ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีส่งท้ายปี พ.ศ. 2566 เมื่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “ประเพณีสงกรานต์” ของไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 6 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา
นับเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ลำดับที่ 4 ของเมืองไทย ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ซึ่งได้แก่ โขนไทย (2561) นวดไทย (2562) โนรา (2564) และ “ประเพณีสงกรานต์” (2566)
สงกรานต์ ปีใหม่ไทย
ประเพณีสงกรานต์ของไทย (และอีกหลายประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์) รับเอาคติความเชื่อมาจากศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ในชมพูทวีป(อินเดีย) โดยพวกพราหมณ์ได้นำเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อสมัยต้นพุทธกาล
นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่าสงกรานต์เป็นประเพณีที่รับอิทธิพลมาจาก “เทศกาลโฮลี” หรือ “เทศกาลแห่งสีสัน” ของอินเดียที่จะมีการสาดสีใส่กันอย่างสนุกสนานในช่วงเดือนมีนาคม
คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งไปอีกราศีหนึ่ง (ซึ่งปกติจะมีทุกเดือน) แต่สงกรานต์ของคนไทยในอดีต หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีมีน (มีนาคม) เข้าสู่ราศีเมษ (เมษายน) ซึ่งเรียกว่า “วันมหาสงกรานต์”
สงกรานต์ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติของคนไทยนับจากอดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสรุยคติ ทั้งยังตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร คนสมัยก่อนจึงคิดเทศกาลสงกรานต์ขึ้นมาเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังเหน็ดเหนื่อยจากทำงาน พร้อมกับทำกิจกรรมการ “สาดน้ำ” (อย่างสุภาพ) เพื่อคลายความร้อนในช่วงเดือนเมษายน
นอกจากนี้ประเพณีสงกรานต์ยังมี “นางสงกรานต์” ที่เป็นเสน่ห์สีสันคู่กันมาช้านาน โดยมีหลักฐานเกี่ยวกับนางสงกรานต์ปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์ ว่าด้วยเรื่องการเดิมพันของ “ธรรมบาลกุมาร” เด็กที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด และ “ท้าวกบิลพรหม” ผู้แพ้เดิมพันจนต้องถูกตัดศีรษะ กับธิดาสาวงามทั้ง 7 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนางสงกรานต์ประจำวันต่าง ๆ ทั้ง 7 วัน โดยงาน “สงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์” กทม. ถือเป็นต้นตำรับของการประกวดเทพีสงกรานต์ หรือนางสงกรานต์ยุคแรก ๆ ของเมืองไทย ก่อนจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน
สงกรานต์กับสิ่งดีงามแบบไทย ๆ
เทศกาลสงกรานต์ตามคติแบบไทย มี 3 วัน คือ 13 เมษายน เป็นวัน มหาสงกรานต์ 14 เมษายนเป็น “วันเนา” คือวันที่ถัดมาจากวันมหาสงกรานต์ 1 วัน 15 เมษายน เป็น “วันเถลิงศก” หมายถึง วันขึ้นศกใหม่
สงกรานต์ถือเป็นสุดยอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไทยที่ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรม การละเล่นที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศเมืองร้อน ซึ่งนอกจากจะมีการละเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานเพื่อดับร้อนผ่อนคลายทั้งทางกายและใจแล้ว ประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมของคนไทยในอดีต ยังอุดมไปด้วยกิจกรรมดีงามที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา วัดวาอาราม ชุมชน ครอบครัว และญาติสนิทมิตรสหาย ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดบ้านเรือน การไปทำบุญทำทานที่วัดเสริมสิริมงคลรับขวัญวันปีใหม่
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสำคัญคู่ประเพณีสงกรานต์ นำโดย การ ”สรงน้ำพระ” เสริมสิริมลคลรับขวัญวันปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปที่บ้าน วัดวาอาราม หรือสถานที่ต่าง ๆ การ “ก่อพระเจดีย์ทราย” ซึ่งนอกจากจะเป็นทำบุญด้วยการขนทรายเข้าวัดแล้ว ยังเป็นความร่วมมือร่วมใจ แสดงความสามัคคีกันของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย
ขณะที่มิติความสัมพันธ์ด้านครอบครัวและญาติพี่น้อง ในช่วงสงกรานต์จะถือว่าเป็น “วันครอบครัว” (14 เมษายน) ที่สมาชิกส่วนใหญ่จะกลับมาเยี่ยมเยือนบ้านญาติผู้ใหญ่แล้วอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีการพบปะพูดคุยสังสรรค์ พร้อม “รดน้ำดำหัว” ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ โดยเชื่อว่าเป็นการขอขมาลาโทษกับสิ่งที่เคยล่วงเกิน และเป็นการขอพรจากญาติผู้ใหญ่ให้ลูกหลานได้อยู่เย็นเป็นสุข
สงกรานต์ Soft Power เลื่องชื่อของไทย
ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์นอกจากจะมีกิจกรรมหลักคือการละเล่นสาดน้ำอันสนุกสนานจนถูกยกให้เป็น “Water Festival” ชื่อดังระดับโลกแล้ว งานสงกรานต์ในแต่ละภาค ในหลายจังหวัดหลายพื้นที่ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดทางการท่องเที่ยวชั้นดี
ทุก ๆ ปี ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” จะจัดงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชูพื้นที่ต่าง ๆที่ มีการจัดงานสงกรานต์อันโดดเด่น ใน 5 ภูมิภาคทั่วไทย รวมถึงงานสงกรานต์กระแสรองที่มีประเพณีและกิจกรรมอันโดดเด่น
นอกจากนี้ในช่วงหลังที่กระแส “Soft Power” มาแรง ประเทศไทยได้ชูประเพณีสงกรานต์ เป็นหนึ่งใน Soft Power สำคัญ ผ่านแนวคิด 5F คือ Food Film Festival Fight และ Fashion โดยสงกรานต์จัดอยู่ในประเภท F- Festival ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติปักหมุดเดินทางมาท่องเที่ยวและเล่นสาดน้ำในประเพณีสงกรานต์ของเมืองไทยในแต่ละปีกันเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊ง) หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเกิดไอเดียจัดประเพณีสงกรานต์ตลอดทั้งเดือนเมษายน 2567 โดยจะมีการจะจัดกิจกรรมหมุนเวียนกันไปใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อหวังว่าจะเป็นการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เที่ยวในเมืองไทยยาวนานขึ้น ก่อนจะเกิดเป็นดราม่า “สาดน้ำทั้งเดือน” ให้ชาวเน็ตสวดยับจนเธอต้องออกมา ขอให้ “มูฟออนคำนิยาม” เพื่อสยบดราม่าดังกล่าว
อีกด้านหนึ่งของสงกรานต์
ด้วยความโดดเด่นของประเพณีสงกรานต์เมืองไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการตกผลึกทางภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยในหลายมิติ ทำให้ “ยูเนสโก” (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “ประเพณีสงกรานต์” ของไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น)
อย่างไรก็ดีประเพณีสงกรานต์ของไทยในปัจจุบัน ยังมีด้านที่ต้องแก้ไขปรับปรุงหลัก ๆ คือ เรื่องของอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตรายเป็นจำนวนมาก
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือการละเล่นสาดน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปจากการกระทำของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแปรเปลี่ยนวัฒนธรรมอันดีงาม (ในอดีต) ให้กลายเป็น “สงครามน้ำ” มีการสาดน้ำกันอย่างบ้าคลั่งจนอาจเกิดอันตรายตามมา รวมถึงมีการผสมสี สิ่งแปลกปลอมใส่ลงไปในน้ำเพื่อกลั่นแกล้งคนอื่น
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องการทะเลาะวิวาทที่เกิดจากความมึนเมา (จากการสร้างสรรค์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การลวนลามทางเพศด้วยวิธีการต่าง ๆ ผ่านการเล่นน้ำหรือตามสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัญญาของประเพณีสงกรานต์ปัจจุบันที่คนไทยทุกต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น พร้อมร่วมกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามเหล่านี้ให้คงอยู่ไปตราบนานเท่านาน สมกับเป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” อันทรงคุณค่าคู่โลกของเรา