นี่ไม่ใช่แสงจากเรือไดหมึก! สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพถ่าย “แสงออโรรา” ของจริง อลังการงดงามจากหมู่เกาะโลโฟเทน ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นภาพถ่ายฝีมือคนไทย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
เฟซบุ๊กของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ภาพและคำอธิบายเกี่ยวกับแสงออโรรา (แสงเหนือ หรือแสงใต้) ซึ่งเป็นภาพผลงานของคนไทยที่ถ่ายในนอร์เวย์ พร้อมระบุข้อมูลว่า
ภาพแสงออโรรา จากนอร์เวย์ เป็นภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2566 ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก โดยคุณเฉลิมเกียรติ สุวรรณปริญญา
“ออโรรา” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดบริเวณประเทศแถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ มีลักษณะเหมือนผ้าม่านเรืองแสงที่พลิ้วไหวไปมาบนท้องฟ้า เกิดจากอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าจากลมสุริยะของดวงอาทิตย์พุ่งมายังโลก อิทธิพลจากสนามแม่เหล็กโลกจะทำให้อนุภาคเหล่านี้เคลื่อนที่ไปตามเส้นสนามแม่เหล็ก และพุ่งเข้าสู่ขั้วแม่เหล็กทั้งสองด้านซึ่งอยู่บริเวณขั้วโลกทั้งสอง บางครั้งจะเรียกออโรราว่า “แสงเหนือ” หรือ “แสงใต้” ขึ้นอยู่กับว่าเกิดขึ้นที่ขั้วโลกใด
อนุภาคที่พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเหล่านี้จะชนเข้ากับแก๊สต่าง ๆ อะตอมและโมเลกุลของแก๊สจะดูดซับพลังงานเอาไว้แล้วปลดปล่อยกลับออกมาในรูปแสงสีสันต่าง ๆ ซึ่งสีสันของแสงออโรราที่สวยงามนี้ยังสามารถบอกถึงระดับความสูงและชนิดของอะตอมหรือโมเลกุลที่ถูกอนุภาคพุ่งชนได้ ออโรราสีฟ้า และสีม่วงอยู่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 120 กิโลเมตร เกิดจากโมเลกุลของไนโตรเจน ออโรราสีเขียว อยู่ที่ระดับความสูง 120 - 180 กิโลเมตร เกิดจากอะตอมของออกซิเจน และ ออโรราสีแดง อยู่ที่ระดับความสูงมากกว่า 190 กิโลเมตร เกิดจากอะตอมของออกซิเจนเช่นกัน และพบเห็นไม่ได้บ่อยนัก
อย่างไรก็ตาม ดวงอาทิตย์ไม่ได้ปะทุพลังงานออกมาอย่างรุนแรงตลอดเวลา จะมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานมากที่สุดและมีจุดบนดวงอาทิตย์จำนวนมาก เรียกว่า “Solar Maximum” และช่วงที่ดวงอาทิตย์เงียบสงบที่สุด เรียกว่า “Solar Minimum” หมุนเวียนเป็นคาบประมาณ 11-12 ปี เรียกว่า “วัฏจักรสุริยะ” ซึ่งแสงออโรราเกิดขึ้นโดยมีอนุภาคจากดวงอาทิตย์เป็นตัวแปรหลัก ดังนั้น แสงออโรราจะเกิดขึ้นมากและสวยงามที่สุดในช่วง Solar Maximum นั่นเอง (ใครที่วางแผนจะไปชมความสวยงามของแสงออโรราอาจจะต้องดูวัฏจักรสุริยะประกอบด้วย)
นอกจากบนโลกของเราแล้ว แสงออโรรายังสามารถเกิดบนดาวเคราะห์ดวงอื่นได้เช่นเดียวกัน เช่น ออโรราบนดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ที่จะเปล่งรังสียูวีที่สว่างเด่นบริเวณขั้วของดาว รวมถึงดาวอังคารด้วย แต่มีปริมาณที่น้อยมาก
ภาพนี้ผู้ถ่ายบันทึกไว้ ณ จุดชมวิว Hamnoy ประเทศนอร์เวย์ เป็นทิวทัศน์ที่ขึ้นชื่อสำหรับการถ่ายภาพที่หมู่เกาะ Lofoten ยิ่งประกอบกับเป็นช่วงที่เกิดแสงออโรราจำนวนมาก ทำให้เกิดภาพสุดอลังการเช่นนี้ เห็นแสงสีต่างๆ ที่งดงามเคลื่อนตัวเปลี่ยนรูปร่างตลอดเวลา นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ยากจะได้เห็น และเป็นโอกาสดีที่ได้บันทึกภาพไว้ ผู้ถ่ายบันทึกภาพนี้บนขาตั้งโดยจัดองค์ประกอบให้ Eliassen Rorbuer (บ้านชาวประมงสีแดงในภาพ) เป็นฉากหน้า และเว้นพื้นที่ฟ้าให้มากเพื่อให้เห็นแสงออโรราเด่นชัด จากนั้นตั้งเวลาถ่ายภาพ 3 วินาที แบบ Timelapse แล้วคัดเลือกภาพที่ดีที่สุด
รายละเอียดการถ่ายภาพ
วัน / เดือน / ปี ที่ถ่ายภาพ : วันที่ 23 มีนาคม 2566
เวลาที่ถ่ายภาพ : 22:50 น.
สถานที่ถ่ายภาพ : Eliassen rorbuer Hamnoy, Lofoten, Norway
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : Nikon Z9 lens 14-24 F2.8
ขนาดรูรับแสง (Aperture) : F 2.8
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ (Exposure Time / Shutter speed) : 3 s
ความยาวโฟกัส (Focal Length) : 14 mm
ความไวแสง (ISO) : 2000
ภาพ : เฉลิมเกียรติ สุวรรณปริญญา - ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2566 ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline