เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นข่าวดังอีกครั้ง สำหรับการก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ซึ่งเป็นการเดินทางไปบวชที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย
วัดแห่งนี้ นับว่าเป็นวัดไทยที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในต่างแดน เพราะถือเป็น “วัดไทยแห่งแรก” ในดินแดนพุทธภูมิ
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่อินเดียจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เรียกว่า "พุทธชยันตี" เมื่อ พ.ศ. 2500 เป็นเวลาที่ตรงกับ พ.ศ. 2499 ของชาวไทย เพราะพุทธศักราชไทยและอินเดียต่างกันอยู่ 1 ปี รัฐบาลอินเดียเตรียมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษไว้ล่วงหน้าหลายประการ ได้แก่ บูรณปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงสังเวชนียสถาน 4 แห่ง และสถานที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาในอินเดียทุกแห่งอย่างจริงจัง สร้างที่พักสำหรับรองรับผู้มาจาริกแสวงบุญทุกแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนจากทุกหนแห่งที่มีศรัทธาเดินทางมาสักการะพุทธสถาน
ในโอกาสสำคัญนี้ ในเวลาเดียวกันก็ส่งสาส์นเชิญชวนบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาร่วมกันเฉลิมฉลองโดยการสร้างวัดในดินแดนพุทธภูมิเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาด้วย
รัฐบาลไทยได้รับการเชิญให้ไปสร้างวัดในอินเดีย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2499 ในปีที่อินเดียกำลังจัดงานพุทธชยันตีอย่างปลื้มปีติ โดยประสานความเข้าใจระหว่างกันผ่านทางสถานทูต ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงเสียสละอย่างสูงเมื่อทรงค้นพบ "สัจธรรม" แล้ว ทรงประทานแก่ชาวโลกโดยมิได้หวงแหนไว้เฉพาะชนชาวภารตะเท่านั้น
พระคุณแห่งพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระและพระเจ้าอโศกมหาราชมหาราชาธิบดีแห่งอินเดีย ในยุคถัดต่อพุทธกาล เมื่อประมาณพุทธศักราช 236 ที่ทรงมอบหมายให้พระมหาเถระคือพระโสณเถระ และพระอุตตรเถระพร้อมด้วยคณะพุทธบริษัทที่สามารถทำสังฆกรรมได้ มาประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ ณ พระปฐมเจดีย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นบนผืนแผ่นดินไทยทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยตระหนักว่า แม้ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก มีประชากรเพียง 30 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2500 แต่ก็รับมรดกอันล้ำค่าคือ "พระพุทธศาสนา" ไว้เป็นศาสนาประจำชาติ มีวัดวาอารามทางพระพุทธศาสนากว่า 20,000 วัด มีพระสงฆ์ในระหว่างพรรษากว่า 200,000 รูป กฎมณเทียรบาลและรัฐธรรมนูญของแผ่นดินไทยตราไว้ชัดเจนว่า “องค์พระประมุขของชาตินั้นจักต้องทรงเป็นพุทธมามกะ"
อัธยาศัยของชาวไทยได้รับการกล่าวขวัญจากชาวต่างประเทศว่า "สยามเมืองยิ้ม" บ้าง "ประเทศแห่งความเมตตาปราณี" บ้าง เพราะเหตุแห่งคุณธรรมอันล้ำเลิศของพุทธองค์ที่อาบย้อมจิตใจตลอดมาล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรมที่สูงส่งของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลไทยจึงตอบรับคำเชิญของรัฐบาลอินเดียในการที่จะสร้างวัดไทยในอินเดีย ณ สถานที่ตรัสรู้ คือ พุทธคยาเป็นอันดับแรกด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
ประเทศอินเดียเป็นสถานที่กำเนิดของพระพุทธศาสนา
ประเทศอินเดียมีประชาชนยังคงนับถือพระพุทธศาสนาเพียง 0.06% ต่อประชากรทั้งประเทศ
ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่ชาวพุทธไทยควรได้สนองพระคุณน้อมเป็นพุทธบูชา โดยจัดพระสงฆ์ "ปัญจวรรค" เป็นอย่างน้อยมาบำเพ็ญสมณกิจอยู่ประจำ
รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการก่อสร้างวัดไทยพุทธคยาขึ้นดำเนินการสถานที่สร้างวัดไทยพุทธคยา โดยมี พลเอก หลวงสวัสดิ์ สรยุทธ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (กระทรวงวัฒนธรรมในรัฐบาลสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม) เป็นประธานได้รับการรายงานจากนายบุณย์ เจริญไชย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเดลี ประเทศอินเดียขณะนั้นว่า สถานที่สร้างวัดไทย ควรจัดสร้างที่พุทธคยา จังหวัดคยา แคว้นพิหาร เป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ซึ่งเป็นที่กำหนดแน่นอนว่า "พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้น ณ พุทธคยา"นี้ และชาวอินเดียทั้งมวลอีกว่า “พุทธคยาคือศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนา"
สำหรับสถานที่สำคัญอย่างพระอุโบสถของวัดไทยพุทธคยา ได้จำลองมาจากพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร โดยไม่เพียงแต่เหมือนกันแค่ภายนอกเท่านั้น เพราะด้านในก็ประดิษฐานพระพุทธชินราช (จำลอง) เป็นองค์พระประธานเฉกเช่นเดียวกัน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline