หลังจากเป็นประเด็นฮือฮาที่พูดถึงในโลกโซเชียล ของแสงสีเขียวที่ "เขาพะเนินทุ่ง" อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่มีลักษณะคล้ายแสงออโรรา โดยมียอดไลค์และแชร์ภาพแสงสีเขียวเป็นจำนวนมาก ด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ออกมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับแสงเหนือหรือแสงออโรราให้ทราบกันด้วย
โดยเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า
"แสงสีเขียวที่เขาพะเนินทุ่ง ไม่ใช่แสงออโรรา
ตามที่มีการเผยแพร่ภาพถ่ายแสงประหลาดสีเขียวที่เขาพะเนินทุ่ง และแชร์กันในโซเชียลมีเดียกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงบางคนตั้งข้อสงสัยว่าเป็นแสงออโรราใช่หรือไม่
ตอบได้อย่างชัดเจนเลยว่า "ไม่ใช่แสงออโรรา" อย่างแน่นอน
ซึ่งในกรณีนี้สามารถเปรียบเทียบกับภาพถ่ายออโรรา จากรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา จะเห็นความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน
- #แสงออโรราคืออะไร?
แสงออโรรา คือปรากฏการณ์ที่เกิดจากอนุภาคจากลมสุริยะ ปะทะเข้ากับชั้นบรรยากาศด้านบนของโลก ทำให้เปล่งเป็นแสงเรืองออกมา มักเกิดขึ้นที่ระดับความสูง 90-150 กม. จากพื้น
แต่โดยปกติแล้วนั้น สนามแม่เหล็กของโลกจะคอยเบี่ยงทิศทางของอนุภาคจากลมสุริยะออกไป ทำให้อนุภาคเหล่านี้เบี่ยงอ้อมโลกไปโดยไม่เกิดการปะทะ แต่ในบริเวณที่ใกล้ขั้วแม่เหล็กโลกนั้น จะเป็นบริเวณที่อนุภาคสามารถทะลุเข้ามายังชั้นบรรยากาศด้านบนของโลกได้ จึงทำให้แสงออโรรานั้นจะสังเกตเห็นได้มากกว่าในช่วงแถบละติจูดสูง หรือบริเวณใกล้กับขั้วแม่เหล็กของโลก
ในบางครั้ง อนุภาคมีประจุจำนวนมากจากพายุสุริยะที่แรงมากๆ จะทำให้สนามแม่เหล็กของโลกนั้นเบี่ยงออกไปมากขึ้น จึงอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ออโรราในบริเวณที่ละติจูดต่ำกว่าปกติที่สามารถพบได้ ในบางครั้งเคยมีรายงานที่สามารถพบได้ถึงบริเวณละติจูด 35 องศาเหนือ อย่างไรก็ตามประเทศไทยนั้นมีตำแหน่งละติจูดที่ไกลจากขั้วแม่เหล็กโลกเกินไป จึงไม่เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าสามารถพบแสงออโรราได้ในบริเวณประเทศไทย
- #แหล่งกำเนิดแสงที่เขาพะเนินทุ่ง มาจากบนพื้นอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่สิ่งที่ทำให้กรณีนี้ชัดเจนที่สุดว่าไม่ใช่แสงออโรรา สืบเนื่องมาจากว่าในภาพนี้ถ่ายติดดาวพื้นหลังมาด้วย
ซึ่งหากเราสังเกตดูภาพแสงออโรรา ในบริเวณที่แสงไม่ได้เข้มมาก เราจะเห็นได้ว่าแสงของดาวยังคงทะลุมาได้อยู่ เนื่องจากออโรรานั้นเป็นการส่องสว่างที่เกิดขึ้นบนชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งไม่ได้ทึบแสง จึงทำให้แสงดาวเบื้องหลังสามารถทะลุผ่านได้ แม้ว่าจะมีแสงสีเขียวมาแทรกด้วยก็ตาม
แต่ในกรณีของภาพถ่ายที่เขาพะเนินทุ่ง เห็นได้ชัดเจนว่าบริเวณที่มีแสงสีเขียวนั้น ไม่สามารถสังเกตเห็นแสงดาวได้ในกรณีใดทั้งสิ้น ราวกับว่ามีวัตถุทึบแสงมาบดบังแสงดาวอยู่
ที่เป็นเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นเพราะว่าในบริเวณนั้นเป็นบริเวณที่มีเมฆมาบดบังอยู่ จึงทำให้ไม่สามารถเห็นแสงดาวได้ หากเราพิจารณาว่าแสงออโรรานั้นเกิดขึ้นสูงกว่าเมฆไปนับร้อยกิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่แสงออโรราที่สูงกว่า จะสามารถสะท้อนด้านใต้ของเมฆได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมที่จะหมายความว่าต้นกำเนิดของแสงที่สะท้อนไปบนเมฆได้นั้น ย่อมที่จะต้องมีแหล่งกำเนิดอยู่บนพื้นโลก ซึ่งก็น่าจะเป็นแสงจากเรือไดหมึก หรือว่าแสงไฟบางอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นที่มีแสงสีเขียว
สาเหตุที่เรือไดหมึกนั้นมักจะใช้แสงสีเขียว เนื่องจากต้องการแหล่งกำเนิดแสงในการล่อให้หมึกมาติดกับ ซึ่งแสงสีเขียวนั้นอยู่ในช่วงความยาวคลื่นที่หมึกสามารถมองเห็นได้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศอื่นส่วนมากของโลกนั้นก็มีการใช้แสงล่อหมึกเช่นกัน แต่ส่วนมากนั้นมักจะใช้แต่แสงสีขาว เป็นไปได้ว่าสีเขียวนั้นอาจจะไม่ได้สามารถล่อหมึกได้ดีกว่าอย่างมีนัยะสำคัญ แต่เป็นสิ่งที่ชาวประมงไทยทำตามๆ กันมา ประเทศที่ใช้แสงสีเขียวนั้นจะพบได้มากเฉพาะในบริเวณอ่าวไทย มากเสียจนนักบินอวกาศจากสถานีอวกาศนานาชาติเคยรายงานถึงแสงสีเขียวปริศนาที่ส่องออกมาจากอ่าวไทย ซึ่งแท้จริงแล้วก็มาจากเรือไดหมึกเป็นจำนวนมากของชาวประมงนั่นเอง
เรียบเรียง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร."
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline