ตื่นตาประเพณี "ลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง" จ. ตาก ในค่ำคืนวันลอยกระทง จันทร์ซ้อนจันทร์ กับความงดงามตระการตาของการลอยกระทงสายจากกะลาอันเป็นเอกลักษณ์แห่งลำน้ำปิง ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์งานประเพณีลอยกระทงของบ้านเรา
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับพันธมิตร จัดงานประเพณี "ลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง" ในระหว่างวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2566 บริเวณเชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก
สำหรับกิจกรรมในวันสุดท้าย 27 พ.ย. 66 ซึ่งเป็นค่ำคืนวันลอยกระทง จันทร์ซ้อนจันทร์ กิจกรรมภายในงานเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น. พบกับกิจกรรมลานภูมิปัญญากระทงสาย และกิจกรรมไฮไลต์ พิธีขอขมาพระแม่คงคา (ถวายผ้าป่าน้ำ) พิธีอัญเชิญพระประทีปพระราชทานฯ และพิธีปิดงาน ณ เวทีกลางน้ำปิง ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป พร้อมชมการแสดงพลุในเวลา 21.00 น. ก่อนจะส่งท้ายกิจกรรมใส่บาตรพระอุปคุต เที่ยงคืน อาบน้ำมนต์จันทร์เพ็ญ ในเวลา 24.00 น.
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ การแข่งขันการลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง ประจำปี 2566 (วันสุดท้าย) จากชุมชนและสถาบันการศึกษาในจังหวัดตาก โดยผลการแข่งขันการลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง ชิงถ้วยพระราชทานฯ จังหวัดตาก ประจำปี พ.ศ. 2566 ผู้ชนะ ได้แก่ สายกระทงของชุมชนปทุมคีรี ชุมชนดอยคีรี ชุมชนเด่นสน ชุมชนหัวเดียด ร่วมกับโรงเรียนตากพิทยาคม
ประวัติความเป็นมาของงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง
งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง ของจังหวัดตากเป็นงานประเพณีที่นำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้านและงานศิลปวัฒนธรรม มาหล่อหลอมรวมกันจนเกิดเป็นรูปแบบที่โดดเด่นได้มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานหลายชั่วอายุคนซึ่งจะแตกต่าง กับงานประเพณีลอยกระทงของจังหวัดอื่น เพราะส่วนประกอบของกระทงจะมีการนำ กะลามะพร้าว มาใช้เป็นส่วนใหญ่
เหตุที่มีการนำเอากะลามาเป็นส่วนประกอบนั้น เนื่องมาจากชาวเมืองตากมีการนำเอามะพร้าวมาแปรรูปทำเป็นอาหารว่างที่เรียกว่า "เมี่ยง" โดยถือเป็นอาหารว่างที่ชาวเมืองตากรับประทานเป็นประจำหลังอาหาร ซึ่งมีมะพร้าว ถั่วลิสง ใบเมี่ยงหมักเป็นส่วนประกอบหลัก
นอกจากทำเพื่อรับประทานกันเองภายในครอบครัวแล้ว ยังมีการนำมาขายเป็นอาหารพื้นเมืองและได้รับความนิยมในภาคเหนือโดยทั่วไป กรรมาวิธีในการแปรรูปมะพร้าวเป็น "เมี่ยง" นั้น มีการขูดเอาเฉพาะเนื้อมะพร้าวมาทำ ส่วนกะลามะพร้าวจะถูกทิ้งไว้ในบริเวณบ้านเป็นจำนวนมากไม่มีการนำเอามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ครั้นถึงวันเพ็ญ เดือนสิบสอง (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินทางจันทรคติ) ประมาณ เดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านจึงได้ทดลองนำกะลาด้านที่ไม่มีรูมาทำเป็นกระทง โดยเอากะลามาขัดถูจนสะอาดตกแต่งลวดลายสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็น รูป"ตีนกา" แล้วหล่อ เทียนขี้ผึ้ง ซึ่งนำมาจากเทียนจำนำพรรษาที่พระสงฆ์จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน
หลังจากออกพรรษาชาวบ้านจะนำเทียนขี้ผึ้งเหล่านั้นมาหล่อใส่ในกะลา ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็น สิริมงคลแก่ผู้นำไปลอยก่อนที่จะปล่อยลงลอยในแม่น้ำปิง
ประกอบกับแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะเกิดสันทรายใต้น้ำ ทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่สวยงามเป็นธรรมชาติ เมื่อนำกระทงกะลาลงลอย กระทงกะลาจะไหลไปตามร่องน้ำดังกล่าว ทำให้ดูเป็นสายอย่างต่อเนื่อง จนสุดสายตา ซึ่งไฟในกะลาจะส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ
โดยเดิมทีก่อนที่จะมาเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง นั้นการนำเอากระทงกะลามาลอยเป็นสายจะเป็นเพียงการสาธิตการลอยเท่านั้น ซึ่งในระยะต่อมาได้มีการพัฒนาการลอยมาเป็นการแข่งขันกันอย่างยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 จนเกิดเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวงอันตระการตาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดตากที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานถ้วยรางวัลในการแข่งขันเป็นประจำทุกปี