xs
xsm
sm
md
lg

หอกลอง: หอส่งสัญญาณสำคัญกลางพระนครในยุคกรุงศรีอยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจำลองหอกลองจากละครเรื่องพรหมลิขิต ตอนที่ 11 (ช่อง 3)
ละครดังเรื่อง “พรหมลิขิต” ภาคต่อของ “บุพเพสันนิวาส” ยังคงนำเสนอเรื่องราวเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแก่ผู้ชมเสมอทุกตอน โดยในตอนที่ 11 มีฉาก พ่อริดกับพุดตาน ไปชม “หอกลอง” ด้วยกัน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสถานที่สำหรับการสื่อสารที่สำคัญในยุคนั้น โดยปัจจุบันไม่มีหลงเหลือแล้วในอยุธยา


ภาพจำลองหอกลองจากละครเรื่องพรหมลิขิต ตอนที่ 11 (ช่อง 3)
ข้อมูลกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร โดย นายปวิตร ใจเสงี่ยม นักวิชาการวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ระบุว่า

นับแต่การสถาปนากรุงศรีอยุธยา มีการสร้างบ้านแปลงเมือง ขุดคูเมือง สร้างกำแพง ป้อม ค่าย มีประตูเข้าออกโดยรอบกำแพงพระนคร มีผู้คนต่างบ้าน ต่างเมือง ต่างชาติ ต่างภาษา เข้ามาค้าติดต่อราชการ การค้าขาย อีกทั้งโดยตลอดวันยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ในสมัยที่การส่งข่าวสารต่างๆมิได้สะดวกรวดเร็วดังเช่นปัจจุบัน


“หอกลอง" จึงทำหน้าที่สำคัญในการส่งสัญญาณบอกแก่ผู้คนในพระนครถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น โดยหอกลองของกรุงศรีอยุธยานั้น อยู่ในความดูแลของกรมพระนครบาล อยู่บริเวณตลาดหน้าคุก แถววัดเกตุ เป็นหอกลองสูง 3 ชั้น แขวนกลองขนาดต่างกันจำนวน 3 ใบ


ชั้นล่างสุดนั้นเป็นกลองมีชื่อว่า พระทิวาราตรี เป็นกลองใบใหญ่สุดในจำนวนกลอง3ใบ ใช้ตีเวลาย่ำเที่ยง ย่ำสันนิบาต เวลาย่ำรุ่ง(ตอนเช้า) ย่ำค่ำ(ตอนเย็น) เป็นการตีสัญญาณบอกเวลาเป็นประจำทุกวัน


ชั้นกลางแขวนกลอง มีชื่อว่าพระมหาระงับดับเพลิง ตีเฉพาะเมื่อเกิดเหตุเพลิงใหม้ หากเกิดเพลิงไหม้นอกพระนครนับแต่ตลิ่งแม่น้ำออกไปด้านนอกคาดกลองเป็นสัญญาณ 3 ครั้ง แต่หากเพลิงนั้นเกิดไหม้ในเกาะพระนคร อันเป็นที่มีสถานที่สำคัญทั้งพระราชวัง วัด ตลาด บ้านเรือนราษฎร จะเกิดเพลิงลุกลามไวทำให้ต้องคาดกลองตลอดจนกว่าจะดับเพลิงได้


ชั้นบนสุด แขวนกลองมีชื่อว่า พระมหาฤกษ์ หากได้ยินเสียงกลองใบนี้ เป็นอันว่าคงต้องเตรียมตัวโดยเร่งด่วนเพราะจะคาดกลองนี้ก็ต่อเมื่อมีศึกมาประชิดติดพระนครเท่านั้น เมื่อเป็นหอกระจายสัญญาณสำคัญของพระนครย่อมต้องมีการดูแลเข้มงวดแต่มักเกิดปัญหาด้วยสัตว์ตัวน้อยคือมุสิกะ(หนู)ชอบกัดหนังหน้ากลองให้ได้รับความเสียหาย ในแต่ละวันเจ้าพนักงานพระนครบาลผู้ดูแลหอกลองจึงต้องเรี่ยไรเก็บเงินจากร้านค้าตลาดหน้าคุกร้านละ 5 เบี้ย เพื่อนำมาซื้อปลาย่างเลี้ยงวิฬาร์ (แมว) ไว้คอยกัดหนู


ถึงแม้ปัจจุบันจุบันหอกลองนั้นจะไม่หลงเหลืออยู่ แต่ก็ยังคงสะท้อนถึงวิถีชีวิตผู้คนในอดีตที่ล่วงมาแล้ว

หอกลอง สมัยรัตนโกสินทร์ ภาพจากหนังสือกรุงเทพฯในอดีต
อย่างไรก็ตาม สำหรับยุครัตนโกสินทร์ ข้อมูลจาก Bangkok Tourism Division ระบุว่า “หอกลองพระนคร” ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2325 ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณป่าช้าของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ (ปัจจุบันเป็นหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน) 


โดยรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเหมือนกับหอกลองในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นอาคารทำด้วยไม้ สูง 1 เส้น 10 วา (60 เมตร) มีหลังคาสูงเป็นทรงยอดมณฑป มีทั้งหมด 4 ชั้น โดย 3 ชั้นบน แต่ละชั้นแขวนกลองไว้ 3 ใบ

หอกลองสมัยรัตนโกสินทร์ ภาพจาก Bangkok Tourism Division


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น