xs
xsm
sm
md
lg

ชวนเที่ยว “อช.น้ำพอง” ต้อนรับ หน. อุทยานฯ คนใหม่ หล่อโดนใจโซเชียล!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก สำนักอุทยานแห่งชาติ
ทำเอาชื่อของ “อุทยานแห่งชาติน้ำพอง” จ.ขอนแก่น เป็นไวรัลไปทั้งโซเชียล เมื่อมีการโพสต์เปิดตัวต้อนรับหัวหน้าอุทยานฯ คนใหม่ ที่หน้าตาหล่อเหลาโดนใจชาวเน็ตอย่างจัง จนสาวๆ อยากแห่กันไปเที่ยว อช.น้ำพอง ทันที!

หัวหน้าอุทยานฯ คนใหม่ (ภาพจาก อช.น้ำพอง)
โพสต์ไวรัลดังกล่าวถูกโพสต์โดยเฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติน้ำพอง - Namphong National Park เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการต้อนรับ “ใหญ่” นายธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ที่เข้ามารับหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพองคนใหม่

โดยในโพสต์ได้ลงภาพบรรยากาศการพาหัวหน้าอุทยานฯ คนใหม่ไหว้สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลปู่ขาว บนหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ นพ.4 (หินช้างสี) ศาลประจำที่ทำการอุทยานฯ และหลวงพ่อผาสละโสด เพื่อความเป็นสิริมงคลในการปฏิบัติงาน โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำพอง หัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่ร่วมแสดงความยินดีและให้การต้อนรับ

ใหญ่- ธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย (ภาพจาก อช.น้ำพอง)
ซึ่งชาวเน็ตพากันโฟกัสที่ “พี่ใหญ่” ที่รูปร่างหน้าตาหล่อเหลาโดนใจโซเชียล และพากันแชร์โพสต์ดังกล่าวจนเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน พร้อมกับคอมเมนต์สนั่นว่าอยากตีตั๋วรถทัวร์ไปเที่ยว อช. น้ำพองในทันที

ครั้งนี้ขอพาเปิดประวัติหัวหน้าอุทยานฯ คนใหม่ ที่นอกจากจะหน้าตาดีแล้ว ยังมากความสามารถและโปรไฟล์ดีไม่เบาอีกด้วย

“พี่ใหญ่” ดีกรีเดือนคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (ภาพจากโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา)
โดยนายธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย มีชื่อเล่นว่า “ใหญ่” จบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2554 และยังมีดีกรีเป็นถึงเดือนคณะอีกด้วย

“ใหญ่” เคยผ่านการฝึกหลักสูตรพยัคฆ์ไพร รุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมให้แก่นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และเคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคาและผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานเวียงโกศัย 

“พี่ใหญ่” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง (ภาพจากโรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา)
และเมื่อช่วงต้นปีในวันที่ 26 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา ก็มีข่าวที่ทำเอาสาวๆ ต้องเลี้ยวรถทัวร์กลับแทบไม่ทัน เพราะ “พี่ใหญ่” ไม่โสดแล้ว โดยเขาได้เข้าพิธีวิวาห์กับนางสาวยุพยง เนติธรรมกุล บุตรสาวของ นายธัญญา เนติธรรมกุล อดีตรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

แต่ก่อนเลี้ยวรถกลับ อยากชวนแวะชมความสวยงามของธรรมชาติที่ อช. น้ำพอง กันเสียก่อน เพราะที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

สายหมอกที่จุดชมวิวหินช้างสี (ภาพจาก อช. น้ำพอง)
โดย “อุทยานแห่งชาติน้ำพอง” แห่งนี้ เรียกตามต้นกำเนิดลำน้ำพองที่ไหลมารวมกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ (เดิมชื่ออ่างเก็บน้ำน้ำพอง) ซึ่งในอดีต อช.น้ำพอง มีชื่อเรียกว่า “น้ำพอง-ภูเม็ง” เพราะมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเทือกเขาภูเม็ง มีเนื้อที่ประมาณ 197 ตารางกิโลเมตร หรือ 123,125 ไร่

ซึ่ง “อุทยานแห่งชาติน้ำพอง” ถือเป็นอีกหนึ่งอุทยานฯ ทางภาคอีสานที่มีความโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา ภายใน อช. น้ำพอง มีจุดท่องเที่ยวเช็กอินที่น่าสนใจหลายจุด ซึ่งไฮไลต์ก็คือที่ “จุดชมวิวหินช้างสี” ที่ตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ นพ.4 (หินช้างสี) ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไป 25 กิโลเมตร

หินช้างสี ไฮไลต์คู่ อช. น้ำพอง
โดยในบริเวณนี้ จะมีกลุ่มก้อนหินทรายขนาดใหญ่หลายก้อน เป็นหินทรายสีขาวแทรกสลับด้วยชั้นหินกรวดมนสีน้ำตาลบางๆ ของหมวดหินพระวิหาร ซึ่งหินแต่ละก้อนจะมีรูปร่างแปลกตามากมายสุดแต่จินตนาการของแต่ละคนว่าจะมองเป็นรูปร่างอะไร

ซึ่งหินไฮไลต์ก็คือ “หินช้างสี” ที่เป็นที่มาของชื่อจุดชมวิวนี้ โดยจะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ ที่มีส่วนเว้าแล้วมีดินโคลนติดอยู่เนื่องจากบริเวณนี้เมื่ออดีตเคยมีช้างป่าอาศัยอยู่ และช้างเหล่านั้นก็เดินเอาตัวมาสีกับก้อนหินจนทำให้ดินโคลนติดให้เห็นเป็นร่องรอยมาจนทุกวันนี้

สะพานเชื่อมและหินหัวกะโหลก
แล้วก็ยังมีการสร้างสะพานไม้เชื่อมหินหลายก้อน ให้ได้เดินทอดยาวตามทางเดินชมธรรมชาติสวยๆ และชื่นชมกองหินแปลกตาให้ได้จินตนาการตามไปอย่างเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็น หินรูปงวงช้าง หินแมวน้ำ หินไอโรบอท หินหัวกะโหลก หินก้อนทั่ง ฯลฯ

หินกุมภลักษณ์
อีกทั้งยังมี “น้ำในโพรงหิน” ที่น้ำไม่เคยแห้งเลยให้ได้ชม และ “หินกุมภลักษณ์” ลักษณะของก้อนหินที่ดูเป็นหลุม เป็นร่องเป็นรูเล็กใหญ่ดูสวยงามแปลกตาดีเสียจริงกับสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมา

ผาหมื่น
ส่วนใครที่ชื่นชอบการชมวิวธรรมชาติ ภายใน อช. น้ำพอง แห่งนี้ก็มีจุดชมวิวอีกหลายแห่งให้ได้มาแวะชมทิวทัศน์รอบๆ กัน อย่างที่ ผาหมื่น, ผาพบรัก, ผาตะวันลับฟ้า, ผาเสียวโว้ย, ผาต้นไทร และผาผึ้ง

ภาพเขียนสีโบราณที่ผาฝ่ามือแดง (ภาพจาก อช. น้ำพอง)
และอีกหนึ่งผาห้ามพลาดก็คือ “ผาฝ่ามือแดง” ซึ่งที่ผานี้บริเวณหินจะมีภาพเขียนสีโบราณ อายุราว 3,000-4,000 ปี ลักษณะเป็นภาพเขียนสีแดง (คาดว่าจะเป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง) บนหินทราย ขีดเขียนเป็นสัญลักษณ์ รูปร่างต่างๆ สื่อถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่เคยอาศัยอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

น้ำตกห้วยเข (ภาพจาก อช. น้ำพอง)
นอกจากนั้นภายในอุทยานฯ ยังมี "น้ำตกห้วยเข" เป็นน้ำตกหนึ่งเดียวภายในอุทยานฯ มีจำนวน 5 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 แจ้งวังไฮ (นักท่องเที่ยวนิยมเล่นน้ำกันที่ชั้นนี้) ชั้นที่ 2 ชั้นโดด ชั้นที่ 3 วังปลาดุก ชั้นที่ 4 ลานพลาญไพร และชั้นที่ 5 ตาดโตนน้อย ซึ่งเป็นชั้นที่มีความสูงและสวยงามที่สุด

ลานนับดาว (ภาพจาก อช. น้ำพอง)
และหากใครอยากจะมากางเต็นท์ท่ามกลางธรรมชาติภายใน อช. น้ำพอง ทางอุทยานฯ ได้จัดจุดกางเต็นท์ออกเป็น 2 จุดด้วยกัน คือที่ “ลานนับดาว” จุดนี้จะเห็นวิวพระอาทิตย์ตกดินริมเขื่อนอุบลรัตน์

อีกจุดคือที่ “ลานกางเต็นท์หินช้างสี” จุดนี้จะเห็นวิวพระอาทิตย์ตกที่ผาตะวันลับฟ้า และในยามเช้าสามารถตื่นไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ผาพบรักได้อีกด้วย

ผาพบรัก (ภาพจาก อช. น้ำพอง)
นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามการเปิด-ปิด ของจุดท่องเที่ยวต่างๆ ได้ที่เพจอุทยานแห่งชาติน้ำพอง - Namphong National Park หรือโทร. 09-6739-7920

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น