xs
xsm
sm
md
lg

วัดบรมพุทธาราม อยุธยา นิวาสสถานแห่งต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซุ้มประตูมองเห็นพระประธานประทับนั่งบนฐานชุกชีภายในบุษบกยอดปราสาท นับเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาอันเลิศล้ำของช่างหลวงยุคโบราณ ซึ่งสถานที่ที่สามารถไปสัมผัสความงามศิลปกรรมลักษณะดังกล่าวได้ คือ “วัดบรมพุทธาราม” พระนิเวศน์เดิมของต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งอาณาจักรอยุธยา


สะพานป่าดินสอ
“ป่าดินสอ” ศูนย์กลางการค้าเครื่องเขียน
ย้อนอดีตกลับไปกว่า 300 ปีที่แล้ว บริเวณย่านป่าดินสอแห่งกรุงศรีอยุธยา คงเปรียบได้กับศูนย์กลางการค้าขายชื่อดัง เพราะเป็นสถานที่ที่มีร้านขายดินสอศิลาอ่อนแก่ ดินสอขาวเหลือง และดินสอดำ อุปกรณ์เครื่องเขียนสินค้าจำเป็นของบรรดาพระภิกษุ สามเณร เจ้าพนักงานในหอแปลพระราชสาส์น อาลักษณ์ กวี รวมไปถึงกุลบุตร กุลธิดาที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนหนังสือในยุคนั้น จนเป็นที่มาของชื่อตลาดบ้านดินสอ

สะพานป่าดินสอ
นอกจากนี้ยังมีสะพานบ้านดินสอ หรือสะพานป่าดินสอ ซึ่งสันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นสะพานไม้เพื่อเชื่อมต่อกับแนวถนนที่แยกจากถนนมหารัถยา ทางทิศตะวันตกไปยังป่าดินสอ ป่าสมุด ป่าจาน และย่านบ้านแหทางฝั่งทิศตะวันออก แต่ต่อมาสะพานโบราณได้รับการบูรณะเปลี่ยนโครงสร้างด้วยอิฐให้แข็งแรง ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 23 กลายเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบที่นิยมในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปูพื้นเรียงอิฐเป็นก้างปลา ใต้สะพานก่ออิฐสันเหลื่อมตามโครงสร้างแบบ Corbel Arch เป็นซุ้มโค้งกลีบบัว ซึ่งยังคงสภาพที่สมบูรณ์อยู่จนถึงทุกวันนี้

นอกจากความสำคัญของการเป็นย่านค้าขายเครื่องเขียนแล้ว ถัดจากสะพานป่าดินสอไปไม่กี่เมตร เป็นที่ตั้งของ “วัดบรมพุทธาราม” สถานที่สำคัญอีกแห่งของอยุธยาในยุคนั้น เพราะเป็นนิวาสสถานเดิมของ “สมเด็จพระเพทราชา” ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายปกครองกรุงศรีอยุธยา

บริเวณวัดบรมพุทธาราม
ประวัติ “วัดบรมพุทธาราม"
พระเพทราชา ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งนับเป็นราชวงศ์ที่ 5 และเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ.2231-2246)

พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “วัดบรมพุทธาราม” บริเวณพระนิเวศน์เดิมละแวกบ้านหลวง ซึ่งอยู่ในเขตกำแพงพระนคร ริมคลองฉะไกรน้อยใกล้กับประตูไชย ใช้เวลาสร้างกว่า 3 ปี สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับการบูรณะสะพานป่าดินสอ ราวสมัยพุทธศตวรษที่ 23

บริเวณวัดบรมพุทธาราม
พระเพทราชา ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หมื่นจันทราทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ และพระวิหาร จึงเป็นที่มาของอีกชื่อ คือ “วัดกระเบื้องเคลือบ” เมื่อหลังคาพระอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว จึงทำให้วัดบรมพุทธารามมีความสวยงามโดดเด่นกว่าพระอารามอื่นในบริเวณเดียวกัน ที่ยังนิยมใช้กระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบเดิม


มีเอกสารกล่าวว่าครั้งหนึ่งวัดเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์มาก่อน นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอันล้ำค่า คือ บานประตูไม้ประดับมุกไฟ ซึ่งเป็นงานช่างหลวงในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างชุดบานประตูนี้ใน พ.ศ. 2295 ดังปรากฏคำจารึกบนบานประตู โดยปัจจุบัน บานประตูนำไปจัดแสดง ณ มุขหน้าพระที่นั่งพรหมเมศธาดา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

งานแกะสลักภายนอก
ความโดดเด่นของภูมิปัญญาช่างโบราณ
วัดบรมพุทธาราม มีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275 - 2301) จึงมีรูปแบบของศิลปะอยุธยาตอนปลาย ข้อมูลอ้างอิงจาก “สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา” ระบุว่า พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม มีขนาดใหญ่เป็นไปตามความนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายที่เน้นพระอุโบสถเป็นประธานของวัด ปรากฏร่องรอยใบเสมาหินชนวนล้อมรอบ มีการวางแผนผังหันทิศทางไว้ในแนวเหนือ-ใต้ ขนานแนวกับคลองประตูฉะไกรน้อย และถนนมหารัถยา

ด้านหน้าของพระอุโบสถมีพระสถูปทรงปรางค์ 2 องค์ ลักษณะเพรียวสูง ตั้งเรียงตามแนวแกนขึ้นมาทางทิศเหนือ แต่ไม่อาจตั้งพระสถูปคู่ในแนวขวางเช่นวัดอื่นๆ ตามระบบแผนผังทางสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลายได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่

พระสถูปทรงปรางค์
ผนังสกัดด้านหน้าพระอุโบสถ มีบันไดทางขึ้นซ้ายขวา มีประตูทางเข้า 3 ช่องทาง ประตูช่องกลางมีขนาดใหญ่เนื่องด้วยเป็นทางเสด็จของพระมหากษัตริย์ ในอดีตเคยประดับด้วยบานประตูไม้ประดับมุกไฟ ซุ้มด้านบนประตูทำเป็นยอดปราสาท โดยหากมองในระดับเดียวกันกับซุ้มประตูจะเห็นเหมือนพระประธานประทับนั่งบนฐานชุกชีภายในบุษบกยอดปราสาท ซึ่งเป็นภูมิปัญญาทางด้านสถาปัตยกรรมของงานช่างโบราณในการบังคับมุมมอง

พระพุทธรูปปางมารวิชัย บนฐานชุกชี
บริเวณกรอบหน้าบันบนประตูช่องซ้ายและขวามีร่องรอยงานประดับปูนปั้นอันงดงามเหลืออยู่ ส่วนพระวิหารมีขนาดย่อมกว่าพระอุโบสถ อยู่ติดกับแนวถนนมหารัถยา หรือถนนพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน

ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีการบูรณะซ่อมแซมและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเมื่อ พ.ศ. 2526 แท่นชุกชีก่อฐานสูงเพื่อให้เกิดความความโดดเด่นของพระประธานในฐานะศูนย์กลางจักรวาล ด้านหลังพระประธานไม่ก่อติดผนังเพื่อสามารถเดินประทักษิณได้โดยรอบ ผนังพระอุโบสถมีขนาดสูงใหญ่ก่ออิฐอย่างแข็งแรงเพื่อรองรับน้ำหนักเครื่องบนหลังคา บริเวณผนังปูนกรอบประตูด้านหลังพระประธานทั้งซ้ายและขวา และผนังปูนกรอบหน้าต่างด้านขวาของพระประธาน ยังมีร่องรอยของภาพจิตรกรรมฝาผนังเหลือให้ชมอยู่บางส่วนแต่ก็เลือนรางมาก


ข้อมูลเพิ่มเติม
วัดบรมพุทธาราม และสะพานป่าดินสอ เป็นโบราณสถานที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา

งานแกะสลักภายนอก
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น