีที่พระราชพงศาวดารบันทึกเหตุการณ์เดียวกันไว้ จะเลือกอ้างอิงจากพระราชพงศาวดารที่มีความน่าเชื่อถือที่สุด
3.จัดแสดงเนื้อหาเฉพาะส่วนที่เป็นด้านการฟื้นราชธานี และราชอาณาจักรเท่านั้น
4.การนำเสนอเนื้อหาจะกระทำควบคู่กับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
อุทยานฯ พระเจ้าตากสิน เป็นอาคาร 2 ชั้น จัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย มีการใช้สื่อมัลติมีเดีย แสง สี เสียง เข้ามาช่วยสร้างสีสันให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในบางจุด โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดแสดงแบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่
โซน 1 “โหมโรงเจ้าตากสิน” : เปิดประเดิมด้วยการเกริ่นนำ เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจถึงเหตุของสงครามครั้งสำคัญ จนถึงขั้นเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
พร้อมทั้งนำเสนอพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสิน นับตั้งแต่การตีฝ่าวงล้อมกองทัพอังวะมุ่งหน้ามาตั้งมั่นที่เมืองระยอง ชัยภูมิสำคัญที่สามารถรวบรวมไพร่พล อาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียง จนสามารถกลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนได้ภายในเวลาเพียง 7 วัน
โซนนี้มีไฮไลต์คือรูปเคารพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้สักการะบูชากันกลางห้อง
โซน 2 “อวสานสิ้นอโยธยา” : บอกเล่าช่วงเวลาคับขันที่กรุงศรีอยุธยาใกล้จะแตก กับข่าวลือเรื่องทัพ “พระยาตาก” ที่มุ่งหน้ามาตะวันออก ซึ่งเป็นที่โจษขานและอยู่ในความทรงจำของคนระยอง โซนนี้นำเสนอด้วยเทคนิคการฉายภาพยนตร์บรรยากาศของ “ตลาดท่าประดู่” ตลาดโบราณเมื่อ 200 กว่าปีก่อน โดยมีการสนทนาของวีรชนคนระยองที่มุ่งมั่นจะเข้าร่วมกับทัพพระยาตากเป็นตัวเดินเรื่อง
โซน 3 “มุ่งบูรพาสรรหาไพร่พล” : โซนนี้เป็นการขยายความเหตุการณ์การปะทะกันของทัพ “พระยาตาก” กับทหารอังวะและชุมชนท้องถิ่น นับตั้งแต่การตีฝ่าวงล้อม ออกจากค่ายวัดพิชัยมุ่งหน้าไปภาคตะวันออก เน้นให้เห็นพระปรีชาสามารถทั้งการเจรจา และการใช้ยุทธวิธีการรบตามตำราพิชัยสงคราม ด้วยเทคนิค กราฟิก แอนิเมชั่น แมปปิ้ง บนจอโค้งขนาดใหญ่พ้อมเสียงประกอบปลุกเร้าใจ
โซน 4 “ประกาศตนองค์ราชันย์” : เป็นโซนไฮไลต์ กล่าวถึงกล่าวถึงช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงนำทัพมาปักหลักที่เมืองระยอง รวบรวมไพร่พลและยุทธปัจจัยได้มากพอจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากถอยเป็นการรุกกลับ แล้วกอบกู้อธิปไตยคืนจากทัพอังวะได้ในที่สุด
โซนนี้มีการนำเสนอสุดตื่นตาด้วยภาพยนตร์ 180 องศา จอโค้งตลอดแนวห้อง ดูเสมือนจริงด้วยเทคนิค 4 มิติ (4D) และพิเศษคือเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมเป็นทหารในกองทัพพระเจ้าตากด้วยการเลือกอาวุธที่จัดแสดง อาทิ ทวน ขอ ง้าว สามง่าม กับบรรยากาศการสู้รบซาวนด์ตื่นเต้นปลุกเร้าอารมณ์
โซน 5 “สร้างเขตขัณฑ์กรุงธนบุรี” : บอกเล่าเรื่องราวหลังชนะศึก พระยาตากปราบดาฯเป็นกษัตริย์แล้วสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี ในบรรยากาศท้องพระโรงจำลองในรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยา
โซนนี้เป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลต์เนื่องจากที่กลางห้องประดิษฐานรูปเคารพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในช่วงพระชนมายุ 33 พรรษา ซึ่งเป็นช่วงที่ยกทัพมาตีเมืองระยอง ถือเป็นรูปเคารพระเจ้าตากสินในช่วงวัยหนุ่มหนึ่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งผู้ชมสามารถกราบสักการะ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และอธิษฐานขอพรจากท่านได้
โซน 6 “ถิ่นคนดีเมืองระยอง” : กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินระยองนับจากอดีตถึงปัจจุบัน เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น ชาวระยองที่ประสบความสำเร็จในแวดวงต่าง ๆ โดยมีสินค้าของดีเมืองระยองบางส่วนให้เลือกซื้อหาติดมือกลับบ้านกัน
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของอุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง ซึ่งนอกจากส่วนจัดแสดงทั้ง 6 โซนในพิพิธภัณฑ์แล้ว เราสามารถเดินเท้าไป “วัดลุ่มมหาชัยชุมพล” หรือ “วัดลุ่ม” ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน เพื่อตามรอยพระเจ้าตาก ชมอันซีน “ต้นสะตือใหญ่” รุกข มรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี
ต้นสะตือ วัดลุ่ม เป็นต้นไม้ใหญ่เก่าแก่แผ่กิ่งก้านสยาย มีอายุราว 330 ปี (มีข้อมูลระบุว่าอยู่คู่วัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2234) วัดขนาดเส้นรอบไว้ได้ 15 เมตร สูง 15 เมตร มีเปลือกหนาแตกลายดูสวยงามคลาสสิก
ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2310 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อคราวที่ถูกพม่าล้อม พระยาตากได้นำทหารตีฝ่าแนวรบทหารพม่า อพยพไพร่พลมาผูกช้างผูกม้าพักแรมที่โคนต้นสะตือใหญ่ของวัดลุ่มต้นนี้ ก่อนจะบุกไปตีเมืองจันทบุรีต่อไป
ปัจจุบันต้นสะตือที่ว่านี้ยังคงยืนต้นแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นอยู่ในวัดลุ่ม ขณะที่บริเวณข้างต้นสะตือเป็นที่ตั้งของ "ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" รูปทรงแบบจัตุรมุข ด้านในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดเท่าองค์จริง ให้ได้กราบสักการะกัน
สำหรับผู้สนใจหากผ่านไปจังหวัดระยองก็สามารถแวะตามรอยพระเจ้าตากที่วัดลุ่มและอุทยานฯ พระเจ้าตากสิน ซึ่งนอกจากจะเป็นอันซีนเมืองระยองอันทรงคุณค่าแล้ว ยังเป็นรอยอดีตสอนใจให้คนไทยเรียนรู้เพื่อเข้าใจสถานการณ์ของชาติบ้านเมืองในปัจจุบันว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว ใครจะมาแบ่งแยกทำลายมิได้
############################
อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ติดกับวัดลุ่มมหาชัยชุมพล (วัดลุ่ม) ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง เปิดให้บริการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ โดยมีรอบเข้าชมพร้อมวิทยากรนำชม วันละ 4 รอบ เวลา 09.30-10.30 น. 11.00-12.00 น. 13.30-14.30 น. และ 15.00-16.00 น. เข้าชมฟรี จำกัดจำนวน 40 คน/รอบ ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร.038 029 091