xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่พบ “จารึกประตูท่าแพ” เก่าแก่ ซ่อนอยู่ในประตูท่าแพปัจจุบัน หลังหายไปนานกว่า 40 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงใหม่พบ “จารึกประตูท่าแพ” โบราณ (ภาพจาก : เพจ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่)
สำนักศิลปากร เชียงใหม่ รายงานการค้นพบ “จารึกประตูท่าแพ” เก่าแก่หลังหายไปนานกว่า 40 ปี ว่าซ่อนอยู่ในโครงสร้างประตูท่าแพปัจจุบัน หลังมีกลุ่มนักวิชาการส่วนหนึ่งให้ข้อมูลว่า จารึกดังกล่าวอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่

หลังมีกลุ่มนักวิชาการส่วนหนึ่งออกมาให้ข้อมูลว่า จารึก “จารึกประตูท่าแพ” หรือ “จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ” เมืองเชียงใหม่ ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ล่าสุด (1 พ.ย.66) เพจ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้ออกมาเปิดเผยถึงจารึกประตูท่าแพเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับให้ข้อมูลของจารึกดังกล่าว โดยเพจสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ รายงานว่า

จารึกประตูท่าแพโบราณ (ภาพจาก : เพจ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่)
//📣พบแล้ว จารึกประตูท่าแพ ที่แท้ยังคงซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพปัจจุบัน📣//
.
🔎🔎 ตามที่สังคมให้ความสนใจตามหา "จารึกประตูท่าแพ" หรือ "จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ" เมืองเชียงใหม่ และได้มีกลุ่มนักวิชาการบางส่วนให้ข้อมูลว่า จารึกดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ เพื่อทำให้ประเด็นข้อสงสัยดังกล่าวกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จึงได้ประสานข้อมูลกับภาคส่วนต่าง ๆ จนทำให้เริ่มพบเบาะแสของจารึกประตูท่าแพ ซึ่งไม่มีผู้ใดพบเห็นเลย ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ
.
🗝️🗝️ เพื่อไขปริศนาดังกล่าว วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2566) สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ นำโดย นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน พร้อมด้วย ผู้แทนเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้แทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้แทนคณะวิจิตรศิลป์ ผู้แทนคลังข้อมูลจารึกล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการท้องถิ่น ร่วมกันเปิดประตูห้องที่ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เปิดมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี และเข้าไปทำการสำรวจภายในจนพบว่า “จารึกประตูท่าแพ” หรือ “จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ” ยังคงปักยืนตระหง่าน ซ่อนตัวอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพ จนกระทั่งปัจจุบัน นำมาซึ่งความปิติของทีมผู้ร่วมค้นหาทุกท่าน


จารึกประตูท่าแพโบราณ (ภาพจาก : เพจ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่)
📜📜 ทั้งนี้จารึกประตูท่าแพ เป็นหนึ่งในจารึกหลักสำคัญที่ฝังอยู่ร่วมกับประตูเมืองมาตั้งแต่อดีต ต่อมาราวช่วงปี พ.ศ. 2529 - 2530 จารึกหลักนี้ถูกเคลื่อนย้ายในช่วงระยะเวลาที่มีการปรับปรุงประตูท่าแพให้เป็น Landmark ของเมืองเชียงใหม่ หลังจากนั้น ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นจารึกประตูท่าแพตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี จนกระทั่งมีการตามหาจนพบในวันนี้
.
💡💡 สำหรับความสำคัญของจารึกประตูท่าแพ จากการศึกษาของ ศ. ประเสริฐ ณ นคร พบว่า เป็นจารึกอักษรธรรมล้านนา ตารางบรรจุตัวเลข และวงดวงชะตา ข้อความอักษรเมื่อถูกกลับให้ถูกทิศทางแล้ว ถอดความตามส่วนดังนี้ ข้างบนมีข้อความว่า "อินทขีล มังค (ล) โสตถิ" ข้างซ้ายมีข้อความว่า "อินทขีล สิทธิเชยย" ข้างขวามีข้อความว่า "อิน...." และข้างล่างมีข้อความว่า "อินทขีล โสตถิ มังคล" โดยคำสำคัญที่ปรากฏในจารึกหลักดังกล่าวว่า "อินทขีล" เป็นภาษาบาลี แปลว่า เสาเขื่อน เสาหลักเมือง หรือธรณีประตู จึงสรุปนัยสำคัญได้ว่า จารึกหลักนี้ มีความสำคัญในฐานะเสาประตูเมือง


อักษรโบราณบนจารึก (ภาพจาก : เพจ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่)
👀 นอกจากข้อความข้างต้นแล้ว จารึกประตูท่าแพยังมีความพิเศษตรงที่ เทคนิคการทำจารึก ซึ่ง แต่เดิมจารึกด้านที่ 1 ไม่มีผู้ใดสามารถอ่านได้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งในช่วง พ.ศ. 2529 อ.เรณู วิชาศิลป์ แห่งวิทยาลัยครูเชียงใหม่ (ขณะนั้น) ได้ค้นพบและเสนอว่าเป็นจารึกตัวหนังสือกลับ คล้ายดังเป็นเงาในกระจก จึงสามารถอ่านจารึกประตูท่าแพได้
.
🙏🙏 การค้นพบจารึกหลักสำคัญที่หายไปจากความทรงจำในวันนี้ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมสำคัญทุกท่าน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดำริห์กุล, พ่อครูศรีเลา เกษพรหม ศูนย์การเรียนรู้จารึกและเอกสารโบราณ, เทศบาลนครเชียงใหม่, คุณอรช บุญ-หลง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ. ดร. ปรัชญา คัมภิรานนท์และ ผศ.กรรณ เกตุเวต คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และ ดร.อภิรดี เตชะศิริวรรณ คลังข้อมูลจารึกล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


อักษรโบราณบนจารึก (ภาพจาก : เพจ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่)
########################

🎞️🎞️ เครดิตภาพสำเนาจารึกฯ : ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

อักษรโบราณบนจารึก (ภาพจาก : เพจ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่)

คณะผู้สำรวจจารึกประตูท่าแพโบราณ (ภาพจาก : เพจ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่)




กำลังโหลดความคิดเห็น