xs
xsm
sm
md
lg

พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก ลพบุรี: แหล่งรวมมรดกวัฒนธรรมริมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพลายเส้น ร.๙ กับการชลประทานในประเทศไทย
ฤดูหนาวปลายปี การท่องเที่ยว “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” คึกคักเป็นพิเศษอีกครั้ง เพราะมีอากาศเย็นสบาย และนักท่องเที่ยวหลายคนก็พ่วงโปรแกรมมาพร้อมกับการไปชมทุ่งทานตะวันที่บานสะพรั่งในช่วงนี้

นอกจากชมวิวสวยพักผ่อนรอบๆเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นั่งรถไฟลอยฟ้า หรือเที่ยวทุ่งทานตะวันแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การแวะไปเยือน คือ “พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก” แหล่งเรียนรู้ที่จะทำให้รู้จักลุ่มน้ำแห่งนี้ได้อย่างหลากหลายมิติ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และโครงการต่างๆที่เกิดขึ้น


ทิวทัศน์เขื่อนป่าสักฯ จากพิพิธภัณฑ์
“พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก” ตั้งอยู่ในบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงมอบให้กรมชลประทานเป็นผู้ดูแล จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่อง แสดงมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่กักเก็บน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หลักฐานที่สำคัญเป็นประโยชน์ในด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งการดำรงชีวิต สภาพแวดล้อม ความเป็นไปต่างๆ ตลอดจนความรุ่งเรืองของชุมชน และยังรวบรวมข้อมูลด้านการชลประทาน ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนป่าสัก ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ จัดแสดงไว้อย่างครบครัน

ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งในโครงการแก้ไขและพัฒนาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานแก้ไขและพัฒนาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยกรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้ดูแลงานสิ่งแวดล้อมด้านวัฒนธรรม มีการตั้ง "คณะปฏิบัติการแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านโบราณคดี" ขึ้นมาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา โดยมีภาระกิจสำคัญ 3 ด้าน คือ ปฏิบัติการแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านโบราณคดี ศึกษาด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น และก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก

จุดแสดงภูมิประเทศลุ่มน้ำป่าสัก
พิพิธภัณฑ์เปิดบริการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 จากนั้นใน ปี พ.ศ. 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริ “…ให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ประสานกรมศิลปากร กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งภายในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เหมาะสมและบริหารจัดการ เพื่อให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพิพิธภัณฑ์ให้มากยิ่งขึ้น…”

สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน กรมศิลปากร และจังหวัดลพบุรี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมสนองพระราชดำริ ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์ ผลิตสื่อจัดแสดง คำบรรยายโบราณวัตถุ ติดตั้งระบบควบคุมไฟฟ้าภาพและเสียง เพื่อให้พิพิธภัณฑ์ มีความทันสมัย น่าสนใจ ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ ข้อมูลวิชาการ และรูปแบบการนำเสนอ

วิดีทัศน์ พระราชดำรัส ในหลวง ร.๙
ทำให้อาคารภายนอกที่ดูเรียบง่ายนั้น หากแต่เมื่อเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ฯ จึงอัดแน่นไปด้วยข้อมูลความรู้หลากหลายด้าน ทั้งยังมีรูปแบบการจัดแสดงที่สวยงาม มีความร่วมสมัย โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วนหลัก ได้แก่

ส่วนที่ 1 "การชลประทานในประเทศไทย"
นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระมหากษัตริย์ผู้สร้างคุณูปการด้านการชลประทานในประเทศไทย และพระราชดำริเกี่ยวกับการพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการชลประทานของโลกและของประเทศไทย ผ่านรูปแบบจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่

โบราณวัตถุที่ขุดพบในลุ่มน้ำป่าสัก
ส่วนที่ 2 "ย้อนรอยอารยธรรม"
ย้อนอดีตไปรู้จักกับมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายอันมีหลักฐานว่าเป็นผู้ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนป่าสักในอดีต จนมีพัฒนาการสืบเนื่องมาในสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ ซึ่งส่วนจัดแสดงห้องนี้ ชวนตื่นตาตื่นใจไปด้วยโบราณวัตถุที่ค้นพบ เครื่องมือหิน เครื่องมือโลหะ เครื่องประดับ และภาชนะต่างๆ ตลอดจนโครงกระดูกของมนุษย์ยุคโบราณจากแหล่งโบราณคดีบ้านชัยบาดาล

โบราณวัตถุที่ขุดพบในลุ่มน้ำป่าสัก
ส่วนที่ 3 "วัฒนธรรมท้องถิ่น"
ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่กักเก็บ น้ำแม่น้ำป่าสัก คือ ชาวไทยเบิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ โดยตั้งหลักแหล่งกระจายกันอยู่ในพื้นที่จังหวัดในภาคอีสานของประเทศไทย เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ และบางส่วนได้อพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานในพื้นที่ตำบลโคกสลุง และตำบลมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี จัดแสดงผ่านโมเดลจำลองที่มีความสวยงาม เดินชมได้เพลิดเพลินเข้าใจง่าย

โครงกระดูกมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีบ้านชัยบาดาล
ส่วนที่ 4 “ภูมิศาสตร์"
นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ แหล่งน้ำลำธารที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำป่าสัก และพื้นที่ที่แม่น้ำป่าสักได้ไหลมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ต่างๆ จนมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เอื้อประโยชน์ต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต โดยแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมที่สุดในการคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนกัก เก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก ที่บ้านแก่งเสือเต้น ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

ส่วนที่ 5 "ทรัพยากรธรรมชาติ"
แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ครั้งอดีต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์เลือกพื้นที่แห่งนี้สำหรับการตั้งถิ่นฐาน และมีหลักฐานการอยู่อาศัยสืบเนื่องกันมายาวนาน ป่าไม้และสัตว์ป่าที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในอดีต โดยจำลองต้นไม้และพืชพรรณที่เคยมีอยู่ในพื้นที่มาจัดแสดง เช่น สักทอง ประดู่ป่า ไผ่ และต้นค้อ

โมเดลจำลองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
ส่วนที่ 6 "ป่าสักวันนี้"
ลักษณะการจัดแสดงเป็นสไลด์มัลติวิชั่น นำเสนอข้อมูลเนื้อหาของ 5 ส่วนจัดแสดง นำมาสรุปใส่แสง สี เสียง มีเสียงอธิบายถึงทัศนคติของบุคคลหลากหลายอาชีพที่มีต่อโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อนจะปิดท้ายด้วยโซนจำหน่ายของที่ระลึก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนจากท้องถิ่น

โมเดลจำลองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก
บ้านแก่งเสือเต้น ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
เปิดให้เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
เปิด พุธ - อาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น.
(ปิด จันทร์-อังคาร)

ของที่ระลึก - สินค้าโอทอป
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น