ดราม่าทันทีหลังเปิดถ้ำหลวง โถง 2 และ 3 ให้เที่ยว โดยคิดค่าบริการ “คนไทย 950 ต่างชาติ 1,500” ทำชาวเน็ตบ่นอุบ พร้อมตั้งคำถาม “ราคานี้แพงเกินไปมั้ย?” ด้าน กรมอุทยานฯ แจง ราคาดังกล่าวไม่สูง เพราะภายในถ้ำหลวงเป็นพื้นที่ทรงคุณค่า และไม่ได้นำรายได้ทั้งหมดเข้าอุทยานฯ แต่จะมีการจัดการแบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ
หลัง “อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ)” จ.เชียงราย ประกาศเปิดเส้นทางท่องเที่ยวภายใน “ถ้ำหลวง” โดยขยายไปถึงโถง 2 และโถง 3 หลังจากที่ปิดเส้นทางไปตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ “13 หมูป่า” โดยมีการปรับปรุงแล้วเปิดให้เที่ยวเฉพาะโถง 1 เท่านั้น
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่า และพันธุ์พืช ได้จัดงาน “หนาวนี้เที่ยวอุทยานแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2566 จากอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ
พร้อมกันนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เปิดการท่องเที่ยวถ้ำหลวง ซึ่งจากเดิมหลังเกิดเหตุการณ์ 13 หมูป่า ได้มีการปรับปรุงและเปิดให้เที่ยวได้เฉพาะโถงที่ 1 แต่วันนี้ได้ขยายเส้นทางเที่ยวถ้ำหลวงไปถึงโถง 2 และ โถง 3
สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวภายในถ้ำหลวง ปัจจุบัน อช.ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เปิดให้เที่ยวชมจากปากถ้ำถึงโถง 1 มีระยะทางประมาณ 200 เมตร ส่วนโถงถ้ำที่ 2 และที่ 3 จะมีจุดที่คับแคบที่ต้องลอดตัวเข้าไปจึงต้องมีผู้ชำนาญเดินทางเข้าไปด้วย ภายในโถงที่ 3 จะเป็นกองอำนวยการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ในช่วงกู้ภัยทีมเยาวชนหมูป่าอคาเดมีทั้ง 13 คน
โดยจากปากถ้ำไปถึงโถงที่ 3 มีระยะทางรวมประมาณ 700 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในเส้นทางดังกล่าวนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น อาทิ เดินตามพื้นถ้ำที่มีหินถล่ม มุดลอดรู ปีนป่ายก้อนหินขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งระหว่างเส้นทาง จะพบกับประติมากรรมถ้ำ ได้แก่ หินย้อย ม่านหินย้อย หลอดหินย้อย นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับประสบการณ์เส้นทางตามรอย 13 หมูป่า อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมเที่ยวถ้ำหลวงถึงโถง 2 และ โถง 3 เปิดให้เที่ยววันละ 2 รอบ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวรอบละ ไม่เกิน 10 คน (เฉพาะวันอังคาร, พุธ, พฤหัสฯ) ใช้เวลาประมาณ 2-2.30 ชั่วโมง มีอัตราค่าบริการชาวไทย 950 บาท/คน ชาวต่างชาติ 1,500 บาท/คน ผู้สนใจต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ (7 วันทำการ) ผ่านทางเพจอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมอุปกรณ์ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ คอยดูแลตลอดทาง
อย่างไรก็ดีหลังมีการเปิดตัวเส้นทางพร้อมราคา ได้เกิดดราม่าขึ้นทันที โดยชาวเน็ตต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลว่า ราคาค่าเข้าชมแพงเกินไปหรือเปล่า เพราะกิจกรรมนั้นไม่ได้เยอะและใช้เวลาไม่มาก โดยหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ราคานี้ “โคตรแพง” แต่กระนั้นก็มีชาวเน็ตบางส่วนบอกว่า ราคานี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามโอกาส
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าวกับสื่อมวลชนว่า ราคาดังกล่าว ได้มีการปรึกษากันมาหลายฝ่าย ถือว่าไม่สูง เพราะภายในถ้ำหลวงเป็นพื้นที่พิเศษที่ทรงคุณค่าและเสี่ยงอันตราย การเข้าไปต้องมีอุปกรณ์พิเศษ และต้องมีทีมผู้เชี่ยวชาญนำทางเข้าไป ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปเที่ยวเองคนเดียวได้
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับราคาที่กำหนด ไม่ได้เป็นรายได้เข้าอุทยานฯ ทั้งหมด แต่จะมีการจัดการเป็น ส่วนต่าง ๆ อาทิ 1.ให้บุคคลากรนำเที่ยว 500 บาท (แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วย 350 บาท เจ้าหน้าที่กู้ภัย 2 คน ๆ 100 บาท และมัคคุเทศน์ท้องถิ่น 50 บาท) 2.นำเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตของกรมอุทยานฯ 150 บาท 3.นำเข้ากองทุนสวัสดิการถ้ำหลวง 300 บาท ซึ่ง จะนำไปใช้ เป็นสวัสดิการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน(เตรียมการ ) นอกจากนี้ก็ยังมี ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ในถ้ำและบริเวณด้านนอกที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ค่าประกันชีวิตเจ้าหน้าที่และ บุคคลากรนำเที่ยว เป็นต้น
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการเที่ยวภายในถ้ำหลวงนั้น สามารถเที่ยวได้บริเวณ โถงที่ 1 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ถ้ำหลวง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดินเป็นเวลานาน มีความยาว 10.3 กิโลเมตร มีความสูงโดยเฉลี่ย 779 เมตร เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่และลึกมากเป็นอันดับที่ 4 ของเมืองไทย
ถ้ำหลวงมีปากถ้ำเป็นโถงสูงกว้างอลังการ ภายในถ้ำมีเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอกหินย้อย ธารน้ำถ้ำลอด และถ้ำแขนง แนวโถงถ้ำมีเส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเข้าถึงง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น รอยการไหลของน้ำเป็นริ้วคลื่น ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง รอยระดับน้ำหลุมยุบ โพรงเพดานถ้ำและรอยแตกของผนัง เป็นต้น