ใครที่ไปเยือน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ คงไม่พลาดแวะไปสักการะ หรือชื่นชมความวิจิตร “พระพุทธไสยาสน์” ซึ่งนอกจากความงามอลังการขององค์พระแล้ว ฝ่าพระบาทก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีความหมายสำคัญแฝงไว้
ฝ่าพระบาทของพระพุทธไสยาสน์ วัดโพธิ์ ที่เป็นลวดลายฝังมุกอันงดงามนั้น เป็นความหมายว่าด้วย “มงคล 108 ประการ” ซึ่งข้อมูลจากส่วนการท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายของลวดลายมุกที่ประดับบนฝ่าพระบาทเอาไว้ โดยระบุว่า
“วิหารพระพุทธไสยาสน์” หรือ วิหารพระนอน ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่มีสีทองอร่าม มีความงดงามอย่างมากและจุดหนึ่งที่คนให้ความสนใจและสงสัย คือ ลวดลายบนฝ่าพระบาทว่าคืออะไรและมีความหมายอย่างไร?
ฝ่าพระบาทของพระพุทธไสยาสน์ ได้สลักลวดลายที่มีการประดับมุกไว้ทั้ง 2 ข้าง เป็นรูป “อัฎฐตดรสตมงคล” หรือ “มงคล 108 ประการ” ซึ่งเป็นคติที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกา โดยระบุว่าเป็นมงคลที่พราหมณ์ได้เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อทรงประสูติได้ 5 วัน แต่กลับไม่ปรากฏการสร้างพระพุทธบาทรูปลักษณะแบบนี้ในศิลปะลังกา หากแต่พบในศิลปะพุกามแทน
กล่าวกันว่า ลายมงคล 108 ประการ เป็นการพัฒนาแนวความคิดและสืบทอดมาจากรูปมงคลประกอบสัญลักษณ์มงคลต่าง ๆ ที่สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้
1. เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่น หม้อน้ำ ปลาคู่ สวัสดิกะ พวงมณี ดอกบัวเป็นต้น
2. เป็นเรื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิราช เช่น สัตตรัตนะ 7 ประการ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ บัลลังก์ เครื่องสูง เครื่องยศ เครื่องต้นต่าง ๆ และราชพาหนะ เป็นต้น
3. เป็นส่วนประกอบของภพภูมิในจักรวาลตามความเชื่อในไตรภูมิ เช่น ทวีปทั้ง 4 เขาพระสุเมรุ เขาสัตตบรภัณฑ์ ป่าหิมพานต์ เป็นต้น
ซึ่งตามลักษณะมงคลทั้งหมดนี้ มีความเชื่อว่าหากใครมากราบไหว้บริเวณปลายเท้าและอธิษฐานจิตขอพร จะมีความร่มเย็นเป็นสุข มีโชคมีลาภการงาน มีความสำเร็จ และสมหวังในเรื่องของความรักอีกด้วย
สำหรับพระพุทธไสยาสน์ หรือที่เรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ภายในเขตพุทธาวาส บริเวณมุมกำแพงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2375 ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า พระพุทธรูปปางสำคัญได้สร้างขึ้นในวัดนี้หลายปางแล้ว ขาดแต่ปางไสยาสน์เท่านั้น
จัดว่าเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ ขนาดองค์พระยาว 1 เส้น 3 วา (46 เมตร) สูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา 15 เมตร เฉพาะพระพักตร์จากไรพระศก (ไรผม) ถึงพระหนุ (คาง) ยาว 10 ศอก (5 เมตร) กว้าง 5 ศอก (2.5 เมตร) พระพุทธบาท ยาว 5 เมตร สูง 3 เมตร
พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือช่างในยุคทองแห่งศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ที่รุ่งโรจน์ที่สุด ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนอนองค์ใหญ่ที่มีความงดงามเป็นเอกในบรรดาพระนอนด้วยกันเป็นที่เคารพสักการะ เลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นับเป็นพระพุทธปฏิมากรสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่บ้านเมืองอย่างหนึ่ง ทั้งยังนับเนื่องอยู่ในคติการไหว้พระ 9 วัด ของพุทธศาสนิกชน โดยมีคติว่าจะได้ ร่มเย็นเป็นสุข
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline